ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โรคขาดโปรตีนและแคลอรี, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี หมายถึง, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี คือ, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี ความหมาย, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
โรคขาดโปรตีนและแคลอรี

          โรคขาดโปรตีนและแคลอรี เป็นโรคเกิดจากร่างกายได้กำลังงานโปรตีนไม่พอ เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๖ ปี ลักษณะอาการของโรคที่เห็นแตกต่างกันชัดเจน มี ๒ รูปแบบ คือ ควาชิออร์กอร์ (kwashiorkor) และมาราสมัส (marasmus)
          ควาชิออร์กอร์  เป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรีประเภทที่มีการขาดโปรตีนอย่างมาก  เด็กมีอาการบวมเห็นได้ชัดที่ขา ๒ ข้าง เส้นผมมีลักษณะบางเปราะและร่วงหลุดง่าย  ตับโต มีอาการซึม และดูเศร้า ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมผิวหนังบางและลอกหลุด
          มาราสมัส  เป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรี  ประเภทที่ขาดทั้งกำลังงานและโปรตีน เด็กมีแขนขาลีบเล็ก เพราะทั้งไขมันและกล้ามเนื้อถูกเผาผลาญมาใช้เป็นกำลังงานเพื่อการอยู่รอด   ลักษณะที่พบเห็นเป็นแบบหนังหุ้มกระดูก  ผิวหนังเหี่ยวย่นเหมือนหนังคนแก่ ไม่มีอาการบวมและตับไม่โต
          อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะทั้งควาชิออร์กอร์ และมาราสมัสในคนเดียวกันก็ได้

          โรคขาดโปรตีนและแคลอรีที่พบในเด็กไทย
          โรคขาดโปรตีนและแคลอรี   พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท และแหล่งเสื่อมโทรมในเมืองใหญ่ โดยการใช้มาตรการการชั่งน้ำหนักตัวตามอายุ เพื่อประเมินผลภาวะโภชนาการด้านโปรตีนและแคลอรี  พบว่าเด็กแรกเกิดถึงอายุ  ๕ ปี ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ ๗ ล้านคนนั้น เป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรีเสีย ๔.๒ ล้านคน ซึ่งคิดได้เป็นร้อยละ  ๖๓  ของเด็กวัยก่อนเรียน  ในจำนวนเด็กที่เป็นโรคขาดอาหารนี้  ๒  ล้านคนเริ่มขาดโปรตีนและแคลอรี  ๒ ล้านคนอยู่ในพวกขาดโปรตีนและแคลอรีอย่างปานกลาง  และ ๒ แสนคนอยู่ในพวกขาดโปรตีนและแคลอรีอย่างรุนแรง

          ผลร้ายของโรคขาดโปรตีนและแคลอรี

          โรคขาดโปรตีนและแคลอรีมีผลร้ายต่อเด็กเองต่อครอบครัว และต่อประเทศชาติ เด็กที่เป็นโรคมีน้ำหนักน้อย  ตัวเล็กอ่อนแอ  ติดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ และเมื่อเกิดเป็นโรคก็ตายง่าย การศึกษายังพบด้วยว่า โภชนาการมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง ที่สำคัญที่สุดคือ ตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์แม่ในระยะ ๓ เดือนก่อนคลอดจนถึงขวบแรกของอายุ ถ้าเกิดเป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรีในช่วงนี้ สมองเด็กจะไม่เจริญและมีผลสืบเนื่องไปถึงโตได้  การเรียนรู้ต่างๆ ของเด็กย่อมไม่มีประสิทธิภาพ ถ้ารุนแรงเด็กก็ตาย ถ้าอาการไม่หนัก แม้ไม่ตายก็จะมีชีวิตอยู่แบบเฉื่อยชา ไม่สนใจในสิ่งแวดล้อม เด็กเหล่านี้ก่อให้เกิดภาระต่อครอบครัว  เพราะเด็กที่เจ็บป่วยบ่อยย่อมทำให้พ่อแม่เสียทั้งเงินและเวลาในการรักษาพยาบาล  ถ้าเด็กตายไป พ่อแม่ก็ต้องมีลูกเพิ่มอีก  เพื่อให้สมดังที่ตนปรารถนาไว้ ประเทศที่มีเด็กเป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรีกันมากๆย่อมมีผลเสีย  เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นจะไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การพัฒนาประเทศไม่สามารถดำเนินไปได้ดี ก่อปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย

          สาเหตุของโรคขาดโปรตีนและแคลอรี

          เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่การที่เด็กไทยเป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรีนั้น มีสาเหตุที่สำคัญอยู่ ๓ ประการคือ
          ๑. ความไม่รู้  อาหารที่ดีที่สุดของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ ๖ เดือน ได้แก่ น้ำนมแม่ แม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองได้ แล้วใช้นมวัวเลี้ยงลูก  ถ้าเลือกใช้นมผิดๆ เช่น การใช้นมข้นหวาน หรือเลือกใช้ถูกแต่ผสมผิดสัดส่วน ไม่พิถีพิถันในเรื่องความสะอาดเกี่ยวกับการชงนม ทำให้เด็กเป็นโรคติดเชื้อขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กป่วยเป็นโรคขาดโปรตีนและแคลอรี
ได้ หลังอายุ  ๖ เดือนไปแล้ว เด็กไทยในชนบทยังได้อาหารเสริมที่ด้อยในคุณค่าทางโภชนาการ คือ ได้แต่ข้าวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งด้อยทั้งกำลังงานและโปรตีน จึงก่อให้เกิดปัญหาการขาดโปรตีนและแคลอรีขึ้น
          ๒. ความยากจน  ครอบครัวที่มีฐานะยากจนและสมาชิกในครอบครัวมาก ย่อมประสบปัญหาการได้อาหารที่เพียงพอและคุณภาพดี
          ๓. ความเชื่อถือ ความเชื่อถือหลายอย่างเป็นความเชื่อถือที่ทำให้เกิดโรคขาดโปรตีนและแคลอรี เช่น การอดของแสลงในระหว่างการตั้งครรภ์

          การป้องกันโรคขาดโปรตีนและแคลอรี

          หลักสำคัญในการป้องกันโรคขาดโปรตีนและแคลอรี คือ
          ๑. ให้เด็กได้อาหารอย่างเพียงพอและมีคุณภาพอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดจนถึง ๖ เดือน คือ น้ำนมแม่ และควรได้อาหารเสริมที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลังจากอายุ ๓ เดือนแล้ว
          ๒. รัฐต้องส่งเสริมให้มีการผลิตอาหาร ทั้งระดับท้องถิ่นและอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการควบคุมอาหารที่ผลิตได้ให้ถึงมือผู้ที่ยากจน พยายามจัดสถานที่เลี้ยงดูเด็กวัยก่อนเรียนในระดับหมู่บ้าน โดยให้รวมถึงการดูแลอาหารที่เด็กกินด้วย   ถ้าเป็นเด็กอยู่ในวัยเรียน  ก็ส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินการโครงการอาหารกลางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ถึงปากท้องเด็กนักเรียนที่ยากจน
          ๓. ให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ประชาชน  ต้องถ่ายทอดความรู้ด้านโภชนาการให้แก่ประชาชน  เพื่อนำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หญิงตั้งครรภ์ที่กินอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการจะได้รับประโยชน์ทั้งแม่และลูก

โรคขาดโปรตีนและแคลอรี, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี หมายถึง, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี คือ, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี ความหมาย, โรคขาดโปรตีนและแคลอรี คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 9

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu