นุ่น (kapok)
นุ่น (kapok), นุ่น (kapok) หมายถึง, นุ่น (kapok) คือ, นุ่น (kapok) ความหมาย, นุ่น (kapok) คืออะไร
นุ่น เป็นพืชที่มีผู้ปลูกกระจัดกระจายทั่วประเทศไทย สำหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือนประเภทยัดเป็นไส้ในของหมอน ที่นอน ที่เหลือจึงจะนำไปขาย มักจะปลูกกันตามบริเวณบ้าน ประเทศไทยส่งนุ่นออกขายเป็นปริมาณมากที่สุดของโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ประเทศไทยผลิตนุ่นได้ ๓๗,๐๐๐ ตัน
นุ่นที่แนะนำให้ปลูกในปัจจุบัน มีทรงต้นแบบทรงฉัตร มีการแตกกิ่งทำมุมกว้างกับลำต้น หรือกิ่งจะขนานกับแนวพื้นดิน เจริญเติบโตเร็ว ลำต้นกลม ผิวเรียบ ใบย่อยรูปหอก ๕-๘ ใบย่อย (ใบย่อยของนุ่นมีก้านใบสั้น แต่ใบย่อยของงิ้วมีก้านใบย่อยยาว) ออกดอกเมื่ออายุประมาณ ๒ ปี หรือนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนและความสมบูรณ์ของต้น ดอกสีขาวปนเหลือง ออกเป็นกระจุก ฝักยาวปานกลางเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลเหลือง ๆ เปลือกเรียบ หัวและปลายฝักเรียว เปลือกบาง แกะเอาปุยออกได้ง่าย
เราสามารถปลูกนุ่นได้ง่าย ๆ โดยปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง นอกจากนั้น อาจปลูกโดยการเพาะเมล็ดในแปลงเพาะก่อน เมื่อนุ่นอายุประมาณ ๖-๘ เดือน ก็เลือกต้นที่มีลักษณะดีแข็งแรง ไปปลูกลงในไร่ โดยตัดยอดออกก่อนเพื่อลดการคายน้ำ ควรย้ายกล้าลงปลูกเมื่อดินมีความชื้นและฝนตกสม่ำเสมอ ปลูกให้มีระยะระหว่างต้น ๖-๗ เมตร
แมลงที่ทำลายนุ่นให้เกิดความเสียหายคือ ด้วงหนวดยาว มักจะเจาะทำลายบริเวณโคนต้น สูงจากพื้นดินประมาณ ๑-๒ เมตร เข้าทำลายต้นนุ่นอายุตั้งแต่ ๖ ปีขึ้นไป โดยจะวางไข่ที่ผิวของลำต้น เมื่อฟักเป็นตัวหนอนจะเจาะเข้าไปในลำต้น กัดกินท่อน้ำเลี้ยงหรือท่อส่งน้ำส่งอาหารลงมาโคนต้น พอถึงระยะเข้าดักแด้ ก็จะลงดิน พักตัวอยู่บริเวณโคนต้น ถ้าไม่ป้องกันและกำจัดจะทำให้ต้นโทรมและตายไป ต้องป้องกันไม่ให้แมลงตัวเต็มวัยวางไข่ โดยการทาน้ำมันยาง หรือน้ำมันยางผสมสารเคมีกำจัดแมลงที่มีพิษตกค้างนานในอัตราความเข้มข้นสูง ตลอดจนฉีดพ่นสารกำจัดแมลงเข้าไปในรูที่หนอนเข้าทำลายแล้วปิดด้วยดินหรือเศษไม้และควรหมั่นตรวจไร่อย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากพบต้นนุ่นถูกหนอนชนิดนี้เข้าทำลายใหม่ ๆ อาจจะใช้มีดถากบริเวณที่หนอนเข้าทำลาย แล้วจับตัวทำลายเสีย
นุ่นจะติดฝักและให้ผลิตผลที่จะเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ เมื่อต้นนุ่นอายุประมาณ ๒-๔ ปี ดอกนุ่นจะทยอยบานออกไปเรื่อย ๆ จนบานหมดทั้งต้น ฝักจึงแก่ไม่พร้อมกัน ดังนั้น อย่าเก็บนุ่นที่อ่อนเกินไป จะทำให้ได้ปุยนุ่นที่มีคุณภาพต่ำ ถ้าเป็นนุ่นที่ผิวฝักไม่เรียบ ต้องรอให้เห็นรอยย่นของเปลือกชัดเจน ไม่ควรเก็บนุ่นอ่อนมาบ่ม จะแกะเปลือกออกได้ยากและได้ปุยนุ่นสีขาวอมเหลืองมาก ซึ่งมีคุณภาพไม่ดี ถ้าเป็นพันธุ์ที่แก่แล้ว เปลือกไม่แตก ควรปล่อยให้แก่พร้อมกันจึงเก็บ อาจจะใช้ขอเกี่ยว เขย่าต้น เอาไม้ตีฝักให้ร่วง หรือปีนต้นขึ้นไปเก็บฝัก อย่าตัดกิ่งลงมาเพราะจะทำให้ผลิตผลของนุ่นในปีต่อไปลดลง ในปีแรกจะให้ผลิตผลมีจำนวนฝักต่อต้นประมาณ ๒๐-๓๐ ผัก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนุ่นอายุประมาณ ๕ ปี ควรให้ผลิตผลไม่ต่ำกว่า ๔๐๐-๕๐๐ ฝักต่อต้น เมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปี ผลิตผลจะเริ่มคงที่อยู่ระหว่าง ๑,๐๐๐-๒,๒๐๐ ฝักต่อต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา นุ่นประมาณ ๑๒๐-๑๕๐ ฝักจะให้ปุยประมาณ ๑ กิโลกรัม ในแต่ละฝักจะเป็นเปลือกประมาณ ๔๔% เมล็ด ๓๒% ไส้และก้าน ๗ % ปุยหรือเส้นใย ๑๗% ราคาขายทั้งฝัก กิโลกรัมละ ๔ บาท เมื่อแกะเอาเปลือกออกแล้วจะขายได้กิโลกรัมละ ๘-๑๐ บาท ในขณะที่ปุยนุ่นที่ปั่นเอาเมล็ดออกแล้วจะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ ๓๐-๓๕ บาท
เส้นใยนุ่น มีรูปยาวรี รูปทรงกระบอกกลวง ผนังบาง เรียบและเปราะ จึงไม่ค่อยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอพวกปั่นด้ายเหมือนกับฝ้าย เพราะฟูและเบามาก เส้นใยไม่มีลักษณะหยิกหรือหยักที่จะข่วยให้กลุ่มเส้นใยจับตัวกันได้ดีเมื่อปั่นหรือฟั่นเป็นเส้นด้าย มีความถ่วงจำเพาะประมาณ ๑๔ เท่าของน้ำ มีความยาวของเส้นประมาณ ๘-๓๐ มิลลิเมตร
ปุยนุ่นมีคุณสมบัติอ่อนนุ่มใยและเบา พิเศษกว่าพืชเส้นใยอื่น ๆ คือ ไม่ดูดซับน้ำ แต่ดูดซับน้ำมัน สามารถรับน้ำหนักได้ ๓๐ เท่าตัวในน้ำทะเล จึงใช้ยัดทำเป็นเสื้อชูชีพ ทำให้ผู้สวมลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ทางยุทธปัจจัย ก็ใช้ทำชนวนระเบิด เพราะมีคุณสมบัติไวไฟเผาไหม้ได้เร็วมาก ทำวัสดุกันกระเทือน ยัดหมอน ที่นอนเครื่องใช้ต่าง ๆ ไส้ในฝักที่ปั่นเอาเมล็ดและปุยนุ่นออกแล้ว ก็เป็นวัสดุที่มีเซลลูโลสสำหรับใช้เพาะเห็ด เปลือกใช้ทำเชื้อเพลิง
นุ่น (kapok), นุ่น (kapok) หมายถึง, นุ่น (kapok) คือ, นุ่น (kapok) ความหมาย, นุ่น (kapok) คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!