ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก หมายถึง, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก คือ, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก ความหมาย, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก

          เนื่องจากจารึกเป็นเอกสารโบราณที่บันทึกลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยอักษรและภาษาโบราณที่พ้นสมัยไปแล้ว ความยากในเรื่องรูปแบบอักษรและภาษาเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว  การถ่ายทอด การอ่านแปลจารึกให้เป็นอักษรภาษาไทยปัจจุบัน จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากจารึกอย่างกว้างขวาง  การอ่านจารึกจึงมีวิธีดำเนินการเริ่มต้นด้วยการถอดอักษรหรือการปริวรรตอักษร  การอ่านตีความ  การแปลและการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจารึกมีรายละเอียด ดังนี้
          ๑. การถ่ายถอดอักษรหรือการปริวรรตอักษร คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบอักษรจากที่ปรากฏในจารึกให้เป็นอักษรไทยปัจจุบันเนื่องจากรูปอักษรที่ปรากฏในจารึกส่วนใหญ่อยู่ในสภาพลบเลือน  ตัวจารึกชำรุด แตกหักรูปอักษรไม่สมบูรณ์  สูญหายไปบ้าง  มีรอยขูดขีดหรือกะเทาะในระหว่างตัวอักษรบ้าง ความชำรุดสูญเสียดังกล่าว ทำให้การถ่ายถอดอักษรดำเนินไปได้ยาก  การถ่ายถอดอักษรมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ได้ความหมายที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงที่ปรากฏในจารึกนั้น ๆ เพื่อให้ทราบถึงจุดประสงค์  หรือเจตนาของผู้สร้างจารึกว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะประกาศหรือบอกเล่าเรื่องราวใดไว้   ดังนั้นการปฏิบัติงานถ่ายทอดอักษรจึงต้องมีหลักการอันเป็นแบบฉบับ  วิธีการหรือหลักเกณฑ์ที่ใช้กันเป็นสากลมีดังนี้
          ๑.๑ การถ่ายถอดอักษรชนิดรักษารูปแบบอักขรวิธีในจารึก  การถ่ายถอดอักษรโดยวิธีรักษารูปแบบอักขรวิธีทื่ปรากฏอยู่ในจารึกนั้นต้องคำนึงถึงความถูกต้องของรูปอักษรและภาษาเป็นสำคัญ มีวิธีการถ่ายถอดดังนี้
                 ๑.๑.๑  ต้องถ่ายถอดอักษรแต่ละตัวให้ตรงกับอักษรที่ปรากฏในจารึกแบบตัวต่อตัวคำต่อคำ  คือในจารึกใช้พยัญชนะ  สระ เครื่องหมายอะไร  ต้องถอดออกเป็นอักษรไทยปัจจุบันให้เป็นรูปพยัญชนะ  สระนั้น ๆ ให้ตรงกัน และใส่เครื่องหมายตามรูปแบบที่ปรากฏในจารึกให้ตรงตามตำแหน่งเดิมทุกประการ  จะเปลี่ยนไปเป็นพยัญชนะ   สระ  หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาอักขรวิธีของภาษาไว้
                 การถ่ายถอดอักษรด้วยวิธีดังกล่าวนี้ห้ามเพิ่มเติม  พยัญชนะ  สระ  เครื่องหมายใด ๆถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าพยัญชนะ  สระ  และเครื่องหมายหรือคำศัพท์ในจารึกนั้น  สะกดผิดหรือใช้ผิด ต้องถ่ายถอดไปตามที่ผิดนั้นและถ้าจะแก้ไขให้ถูกต้องควรจะทำเป็นเชิงอรรถหรืออธิบายบอกไว้ให้ชัดเจนในที่อื่น เช่น ในส่วนที่เป็นเชิงอรรถ เป็นต้น
                 ๑.๑.๒ ในกรณีที่รูปอักษรลบเลือนเห็นไม่ชัดเจนหรือมีรอยแตกหักเห็นเพียงครึ่งตัวหรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวอักษร   แต่สามารถพิจารณา หรือสันนิษฐานเพิ่มเติมได้โดย
                    ๑.๑.๒.๑  ต้องใส่เครื่องหมายวงเล็บเล็กกำกับอักษรตัวที่ไม่ชัดนั้นไว้ดังนี้ (...)
                    ๑.๑.๒.๒  ถ้าข้อความใดอ่านไม่ได้เลยจะเป็นเพราะอักษรลบเลือน  หรือแตกหักออกไปก็ตาม  แต่ยังสามารถสันนิษฐานได้เพราะมีคำอื่นประกอบให้อ่านได้ความหมายต้องใส่ข้อความหรือคำนั้นไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [...]
                    ๑.๑.๒.๓
  สำหรับอักษรที่อ่านไม่ได้เลยให้ใส่เครื่องหมายจุดไว้ดังนี้...
          ๑.๒  การถ่ายถอดเป็นอักษรไทยปัจจุบันการถ่ายทอดวิธีนี้นิยมใช้กับจารึกที่บันทึกลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยอักษรไทย ภาษาไทย ซึ่งมีอายุระหว่าง ๓๐๐ ปีลงมา  ทั้งนี้เพราะลักษณะรูปแบบอักษรมีส่วนใกล้เคียงกับรูปแบบอักษรในปัจจุบันมาก  เว้นแต่อักขรวิธีซึ่งแตกต่างไปจากอักขรวิธีในปัจจุบัน  ดังนั้นการถ่ายถอดวิธีนี้จึงถ่ายถอดเป็นอักษรไทยปัจจุบัน โดยใช้อักขรวิธีและเครื่องหมายการสะกดคำในภาษาตามแบบที่ปรากฏในจารึกทุกประการ
          ๑.๓ การถ่ายถอดอักษรด้วยวิธีผสมหากจารึกนั้นบันทึกเป็นอักษรและภาษาอื่นที่มิใช่อักษรไทย  ภาษาไทย  การถ่ายถอดอักษรจำเป็นต้องมีขั้นตอนมากขึ้น คือ
                 ๑.๓.๑ ในเบื้องแรกจะต้องถ่ายถอดอักษรชนิดรักษารูปแบบอักขรวิธีในจารึกตามหลักการในข้อ
                 ๑.๓.๒ ลำดับต่อไปจึงถ่ายถอดเป็นอักษรปัจจุบันของรูปแบบแห่งภาษานั้น ๆโดยเฉพาะ  ในกรณีที่อักขรวิธีภาษานั้น ๆ ไม่สามารถใช้กับอักษรภาษาไทยได้  จะต้องใช้อักษรของภาษานั้น ๆ เขียนแทน
                ๑.๓..๓ ขั้นต่อไปจึงจะถอดเป็นคำอ่าน โดยใช้อักษรไทยสะกดตามเสียงในภาษานั้นกำกับไว้เป็นขั้นตอนสุดท้าย  เพื่อให้สามารถอ่านออกเสียงคำศัพท์ในภาษานั้น ๆ ได้ถูกต้อง
          ๒. การอ่านตีความ  ในจารึกเป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง เพราะจารึกส่วนใหญ่จะบอกเรื่องเฉพาะตัวของบุคคล ไม่ใช่เหตุการณ์  ฉะนั้นการจะวิเคราะห์จารึกเพื่อประโยชน์ในวิชาการประวัติศาสตร์  ผู้วิจารณ์ควรวิเคราะห์เฉพาะเรื่องที่ปรากฏในจารึกเท่านั้น  อย่าสมมติเรื่องหรือเหตุการณ์นอกเหนือจากที่ปรากฏในจารึก  สาเหตุที่อาจทำให้การอ่านตีความผิดพลาดมีดังนี้
          ๒.๑ การศึกษาเนื้อหาของเรื่องในจารึกแต่ละยุคสมัยย่อมมีข้อจำกัดอยู่ในตัวจารึกเนื่องจากจารึกแต่ละหลักมีอายุมากน้อยต่างกันตั้งแต่ ๑๐๐ ปีขึ้นไป จนถึงกว่า ๑,๓๐๐ ปี ดังนั้นภาษาที่ใช้ในจารึกจึงแตกต่างไปจากปัจจุบันมากความรู้ของคนปัจจุบันย่อมจะต้องมีความคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมบ้าง  สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ไม่อาจเข้าใจความหมายอันแท้จริงของข้อความในจารึกได้ทั้งหมด  การอ่านแปลจารึกจึงต้องอาศัยการตีความประกอบไปด้วย จึงเป็นผลให้เกิดความผิดพลาดได้
          ๒.๒  สภาพของจารึกทั่วไปชำรุดแตกหัก อักษรลบเลือน ข้อความในจารึกบางส่วนขาดหายไป  ทำให้เนื้อหาของเรื่องในจารึกขาดความสมบูรณ์  ส่วนที่อักษรหายไปหรือลบเลือนไปนั้น   ผู้อ่านจารึกใช้ความพยายามเพื่อให้ทราบความหมาย  โดยอาจจะอาศัยการเปรียบเทียบกับจารึกหลักอื่น หรือตีความตามความรู้ความเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เป็นผลให้เนื้อหาของเรื่องในจารึกเกิดความผิดพลาดได้
          ๒.๓ จารึกมีเนื้อหาของเรื่องจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะบุคคล หรือเหตุการณ์ที่บุคคลหรือกลุ่มคนกระทำขึ้น ไม่ครอบคลุมหลักฐานข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์  ดังนั้นผู้ศึกษาจารึกจึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ความจารึกประกอบด้วย จึงเป็นเหตุให้การตีความเนื้อหาจารึกผิดพลาดได้
          ๒.๔ จารึกแต่ละชิ้นพบในสถานที่และเวลาต่างกัน เป็นเหตุให้ประวัติหลักฐานการพบจารึกคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  และยังมีการเคลื่อนย้ายจารึกจากที่อยู่เดิมซึ่งเป็นที่อันตรายจากภัยธรรมชาติบ้าง  จากโจรภัยบ้าง เพื่อนำมาเก็บรักษาในที่ปลอดภัย   การเคลื่อนย้ายดังกล่าวไม่มีการบันทึกหลักฐานไว้  นานวันก็จำไม่ได้ว่าเดิมจารึกอยู่ที่ใด เป็นเหตุให้เกิดความสับสนโดยเฉพาะชื่อเมือง  ชื่อสถานที่ที่ปรากฏในจารึก  ทำให้หลักฐานของแหล่งที่อยู่ผิดไปจากเดิมซึ่งเป็นเหตุให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้
         อย่างไรก็ดี หลักฐานที่ได้จากจารึกก็ยังจัดเป็นหลักฐานเอกสารโบราณที่ถูกต้องสมบูรณ์ในตัวเอง  บ่งบอกนามบุคคล  นามพระเจ้าแผ่นดิน  นามสถานที่   และศักราชที่แน่นอนช่วยแก้ไขพงศาวดารหรือตำนานที่ศักราชคลาดเคลื่อนได้อย่างดีที่สุด  ในทางโบราณคดีและศิลปะ  จารึกจะบอกเรื่องราวของโบราณสถานและภูมิประเทศ  อีกทั้งยังเป็นหลักฐานยืนยันอายุสมัยของศิลปะโบราณวัตถุและโบราณสถาน  ที่มีส่วนสัมพันธ์ต่อกันด้วย และที่สำคัญจารึกจะเป็นส่วนช่วยเสริมหรือเน้นให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ชัดเจนยิ่งขึ้น
          ๓. การแปลเอกสารจารึก  จารึกส่วนใหญ่ใช้รูปอักษรและภาษาในการบันทึกเรื่องราวหรือข้อความตามแบบอย่างความนิยมในยุคสมัยแห่งอดีต ซึ่งเป็นอักษรและภาษาที่พ้นสมัยไปแล้ว คำศัพท์ต่างๆ ที่ปรากฏในจารึกส่วนใหญ่เป็นโบราณิกศัพท์ ดังนั้นการแปลภาษาไทยโบราณเป็นภาษาไทยปัจจุบันนั้น จะต้องศึกษาคำศัพท์จากวรรณกรรมโบราณ   วรรณกรรมท้องถิ่น  รวมทั้งภาษาท้องถิ่นที่ยังปรากฏใช้อยู่เพื่อให้สามารถรู้ความหมายของศัพท์โบราณได้ถูกต้อง และแปลให้ตรงตามคำศัพท์ทุกคำศัพท์ทุกประโยคตรงตามหลักไวยากรณ์ของภาษาและยุคสมัยที่ใช้อยู่ในจารึกนั้นๆ  วิธีการแปลควรจะแปลข้อความในลักษณะประโยคต่อประโยค หรือบรรทัดต่อบรรทัด หากคำใดประโยคใด มีปัญหาในด้านภาษาก็ดี อักขร-วิธีก็ดี ไวยากรณ์ก็ดี ต้องทำคำอธิบายชี้แจงไว้ให้ชัดเจน  เช่น อธิบายไว้ที่เชิงอรรถ เป็นต้นส่วนการแปลโดยวิธีสรุปเอาแต่ใจความนั้น ควรกระทำในกรณีที่การแปลด้วยวิธีแรกไม่สะดวกเนื่องจากอักษรข้อความในจารึกขาดหายลบเลือนอ่านไม่ได้เป็นช่วงๆ   การเรียงประโยคตามหลักไวยากรณ์ของภาษาไม่ครบองค์ เป็นต้น  การแปลโดยวิธีสรุปเอาแต่ใจความนี้  ควรจะทำคำอธิบายข้อความ คำศัพท์ และอื่นๆ ที่จำเป็นประกอบไว้ให้ชัดเจนด้วย
          จารึกที่อ่านแปลแล้วนี้    มิได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้ทราบเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในจารึกเท่านั้น  สิ่งที่พึงได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากคำแปลที่กล่าวแล้วนั้นคือการรวบรวม  และให้อรรถาธิบายพร้อมทั้งบันทึกเป็นหลักฐาน  คำศัพท์ต่างๆ  ซึ่งจัดเป็นโบราณิศัพท์ และศัพท์อื่นๆ ที่พ้นสมัยไปแล้วเพื่อให้ทราบว่าคำศัพท์นั้นๆ มีอยู่ในจารึกใดด้านใด  บรรทัดใด  สมัยใด หรือศัพท์ที่บันทึกมีเมื่อใด  รูปพยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์  วางอยู่ในรูปอย่างไร  ตำแหน่งอะไรของประโยคศัพท์คำเดียวกันนี้ในยุคต่อมาได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่ง  รูปแบบการวางพยัญชนะอย่างไรบ้างความหมายเปลี่ยนไปหรือไม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องจัดทำเป็นประวัติของอักษรโบราณแบบต่างๆ ทำดรรชนีช่วยค้น  หลักฐานดังกล่าวเป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้เป็นปัจจัยลักษณะของรูปแบบอักษรในจารึก  ใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุและเปรียบเทียบสมัชชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอีกด้วย
          ๔. การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจารึกข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากจารึกนอกเหนือจากเรื่องราวที่ปรากฏในจารึกนั้นแล้ว   ทุกส่วนที่เป็นองค์ประกอบของจารึกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาประวัติของกลุ่มชนในสังคมผู้สร้างจารึกนั้นๆ  และยังเป็นปัจจัยในการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่  ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งความเชื่อของกลุ่มชนในอดีตเหล่านั้นอีกด้วย
          ในปัจจุบันการศึกษาจารึกได้พัฒนารูปแบบการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น ได้มีการนำหลักฐานทางด้านโบราณคดีและศิลปะมาวิเคราะห์ประกอบพร้อมกันไปกับหลักฐานที่ปรากฏในจารึก
          แนวทางการศึกษาจารึกเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นได้เริ่มขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยทางกองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาจารึกพ่อขุนรามคำแหงขึ้น ผลการประชุมสัมมนาครั้งนั้นทำให้ได้แนวทางการศึกษาวิชาจารึกอย่างกว้างขวาง และจากการวิเคราะห์กลุ่มจารึกซึ่งพบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้สรุปเรื่องราวจากการวิเคราะห์จารึกได้ดังนี้
            ๔.๑ บริเวณภาคใต้ เป็นบ้านเมืองที่มีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติพำนักอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคมผสม  มีอารยธรรมหลายรูปแบบ จุดยืนของสังคมจึงต้องอาศัยศาสนาเป็นสำคัญซึ่งปะปนกันอยู่ทั้งพระพุทธศาสนา และลัทธิในศาสนาพราหมณ์  เนื้อหาของเรื่องในจารึกจึงเน้นหนักไปทางหลักธรรมคำสั่งสอนอันเป็นหัวใจของศาสนา  ดังตัวอย่างข้อความในจารึกหุบเขาช่องคอย  จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหลักฐานที่บอกให้ทราบว่ากลุ่มชนผู้สร้างจารึกเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ใช้ภาษาสันสกฤต ได้เดินทางมาพำนักในบริเวณนั้นเป็นการชั่วคราว  ไม่ใช่กลุ่มชนที่อยู่ประจำถิ่น ใช้สถานที่บริเวณที่พบจารึกหุบเขาช่องคอยเป็นศิวสถาน เพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามจารีตของตนพร้อมทั้งอบรมสั่งสอนให้ผู้อยู่ในสันนิบาตนั้นสำนึกในความเป็นคนต่างถิ่น พลัดบ้านเมืองมาสมควรประพฤติตนเป็นคนดี จะได้พำนักอาศัยอย่างสุขสงบ ดังปรากฏความในจารึก กล่าวถึงการเคารพบูชาพระศิวะ   พระสวามีแห่งนางวิทยาเทวี  พระผู้เป็นเจ้าอันสูงสุด  บุคคลใดสรรเสริญองค์พระศิวะอย่างเทิดทูนบูชา บุคคลนั้นจะได้รับพรจากพระองค์ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ย่อมได้รับการต้อนรับด้วยดีทุกสถาน
          ๔.๒  บริเวณภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชา  เป็นบ้านเมืองที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง  ประชาชนใช้ภาษาเขมร   ขณะเดียวกันก็ได้พบจารึกใช้ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีปะปนอยู่ด้วย  เนื้อหาในจารึกจะมุ่งแสดงพละกำลัง  อำนาจ และความยิ่งใหญ่  แม้จะเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับศาสนา เช่น ข้อความในจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า จิตรเสน ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าศรีวีรวรมัน  เป็นพระนัดดาของพระเจ้าศรีสารวเคามะ แม้โดยศักดิ์จะเป็นพระอนุชา แต่ก็เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าศรีภววรมัน ผู้มีพระนามปรากฏในด้านคุณธรรมแต่พระเยาว์ พระเจ้าจิตรเสนได้รับพระนามอันเกิดจากการอภิเษกว่า  พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน(หลังจาก)  ชนะประเทศ  (กัมพูชา)  นี้ทั้งหมดแล้วได้สร้างพระศิวลึงค์ อันเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ไว้บนภูเขานี้
          ๔.๓  บริเวณภาคกลาง  เป็นบ้านเมืองที่มีความสงบสุข ได้พบจารึกภาษาสันสกฤต  ภาษาบาลี   ภาษามอญ และภาษาเขมรปะปนกันอยู่ทั่วไป  ความในจารึกส่วนใหญ่เป็นเรื่องในคัมภีร์พระพุทธศาสนา  เช่น  จารึกธรรมจักร  และจารึกเยธมฺมาฯ  เป็นต้น
          ๔.๔  บริเวณภาคเหนือ  หลักฐานทางเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏครั้งแรกในกลุ่มจารึกมอญโบราณ  ภาษามอญโบราณพุทธศตวรรษที่ ๑๗  พบที่จังหวัดลำพูน  และเชียงใหม่ ตามหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า มอญในอาณาจักรหริภุญชัยได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้น นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท
          จารึกในระหว่างพุทธศตวรรษที่  ๑๔-๑๘ ส่วนใหญ่จะเป็นจารึกอักษรขอม   ภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต ได้แก่ จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง  จารึกปราสาทเขาพระวิหาร  และ จารึกปราสาทหินพิมาย เป็นต้น เนื้อเรื่องในจารึกเหล่านั้นแม้จะกล่าวถึงกิจกรรมในศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่   แต่ถ้าวิเคราะห์โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะเห็นได้ว่า    ความสำคัญของการสร้างศาสนสถานเหล่านั้น    เน้นการส่งเสริมและสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มพูนความเจริญให้แก่ท้องถิ่น คือ เมื่อสร้างศาสนสถานสำหรับชุมชนเคารพบูชาแล้ว  ก็จะสร้างบ่อน้ำ  ห้องสมุด และสถานพยาบาลไว้ร่วมกับศาสนสถานนั้น  โดยประสงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์
          การศึกษาข้อมูลจารึกพึงตั้งข้อสังเกตว่าหลักฐานจารึกสามารถสร้างขึ้นใหม่เลียนแบบหรือจำลองของเก่าได้   ตัวอย่างเช่น   จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก  จังหวัดเลย เป็นจารึกที่สร้างขึ้นเพื่อประกาศความสัมพันธ์ของอาณาจักรศรีอยุธยากับอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต ซึ่งได้กระทำสัตยาธิษฐานต่อกัน เมื่อพุทธศักราช  ๒๑๐๓ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ จารึกได้ถูกเคลื่อนย้ายไปประเทศลาว โดยจำลองจารึกขึ้นใหม่ประดิษฐานแทนจารึกของเดิม ตัวอย่างนี้เป็นอุทาหรณ์ให้นักวิชาการทั้งหลาย  ควรให้ความสำคัญในการพิจารณาว่าจารึกนั้นๆเป็นเอกสารที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใด  ศักราชที่ปรากฏในจารึกเป็นการอ้างถึงเรื่องในอดีตหรือเหตุการณ์ปัจจุบันขณะสร้างจารึก  หรือเป็นการคัดลอกของเดิมมาทั้งหมด  โดยไม่บอกวันเดือนปีที่คัดเลือกไว้ให้ชัดเจน  ซึ่งบางครั้งอาจจะห่างกันนับร้อยปีขึ้นไปก็ได้  สิ่งที่จะใช้เป็นข้อตัดสินอายุสมัยของจารึกได้นั้นต้องประกอบด้วยหลักฐานต่างๆ นอกเหนือจากศักราชที่ปรากฏในจารึกโดยวิเคราะห์จากเนื้อเรื่องที่ปรากฏในจารึกนั้น  และจารึกอื่นที่ร่วมสมัย  รวมทั้งลักษณะของรูปแบบอักษร  ภาษาและอักขรวิธีที่ใช้จารึก ซึ่งต้องอาศัยหลักวิชาอักขรวิทยาเป็นแนวทางประกอบด้วย
         จารึกที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  อยู่ในความดูแลของหอพระสมุดสำหรับพระนครตลอดมาจนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ พระบาท-สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจารึกและหนังสือตัวเขียนจากตัววัตถุมาไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล  ซึ่งเป็นที่ทำการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  พระราชทานนามว่าหอพระสมุดวชิรญาณ ส่วนตึกถาวรวัตถุพระราชทานนามว่า หอสมุดวชิราวุธ  ต่อมาในปพุทธศักราช  ๒๔๗๖  ทางราชการได้กำหนดให้หอสมุดฯ  เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากร  จารึกจึงอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
          เนื่องจากจารึกเป็นวัตถุที่มีอายุนาน จัดเป็นโบราณวัตถุอันเป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์  หรือโบราณคดี  ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในพุทธศักราช ๒๕๐๔  หมวด  มาตรา  ๒๖  กำหนดว่า
           "โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน  และอยู่ในความดูแลรักษาของกรมศิลปากร นั้น จะเก็บรักษาไว้ ณ  สถานที่อื่นใดนอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมิได้  แต่ในกรณีที่ไม่อาจหรือไม่สมควรจะนำมาเก็บรักษา
ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว  จะเก็บไว้  ณ สถานที่อื่นก็ได้"  ดังนั้นจารึกจึงต้องจัดแสดงหรือเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติข้างต้น  แต่เนื่องจากหอสมุดฯ  เคยดูแลรักษาจารึกมาก่อน  รวมทั้งมีบุคลากรปฏิบัติงานอ่านแปลจารึกอยู่แล้ว หน้าที่เกี่ยวกับจารึก  เช่น การศึกษาวิเคราะห์ อ่าน แปล และเก็บรักษาจารึกที่อยู่ระหว่างการอ่านแปล จึงยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของหอสมุดแห่งชาติสืบมาจนถึงปัจจุบัน

                                 ดูเพิ่มเติมจากเรื่อง การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ เล่มเดียวกัน

การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก หมายถึง, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก คือ, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก ความหมาย, การอ่านแปลและศึกษาข้อมูลจารึก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu