ความสนใจในความสวยงามของอัญมณีและเครื่องประดับของคนเรานั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล อย่างน้อยประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ปี มาแล้ว จากหลักฐานประจักษ์พยานต่างๆ ทางโบราณคดี เช่น พบควอตซ์ในบริเวณเดียวกัน กับการขุดค้นพบโครงร่างบรรพบุรุษของมนุษย์ (มนุษย์ปักกิ่ง) สิ่งแกะสลักจากหิน กระดูก เขาสัตว์ ทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่พบตามถ้ำ หรือตามโบราณสถานในประเทศต่างๆ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่ามีการใช้อัญมณีอย่างแท้จริงในสมัยอียิปต์โบราณ จีน และอินเดีย หลายพันปีก่อนพุทธกาล ในอียิปต์ซึ่งเป็นชาติที่มีอารยธรรมต่อเนื่องกันยาวนาน มีการใช้อัญมณีชนิดต่างๆ เช่น ลาพิส-ลาซูลี แอเมทิสต์ เทอร์คอยส์ คาร์นีเลียน ออบซิเดียน ไข่มุก มรกต เป็นต้น ในประเทศจีนซึ่งเป็นชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่เช่นกัน อัญมณีที่นิยมใช้คือหยก สำหรับประเทศอินเดียนั้น ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอัญมณีที่มีค่า และมีความสำคัญหลายชนิด เช่น เพชร ทับทิม มรกต ไพลิน เป็นต้น
ความรู้ ความเชื่อถือ และการใช้อัญมณีของคนไทยในสมัยโบราณ เริ่มมีมาแต่สมัยใดยังไม่มีหลักฐานกำหนดแน่ชัด เราอาจทราบเรื่องอัญมณีของไทยในอดีตได้จากวรรณคดีไทย บางเรื่อง บางตอน เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยเริ่มรู้จักและใช้อัญมณีไม่กี่ชนิด มีการจัดแบ่งอัญมณีออกเป็น ๙ ชนิด เรียกว่า นพรัตน์ หรือนวรัตน์ หรือแก้วเก้าประการ เป็นต้น ในตำรานพรัตน์มีคำกลอนที่มีอิทธิพล ทำให้คนไทยไม่น้อยรู้จักสนใจและนิยมนับถืออัญมณีว่าเป็นสิริมงคล มีการจัดแบ่งเป็น ลักษณะสี ชนิด ลำดับชั้นคุณภาพแตกต่างกันไป คำกลอนนั้นคือ
๑. เพชร (น้ำ) ดี หมายถึง เพชร - Diamond
๒. มณีแดง หมายถึง ทับทิม - Ruby
๓. เขียวใสแสง มรกต หมายถึง มรกต - Emerald
๔. เหลืองใสสด บุษราคัม* หมายถึง บุษราคัม - Yellow-Sapphire or Topaz*
๕. แดงแก่ก่ำ โกเมนเอก หมายถึง โกเมน - Garnet
๖. ศรีหมอกเมฆ นิลกาฬ หมายถึง ไพลิน - Blue Sapphire
๗. มุกดาหาร หมอกมัว หมายถึง ไข่มุก - Pearl or Moonstone
๘. แดงสลัว เพทาย หมายถึง เพทาย - Zircon
๙. สังวาลสาย ไพฑูรย์ หมายถึง ไพฑูรย์ - Chrysoberyl Cat's eye
อัญมณีทั้ง ๙ ชนิดนี้ ประเทศไทยมีเกือบครบ ยกเว้น มรกตและไพฑูรย์ ซึ่งยังไม่พบ ชนิดที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันคือ ทับทิมสยาม รองลงมาคือ ไพลินหรือนิลกาฬนั่นเองเรื่องของอัญมณีโดยเฉพาะแก้วเก้าประการ คนไทยโดยทั่วไปนิยมเลื่อมใสนับถือว่าเป็นของมีค่าสูงและเป็นสิริมงคล นำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านศาสนา และในสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ทำเป็นพระพุทธรูปต่างๆ ตลอดจนใช้ประดับเครื่องทรงและที่ประทับ ใช้เป็นเครื่องประดับแสดงถึงตำแหน่งและเกียรติยศเครื่องราชูปโภคในพระราชพิธีสำคัญ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ของที่เป็นบำเหน็จรางวัล เครื่องประดับต่างๆ ของพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการชั้นสูง ประชาชนโดยทั่วไปทุกระดับชั้นก็สามารถหามาได้ตามกำลังฐานะ นอกจากเพื่อความสวยงาม และความเป็นสิริมงคลต่างๆแล้ว ก็ยังใช้เป็นหลักทรัพย์ที่ถือเป็นมรดกสืบทอดแก่ทายาทในวงศ์ตระกูล เป็นของกำนัลตอบแทนผู้มีน้ำใจช่วยเหลือยามที่เคยตกทุกข์ได้ยากเป็นของสำหรับหมั้นหมาย เป็นต้น
นอกจากนพรัตน์หรือแก้วเก้าประการแล้วยังมีอัญมณีอื่นๆ อีกหลายชนิด ที่คนไทยนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านเครื่องประดับเป็นของสวยงามและมีความหมายทางโหราศาสตร์เช่นเดียวกัน เช่น แก้วโป่งข่าม โมรา โมกุล ฯลฯ สำหรับแก้วโป่งข่ามเป็นแร่ควอตซ์ชนิดหนึ่งหรือที่เรียกว่า หินเขี้ยวหนุมาน มีความโปร่งใสโปร่งตา และมักมีมลทินแร่บางชนิดอยู่ภายในเนื้อ ทำให้เกิดมีรูปร่าง สีสัน ลวดลายแปลกประหลาดต่างๆ สวยงาม มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ขนเหล็ก เข็มเหล็ก เข็มทอง ไหมทอง สายรุ้ง ฯลฯ แหล่งกำเนิดสำคัญอยู่ที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปางและอำเภอสา จังหวัดน่าน เป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมเลื่อมใส รู้จักกันมากในหมู่คนไทยทั่วประเทศ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีเหตุการณ์ตื่นแก้วโป่งข่ามซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการอัญมณีไทยเลยก็ว่าได้
ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงมานานมากในเรื่องของอัญมณี โดยเป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลกที่มีอัญมณีหลายชนิด เช่น ทับทิม ไพลิน บุษราคัม เขียวส่อง เพทาย โกเมน ไข่มุก เป็นต้น อุตสาหกรรมและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ได้รับการยกย่องและยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและราคาจากนานาประเทศทั่วโลก สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ นับเป็นสินค้าส่งออกหมวดหนึ่งของไทย ที่ได้สั่งสมบทบาทในการเป็นสินค้าที่สำคัญ ทำรายได้สูงให้แก่ประเทศโดยติดอันดับต้นๆ ๑ ใน ๕ ของสินค้าส่งออกประเภทต่างๆ ของประเทศและยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี นับเป็นสินค้าที่มีอนาคตที่สดใสมากมีการผลิตและการทำเหมืองแร่อัญมณีในหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรีจันทบุรี ตราด ค่าแรงงานถูก ช่างฝีมือมีคุณภาพ มีทักษะ มีความรู้ความชำนาญในการเจียระไน การออกแบบ และประดิษฐ์งานประณีตศิลป์นานาชนิด ทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด อุตสาหกรรมการผลิต การค้าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วมากในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากตัวเลขของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ที่แสดงถึงสถิติของมูลค่ารวมของการส่งออกสินค้าประเภทนี้ ที่มีค่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังในปี ๒๕๒๖ มีมูลค่าการส่งออก ๗,๒๐๑.๑ ล้านบาทเพิ่มเป็น ๑๙,๘๒๗.๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๐เป็น ๓๔,๘๙๑.๓ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๓ เป็น ๓๕,๙๖๒.๖ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๔ และในปี ๒๕๓๖ ประมาณการไว้ที่ ๔๒,๕๐๐ ล้านบาทและยังมีเป้าหมายที่ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
มูลค่าการส่งออกอัญมณีที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีนั้นเป็นมูลค่าจากอัญมณีที่ผลิตได้ในประเทศส่วนหนึ่ง ซึ่งนับวันก็จะขาดแคลนและหมดไปไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นอัญมณีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนับวันก็จะยิ่งมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นทุกปีเช่นกัน อัญมณีในส่วนนี้จะมีทั้งที่เป็นอัญมณีแท้ อัญมณีสังเคราะห์ เทียม เลียนแบบต่างๆ นำมาเจียระไนตกแต่งเป็นเครื่องประดับแล้วส่งออก จะเห็นได้ว่าอัญมณีและเครื่องประดับมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เป็นอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายด้าน เช่น การทำเหมืองการผลิตเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การออกแบบ การเจียระไนและทำเครื่องประดับ การโฆษณา การบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง ฯลฯ ล้วนแต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันส่งเสริมการพัฒนาประเทศ กล่าวได้ว่าประเทศไทยมีแนวโน้มมีความพร้อมสูงมาก ที่จะเป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลกอย่างแท้จริง
อัญมณี
อัญมณี, อัญมณี หมายถึง, อัญมณี คือ, อัญมณี ความหมาย, อัญมณี คืออะไร
อัญมณี, อัญมณี หมายถึง, อัญมณี คือ, อัญมณี ความหมาย, อัญมณี คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!