ปอกระเจา
ปอกระเจา, ปอกระเจา หมายถึง, ปอกระเจา คือ, ปอกระเจา ความหมาย, ปอกระเจา คืออะไร
ปอกระเจา (jute) ที่ปลูกกันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ปอกระเจาฝักยาว (tossa jute) และปอกระเจาฝักกลม (white jute) ปอกระเจาทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชในวงศ์ทิเลียซีอี (Tiliaceae) สกุลคอร์โครุส (Corchorus) ปอกระเจาฝักยาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอร์โครุสออลิโทริอุส ลินเนียส (Corchous olitorius Linneaus) ส่วนปอกะเจาฝักกลมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอร์โครุส คัพซูลาริส ลินเนียส (Corchorus capsularis linnaeus)
แหล่งกำเนิดของปอกระเจานั้น สันนิษฐานว่าปอกระเจาฝักยาวมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา แล้วแพร่กระจายมายังทวีปเอเชียตอนใต้ ส่วนปอกระเจาฝักกลมมีแหล่งกำเนิดอยู่ในอินโด-พม่า (แถบประเทศที่อยู่ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
ปอกระเจามีอยู่แพร่หลายในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานการนำเข้า ที่พบส่วนมากเป็นปอกระเจาฝักกลม ขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณดินที่ชื้นแฉะใกล้ ๆ น้ำ หรือพบเห็นเป็นวัชพืชในสวนผลไม้ ต้นสูงประมาณ ๑-๒ เมตร นอกจากนี้ก็มีการปลูกริมฝั่งแม่น้ำในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก สาเหตุที่กสิกรนิยมปลูกปอกระเจาฝักกลมเพราะในช่วงสุดท้ายของการเจริญเติบโตสามารถทนน้ำท่วมได้สูงถึง ๘๐ เซนติเมตร ส่วนปอกระเจาฝักยาวเท่าที่สำรวจเป็นพันธุ์พื้นเมือง ไม่ได้ปลูกกันอย่างแพร่หลาย การใช้ประโยชน์จากปอกระเจาส่วนใหญ่จะนำมาลอกเป็นปอกลีบ ขูดผิวตากแห้ง ทำเป็นเชือกในลักษณะต่าง ๆ
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก จึงต้องใช้กระสอบในการขนส่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สั่งซื้อกระสอบจากต่างประเทศเข้ามาใช้เป็นเงิน ๙,๑๔๒,๘๒๘ บาท และในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นเงิน ๗,๗๗๕,๓๓๘บาท ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กรมเกษตรและการประมง จึงได้ทำการสำรวจแหล่งพื้นที่ปลูกปอกระเจา พบว่ามีการปลูกบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและตามริมแม่น้ำในท้องที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ทำการทดลองการฟอกปอให้ได้เส้นใยที่สถานีทดลอง ๔ (สุโขทัย) เพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเส้นใยปอฟอก
พ.ศ. ๒๔๘๓ กรมเกษตรและการประมงได้สำรวจพบว่า ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง ๒ ฝั่ง ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมาจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีกับสุโขทัยบางตอน เหมาะสมกับการปลูกปอกระเจา จึงส่งเสริมการปลูกปอในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระสอบ ปอที่ปลูกส่วนมากเป็นปอพันธุ์พื้นเมือง ในระยะนั้นยังไม่มีการนำพันธุ์ปอมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการปลูกปอกระเจากันมากในบริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอพยุหะคีรีกับอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ แต่ผลิตผลส่วนมากทำเป็นปอกลีบแห้งขายเพราะได้ราคาดีกว่าปอฟอกต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งโรงงานทอกระสอบป่านขึ้น จึงให้กรมเกษตร และกรมพาณิชย์ร่วมมือกันส่งเสริมการปลูกปอและรับซื้อปอ จึงได้มีการนำเมล็ดพันธุ์ปอจากต่างประเทศเข้ามาทดลองใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อศึกษาทดสอบพันธุ์และส่งเสริมให้ปลูกจนปัจจุบัน
ปอกระเจา, ปอกระเจา หมายถึง, ปอกระเจา คือ, ปอกระเจา ความหมาย, ปอกระเจา คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!