วิชาการช่างของไทยมักไม่ค่อยมีการจดบันทึกเป็นตำราเอาไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต การสอนมักเป็นไปตามความเหมาะสมระหว่างครูกับศิษย์แต่ละคน และแต่ละสกุลช่างที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป สังคมโบราณเป็นสังคมเกษตรกรรม ผู้คนพึ่งพาอาศัยกันเหมือนเครือญาติ การสืบทอดวิชาช่างส่วนใหญ่จึงเป็นแบบเครือญาติเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะครอบครัวช่างมักถ่ายทอดวิชาช่างให้บุตรหลาน หรือญาติพี่น้องในครอบครัวก่อน เช่น พ่อเป็นช่างไม้ลูกก็จะได้รับการสอนวิชาช่างไม้ ครอบครัวช่างเงิน ช่างทอง ช่างมุก ช่างถม ฯลฯ ก็มักสืบทอดวิชาช่างนั้นๆ ให้ลูกหลานของตนด้วยหากบุตรหลานไม่สนใจวิชาช่างดังกล่าวจึงจะถ่ายทอดวิชาให้แก่บุตรหลานของผู้ที่นำมาฝากตัวเป็นศิษย์ต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ช่างไทยยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันคือ ช่างทุกคนจะต้องมีครู จึงมีวิธีปฏิบัติในการฝากตัวเข้าเป็นศิษย์กับการยอมรับศิษย์ของครูช่าง พิธีกรรมอันเป็นเสมือนข้อตกลงตามภาระหน้าที่ระหว่างครูกับศิษย์เช่นนี้เรียกว่า "พิธีบูชาครู" หรือ "พิธีไหว้ครู" แม้ในการศึกษาเล่าเรียนวิชาอื่นๆ ในปัจจุบันนี้ก็ย่อมรับพิธีไหว้ครูเป็นพิธีบูชาครูเช่นกัน
ยังมีพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "พิธีครอบ" เป็นพิธียอมรับความเป็นช่างที่มีครู มีการอัญเชิญครูช่างที่ล่วงลับไปแล้วมาเป็นพยานว่าจะมีศิษย์เข้ามาเรียนวิชาช่าง ศิษย์ที่ได้รับการครอบจากครูช่างแล้วจะสามารถเรียนรู้และฝึกฝนการช่างต่อไปอย่างราบรื่นไม่มีอุปสรรคความเชื่อเช่นนี้ทำให้เกิดประเพณีไหว้ครูและพิธีครอบสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
โดยเหตุที่การสอนวิชาช่างและศิลปะต่างๆ ของไทยแต่โบราณ เป็นลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน ครูมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากศิษย์แต่กลับเป็นฝ่ายให้ที่อยู่อาศัยและอาหารการกินแก่ลูกศิษย์ และถือเสมือนลูกศิษย์เป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นจึงถ่ายทอดวิชาให้หมดสิ้นโดยไม่ปิดบัง แต่ถ้าเห็นว่าศิษย์คนใดไม่สนใจต่อการเรียน ครูช่างก็จะระงับการสอนชั้นสูงและเกร็ดลึกซึ้งต่างๆให้ จึงดูเหมือนว่าครูช่างนั้นๆหวงวิชา ครูช่างบางคนถึงกับสั่งให้นำตำราและเครื่องใช้ของตนเผาไฟพร้อมกับศพ เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดสืบทอดวิชาของตนต่อไป
โดยทั่วไปความรู้และประสบการณ์ทางการช่างที่ได้รับจากการอบรมสั่งสอนของครูช่างนั้นเป็นสรรพวิชาที่มีอยู่ในตัวครูช่าง มิได้บันทึกไว้เป็นตำราตายตัวแต่อย่างใด เป็นการสอนที่ไม่มีระบบแน่นอน การสอนทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ครูช่างเป็นผู้กำหนดเองทั้งสิ้นเพราะครูช่างก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากครูของตนแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงเกิดเป็นแบบแผนเฉพาะที่สืบต่อๆ กันมา จนเกิดเป็น "สกุลช่าง" การสอนในแต่ละสกุลช่างก็มิได้มีตำราจดบันทึกไว้ อาศัยการสอนกันด้วยปากต่อปากแบบมุขปาฐะ โดยยึดถือตามแบบแผนของสกุลช่างนั้นๆ สืบทอดกันมา
พระภิกษุที่เป็นช่างมีส่วนสำคัญในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์มาแต่ดั้งเดิม จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแยกการศึกษาออกจากทางวัด ถึงแม้สถานที่เรียนยังอยู่ในบริเวณวัดก็ตาม ทำให้วัดซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาศิลปวิชาการต่างๆลดความสำคัญลง พระช่างที่เคยมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดวิชาพลอยถูกลดความสำคัญลงไปด้วย
การเรียนวิชาการช่างของไทยได้พัฒนาเป็นอันมากควบคู่กันกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมการช่างบางชนิดไม่ได้รับความนิยม และในขณะเดียวกันได้มีผู้พิจารณาว่าการช่างของไทยอาจจะเสื่อมสูญไปถ้าไม่มีสถานสอนวิชาช่างรองรับดังนั้นจากความพยายามที่จะสร้างโรงเรียนช่างขึ้นด้วยการจัดตั้งเป็น สโมสรช่าง เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ โดยเริ่มจากการสร้างเป็นโรงงานเล็กๆสำหรับสอนวิชาช่างตั้งอยู่ข้างโรงเรียนราชบูรณะได้รับความนิยมมาก เริ่มมีการเก็บเงินค่าเล่าเรียนและจัดแบ่งวิชาช่างเป็นแผนกๆ ให้ผู้สมัครเลือกเรียนตามความถนัดของตน ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๓ กรมศึกษาธิการได้ตั้งให้ชาวต่างประเทศชื่อ นายอี อีลี มาเป็นหัวหน้าครูช่าง พร้อมกับปรับปรุงหลักสูตรเพิ่มเติมวิชาสามัญทั่วไปไว้ให้เรียนด้วย
เมื่อกิจการสอนขยายตัว และมีผู้มาสมัครเรียนถึง ๗๗ คน กระทรวงธรรมการครั้งนั้นจึงขอโอนกิจการของสโมสรช่างมาขึ้นกับกระทรวงทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูช่างหรือการฝีมือมาช่วยสอน ดังนั้นสโมสรช่างจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น "โรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ" และได้สร้างตึกเรียนเพื่ออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงเรียนและขอพระราชทานชื่อโรงเรียน จึงได้รับพระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า "โรงเรียนเพาะช่าง" เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โรงเรียนเพาะช่างจึงเป็นโรงเรียนวิชาช่างแห่งแรกของไทย นับเป็นความก้าวหน้าของการสืบทอดวิชาการช่าง จากการสอนของครูช่างแก่ลูกศิษย์มาเป็นระบบโรงเรียนโดยสมบูรณ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองพัฒนามากขึ้น ความต้องการช่างจึงทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงได้มีการรื้อฟื้นวิชาการช่างในกรมศิลปากรขึ้นมาจัดตั้งเป็นโรงเรียน ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ เรียกว่า"โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" โดยให้สังกัดอยู่ในกองประณีตศิลปกรรม ปีต่อมาจึงได้รับการยกฐานะเป็นกองโรงเรียนศิลปากร กรมศิลปากร กิจการของโรงเรียนนี้ได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนได้รับการยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ นับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของไทย ที่สอนทั้งวิชาศิลปะไทยและศิลปะสากลตามแบบตะวันตก
ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย
ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย หมายถึง, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย คือ, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย ความหมาย, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย คืออะไร
ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย หมายถึง, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย คือ, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย ความหมาย, ประเพณีการสืบทอดการช่างของไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!