ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

"ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย หมายถึง, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย คือ, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย ความหมาย, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
"ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย

          "ท่อปู่พระยาร่วง" เป็นคลองชลประทานปรากฏนามในจารึก พ.ศ. ๒๐๕๓ บนฐานเทวรูปพระอิศวร พบที่เมืองโบราณกำแพงเพชร  ปัจจุบันเทวรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดกำแพงเพชร ความตอนหนึ่งกล่าวว่า "...อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้น และเขาย่อมทำนาทางฟ้า และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝายมิได้เป็นนาทางฟ้า  อันทำทั้งนี้ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์..."

          แนวคลองจากกำแพงเพชรถึงบางพานนั้นตามที่ปรากฏในจารึก ยังมีร่องรอยปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายทางอากาศ และยังคงสภาพให้เห็นได้ในภูมิประเทศ และเป็นแนวเดียวกันกับแนวที่เชื่อกันมาในอดีตว่าเป็นถนน นั่นคือ "ถนนพระ -ร่วง" ซึ่งเชื่อมโยงจากเมืองสุโขทัยไปยังเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านเหนือ และเมืองกำแพงเพชรทางด้านใต้

          เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จพระราชดำเนินตลอดแนว ตั้งแต่กำแพงเพชรถึงศรีสัชนาลัยด้วยพระองค์เอง  และทรงห่วงใยเกรงว่าหลักฐานจะถูกทำลายเนื่องจากมีการใช้ประโยชน์บนที่ดินตามแนวถนนในลักษณะต่างๆ และทรงมีข้อสงสัยในเรื่องของความเชื่อว่าเป็นถนน จึงได้ทรงแผนที่แนวถนนและพระราชทานข้อสังเกตไว้หลายประการ เพื่อเป็นแนวทางการศึกษารายละเอียดในภายหลังดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ความว่า "...ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะยกหนังสือนี้เป็นตำรับตำราอย่างใดเลย ประสงค์แต่จะตั้งโครงพอเป็นรูปขึ้นไว้ทีหนึ่ง เพื่อผู้ที่มีความรู้และพอใจในการตรวจค้นโบราณคดีต่างๆ  จะได้
    ตกแต่งแต้มเติมให้เป็นรูปอันงดงามดีขึ้น..."

          การศึกษาเพื่อสนองเจตนารมณ์แห่งพระองค์ท่าน ภาพถ่ายทางอากาศได้รับการนำมาใช้ศึกษาข้อมูล ตามที่ปรากฏในแผนที่จากกำแพงเพชรถึงสุโขทัย และจากสุโขทัยถึงศรีสัชนาลัย ตามที่ทรงไว้ในพระราชนิพนธ์ได้พบหลักฐานตลอดแนว เห็นได้ชัดเจนในภาพถ่ายทางอากาศ รวมเป็นระยะทางประมาณ ๑๒๓ กิโลเมตร ดังแสดงไว้ในแผนที่ บางช่วงคูคลองตื้นเขินคงเหลือแต่คันดินเป็นแนวยาว  บางช่วงยังคงปรากฏคูคลองชัดเจนมีคันดินด้านเดียวขนานไปกับแนวคลอง และบางแห่งซึ่งผ่านที่ลุ่มจะเห็นคันดินสองข้างชัดเจนตามแนวคลองบางแห่งยังพบสระน้ำขนาดใหญ่เป็นช่วงๆ อีกทั้งยังคงร่องรอยการทำนาที่ใช้ระบบชลประทาน การศึกษาจากร่องรอยที่ยังคงปรากฏให้เห็นได้ในภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าคันดินที่เห็นบนพื้นดินเป็นแห่งๆ ตลอดแนวจากกำแพงเพชรผ่านสุโขทัยจนถึงศรีสัชนาลัยและเคยเข้าใจว่าเป็นถนน  ตามที่รู้จักกันในนามของถนนพระร่วงนั้น ปรากฏให้เห็นบนภาพถ่ายทางอากาศชัดเจนว่า เป็นแนวคลองที่ขุดต่อเนื่องกันโดยตลอด

          การศึกษาระดับแนวคลองเปรียบเทียบกับลักษณะภูมิประเทศ และตำแหน่งการสร้างสระสี่เหลี่ยมกักเก็บน้ำเพื่อยกระดับ ล้วนแล้วเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเป็นแนวคลองขุดนำน้ำจากแม่น้ำปิงที่เมืองกำแพงเพชรทางด้านใต้มายังสุโขทัย และจากด้านตะวันตกของเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านเหนือมาเชื่อมต่อกับคลองทางด้านใต้ตรงตำแหน่งที่มีระดับต่ำสุดที่ต้นคลองแม่รำพัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๔๓ เมตรระดับความสูงที่แม่น้ำปิง ๗๙ เมตร และระดับความสูงที่ศรีสัชนาลัย ๖๘ เมตร น้ำจากลำคลองที่ไหลมาบรรจบกัน จะไหลตามคลองแม่รำพันลงสู่บริเวณแม่น้ำยม ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ ในฤดูน้ำมีน้ำท่วมขังกว้างขวางเรียกว่า ทะเลหลวง

          นอกจากหลักฐานบนภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวแล้ว ยังได้พบหลักฐานบนแผนที่ยุทธศาสตร์ครั้งรัชสมัยเสด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่งที่เขียนเป็นแนวคลองจากกำแพงเพชรไปจนถึงศรีสัชนาลัย และมีแนวคลองจากแนวคลองท่อปู่พระยาร่วงเชื่อมกับแม่น้ำยม ซึ่งปัจจุบันคือคลองแม่รำพัน

          แนวคลองท่อปู่พระยาร่วงจากกำแพงเพชรจนถึงบางพาน ตามที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๐๕๓ ซึ่งกล่าวถึงการบูรณะขุดลอกนำน้ำไปเลี้ยงนาบริเวณเมืองบางพานให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นนาทางฟ้าเหมือนเมื่อสมัยเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้วนั้น ตามแนวคลองและตำแหน่งเดียวกันจากกำแพงเพชรจนถึงบางพานนี้ ปัจจุบันเป็นคลองชลประทาน "โครงการพระราชดำริคลองท่อทองแดง" นำน้ำไปยังเมืองบางพาน แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทำนาเช่นเดียวกับอดีต ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแผนที่เส้นทางคลองให้แก่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๑ เพื่อขุดลอกนำน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำนา ตามที่ราษฎรบริเวณนั้นได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทรงทราบ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้านจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๑ แนวคลองดังกล่าวได้สร้างแล้วเสร็จตามโครงการ (พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๘) สร้างความร่มเย็นแก่พสกนิกรในอาณาบริเวณนั้น

          พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานความร่มเย็นแก่พสกนิกรดังกล่าว เป็นผลจากพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ ทรงใช้ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ศึกษาแนวคลอง และพระราชทานพระราชดำริให้สร้างคลองตามตำแหน่งและวิธีการเช่นเดียวกับอดีต  ซึ่งเป็นการอนุรักษ์แนวคลองชลประทานโบราณสมัยสุโขทัยนี้ไว้ เป็นการเริ่มต้นและเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์และพัฒนาร่องรอยในอดีต ให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบต่อไป และช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงประชาของพระองค์ได้ในเวลาเดียวกัน

"ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย หมายถึง, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย คือ, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย ความหมาย, "ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu