ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก หมายถึง, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก คือ, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก ความหมาย, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก

          เมื่อเด็กเจ็บป่วย สิ่งสำคัญที่บิดามารดาจะทราบได้ก็คือ "อาการของโรค"ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายแสดงออกมา เพื่อแสดงว่าร่างกายมีความผิดปกติผันแปรไป  เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนว่าร่างกายเจ็บป่วย หรือเกิดมีโรคขึ้นแล้วในร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นอาจสังเกตได้ง่าย แต่บางครั้งก็สังเกตได้ยาก เด็กโต อาจบอกอาการได้ แต่เด็กเล็กไม่สามารถบอกได้ บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะต้องสังเกตเอาเอง โดยทั่วไปเวลาเด็กเจ็บป่วย มักแสดงอาการ ๒-๓ อย่างร่วมกันไปเสมอ เช่น มีไข้ร่วมกับเจ็บคอ ไอ หรือ อุจจาระร่วงกับอาเจียน เป็นต้น

          อาการที่ปรากฏในเด็กอย่างหนึ่งอย่างใด มีสาเหตุได้มากมาย การที่จะทราบแน่ว่าเป็นโรคอะไรนั้น แพทย์ต้องทราบอาการนั้นๆ โดยละเอียด และใช้การตรวจร่างกายผู้ป่วยร่วมด้วย  นอกจากนั้น ในบางรายก็จำเป็นต้องใช้การทดสอบทางห้อง
ปฏิบัติการด้วย จึงจะทราบสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม อาการที่ผู้ป่วยมี ก็จะเป็นตัวชี้ให้แพทย์ทำการตรวจในระบบใด จึงจะขอกล่าวถึงอาการของโรคที่พบได้บ่อยๆ ในขณะเด็กไม่สบายพร้อมทั้งสาเหตุที่สำคัญพอสังเขป

           ชักเป็นอาการที่พบได้ในวัยเด็ก และทำให้บิดามารดาหรือผู้พบเห็นตกใจ เด็กจะมีอาการกระตุกแขนขาน้อยๆ หรือแรงถี่ กล้ามเนื้อเกร็ง ตาเหลือกค้าง กัดฟันหรือลิ้น อาจมีอาการหมดสติร่วมด้วย การชักอาจเป็นทั้งตัว หรือเป็นเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายแล้วแต่พยาธิสภาพ ซึ่งกลไกในการชักก็เกิดจากการกระตุ้นเปลือกสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย การชักในวัยเด็กมีสาเหตุมากมายซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก 

           อาการชักในทารกแรกคลอด (อายุภายใน ๑ เดือน)  สาเหตุที่สำคัญในวัยนี้คือ  ได้รับอันตรายจากการคลอด การคลอดยาก การใช้เครื่องมือช่วยคลอด ทำให้มีเลือดออกในสมองหรือเด็กคลอดออกมาแล้วไม่หายใจ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองเป็นสาเหตุของการชักที่สำคัญในวัยนี้ ความพิการของระบบประสาทโดยเฉพาะของสมองพบได้บ้าง 
          ความผันผวนในการครองธาตุที่ผิดปกติในร่างกาย เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับธาตุแคลเซียม หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือระดับธาตุโซเดียมสูงในเลือด เป็นสาเหตุการชักในระยะนี้ได้เช่นกัน
          การติดเชื้อของระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมักเป็นผลจากการมีเชื้อโรคในเลือดแพร่กระจายไป นอกจากนั้นในบ้านเรา โรคบาดทะยักในเด็กอ่อนยังพบได้เสมอที่ทำให้เด็กชักเกร็ง โดยเฉพาะเวลาจับต้องเด็ก หรือมีเสียงดัง เด็กจะชักตัวแข็ง อ้าปากไม่ขึ้นเพราะขากรรไกรแข็ง โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดนี้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการทำคลอดไม่สะอาด คลอดโดยหมอตำแยที่ไม่ได้รับการอบรม โดยใช้กรรไกรหรือมีดไม่สะอาด หรือใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ นอกจากนั้นยังมักใช้ก้อนดิน ก้อนหินวางรองสายสะดือก่อนตัด ซึ่งเชื้อบาดทะยัก พบมากในดินก็จะเข้าร่างกายทางสายสะดือ และก่อโรคบาดทะยักต่อมาในระยะเวลาประมาณ ๑-๓ สัปดาห์ โรคนี้สามารถป้องกันได้ถ้ามารดาได้รับการทำคลอดที่สะอาดถูกอนามัย  เช่น ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย
          ยาบางชนิดอาจเป็นสาเหตุการชักในเด็กแรกคลอดได้  นอกจากนั้นมารดาที่ติดยาเสพติดประเภทมอร์ฟีน หรือเฮโรอีน บุตรที่คลอดออกมาเมื่อไม่ได้รับยาดังกล่าว ซึ่งก่อนเคยได้รับโดยผ่านทางมารดาอาจเกิดการชักซึ่งมักมีน้ำลายฟูมปากร่วมด้วย

           การชักหลังอายุ ๑ เดือน สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ อาการชักจากไข้สูง อาการชักที่มีสาเหตุจากไข้สูงนี้จะพบในเด็กอายุระหว่าง ๖ เดือนถึง ๖ ปี (อายุก่อนและหลังจากช่วงนี้การชักมักไม่ใช่สาเหตุจากไข้สูง) อาการชักจะมีกระตุกทั่วตัว ไม่จำกัดอยู่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เกิดขึ้นเมื่อมีไข้สูงมาก และมักเกิดขึ้นในระยะไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมงหลังจากเริ่มตัวร้อน มักมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว การชักมักไม่เกิน ๑๕ นาที ภายหลังชักไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น อัมพาต หรือหมดสติ การตรวจน้ำไขสันหลัง หรือตรวจคลื่นสมองด้วยไฟฟ้าจะปกติ 
          โรคลมบ้าหมู (epilepsy) เป็นโรคที่ทำให้เกิดการชักได้เกิดขึ้นเพราะมีความผิดปกติในการทำงานของเซลล์สมอง ส่วนมากมักเกิดภายหลังอายุ ๕ ปี การชักในลมบ้าหมูมีได้หลายแบบ อาจชักกระตุกทั้งตัว กระตุกบางส่วน หรือหัวผงก หรือในบางแบบอาจไม่มีอาการชักกระตุกให้เห็นแต่มีอาการเหม่อ ไม่รู้เรื่องประมาณ  ๒๐ วินาทีก็ได้ การชักในโรคลมบ้าหมูมักไม่มีอาการไข้ หรืออาการของโรคติดเชื้อนำ บางรายของผู้ป่วยลมบ้าหมูอาจมีอาการบางอย่างนำมาก่อน เช่น เห็นแสง หรือได้ยินเสียงบางอย่างก่อนชัก 
          โรคติดเชื้อของสมอง พบเป็นสาเหตุได้บ่อย ที่สำคัญ  คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อบัคเตรี (สาเหตุจากเชื้อวัณโรค ยังพบได้ในบ้านเรา) สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส ฝีในสมองเป็นสาเหตุของการชักที่พบได้ มาลาเรียขึ้นสมองพบน้อยในวัยเด็ก มักพบในผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีมาลาเรียชุกชุม ผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรนโดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ในระยะไอมาก มีเสมหะเหนียว อุดกั้นหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก มีการขาดออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมองก็ทำให้ชักได้เช่นกัน
          ความพิการของสมองแต่กำเนิด อาจมาเริ่มชักในอายุหลัง ๑ เดือนก็ได้ ศีรษะที่ถูกกระทบกระแทก ความดันโลหิตสูง การกลั้นหายใจในเด็ก พิษจากสารบางชนิด เช่น ตะกั่วหรือยาบางชนิด ความผันผวนในการครองธาตุของร่างกาย ก็เป็นสาเหตุการชักในวัยนี้ได้ 
          เมื่อเด็กเกิดอาการชักขึ้น  บิดามารดาอย่าได้ตระหนกตกใจจนเกินเหตุจนทำอะไรไม่ถูก ควรจับเด็กนอนลงกับพื้น เช็ดหรือดูดน้ำมูกน้ำลายออกเพื่อให้หายใจโล่ง ขณะชัก ฟันของผู้ป่วยอาจกัดลิ้น ควรใช้ผ้าสะอาดพันด้ามช้อนใส่ไว้ในปากเหนือลิ้นเพื่อกันการกัดลิ้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการชักให้เช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาจนไข้ลง เมื่อเด็กหายจากการชักต้องพาไปหาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก หมายถึง, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก คือ, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก ความหมาย, อาการของโรคที่พบในวัยเด็ก คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu