กระดูกหัก (fracture) หมายความถึงกระดูกแยกออกจากกัน ก่อให้เกิดความเจ็บปวด บวม เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวผิดปกติ เนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกรถชน หกล้ม ตกจากที่สูง หรือกระดูกเป็นโรคไม่แข็งแรงอยู่แล้ว กระดูกเปราะเมื่อถูกแรงกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อยก็อาจหักได้
สมอง ไขสันหลัง และส่วนต้นๆ ของเส้นประสาทใหญ่ๆ อยู่ภายในกะโหลกศีรษะและกระดูกสันหลัง เมื่อได้รับบาดเจ็บอย่างหนึ่งอย่างใดต่อกะโหลกศีรษะ และกระดูกสันหลัง ย่อมกระทบกระเทือนต่อสมอง และไขสันหลังไปด้วย
อาการ
เมื่อกระดูกสันหลังหัก หรือแม้แต่ข้อต่อกระดูกสันหลังเคลื่อน ไขสันหลังจะถูกกดหรือถูกตัดขาด เป็นผลทำให้เกิดอัมพาตและหมดความรู้สึกของเส้นประสาทต่างๆ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับไขสันหลังที่ได้รับอันตรายลงมา ถ้ากระดูกสันหลังหักที่คอ แขนและขาของผู้ป่วยจะเป็นอัมพาตและหมดความรู้สึก ชาไปทั้งตัว ยกเว้นศีรษะเท่านั้น ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจ เพราะกล้ามเนื้อทรวงอกและกะบังลมหยุดทำงานเพราะเป็นอัมพาต ถ้ากระดูกสันหลังหักที่หลัง ขาทั้งสองข้างของผู้ป่วยจะชาและเป็นอัมพาต
การช่วยเหลือผู้ป่วยกระดูกสันหลังหักที่คอ
ให้ผู้ป่วยนอนรอบโดยมีศีรษะอยู่นิ่งและจัดให้เป็นแนวตรงกับลำตัวโดยใช้หมอนหรือของแข็งๆ ขนาบศีรษะข้างหูทั้งสองด้าน ถ้าผู้ป่วยประสบเหตุขณะขับรถยนต์อยู่ ก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังส่วนคอหักออกจากที่นั่งในรถ ผู้ช่วยเหลือควรให้ผู้ป่วยนั่งพิงแผ่นไม้กระดานที่มีระดับสูงจากสะโพกขึ้นไปจนเหนือศีรษะ ใช้เชือก หรือผ้ามัดศีรษะและลำตัวของผู้ป่วยให้ติดแน่นกับแผ่นไม้ไม่ให้ขยับเขยื้อนเป็นเปลาะๆ แล้วจึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกมา
ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ผู้ช่วยเหลือควรรีบผายปอดด้วยวิธีเป่าลมเข้าปาก หากต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เช่น นำส่งโรงพยาบาลควรหาผู้ช่วยเหลืออย่างน้อย ๔ คน ให้ผู้ช่วยเหลือยกผู้ป่วยขึ้นจากพื้นพร้อมๆ กัน ให้ศีรษะและลำตัวเป็นแนวตรง ไม่ให้คองอเป็นอันขาด แล้วจึงวางผู้ป่วยลงบนแผ่นกระดาน หรือเปลพยาบาลต่อไป
การช่วยเหลือผู้ป่วยกระดูกสันหลังหักที่หลัง
ให้ผู้ป่วยนอนราบอยู่บนพื้น ไม่ให้เคลื่อนไหว หาผู้ช่วยเหลือ ๓-๔ คน และแผ่นกระดานขนาดยาวเท่าผู้ป่วย เช่น บานประตู หรือเปลพยาบาล ค่อยๆ เคลื่อนตัวผู้ป่วยในท่าแนวตรงทั้งศีรษะและลำตัว ไม่ให้หลังงอเป็นอันขาด วางผู้ป่วยลงบนไม้กระดานหรือบนเปลพยาบาล ใช้ผ้ารัดตัวผู้ป่วยให้ติดกับแผ่นกระดานเป็นเปลาะๆ ไม่ให้เคลื่อนไปมาแล้วจึงนำส่งแพทย์