ในอดีต ประเทศไทยสามารถผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๔ เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคตะวันออก แล้วต่อช่วงฤดูการผลิตโดยผลผลิตจากภาคใต้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ ๙ เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม โดยแบ่งเป็นผลผลิตจากพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
๑. ทุเรียนก่อนฤดูในพื้นที่จังหวัดระยอง และจันทบุรี เกษตรกรประสบความสำเร็จในการผลิตทุเรียนก่อนฤดูในเชิงการค้า โดยใช้สารแพกโคลบิวทราโซลเร่งให้ทุเรียน ออกดอกได้ในเดือนสิงหาคม และสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ก่อนที่ผลผลิตตามฤดูกาลปกติจะออกสู่ตลาดในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
๒. ทุเรียนล่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และชุมพร เกษตรกรในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน ประสบความสำเร็จในการผลิตทุเรียนล่า และมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมได้ เช่นกันกับเกษตรกรในจังหวัดชุมพรสามารถผลิตทุเรียนล่าออกสู่ตลาดได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคม
๓. ทุเรียนทวาย เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนทวายสามารถทยอยตัดผลผลิตสู่ตลาด ได้ตลอดทั้งปีโดยพิจารณาจากภาวะการตลาด เช่น เทศกาลต่างๆ และพยายามหลีกเลี่ยงการผลิตมิให้ผลผลิตออกมาในช่วงที่เป็นฤดูการผลิตปกติระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาผลิตผลทุเรียนตกต่ำ
การผลิตทุเรียนล่า คือ การควบคุมให้ผลทุเรียนสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายฤดู การผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคาผลิตผลตกต่ำ ในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนโดยทั่วไปจะออกมาชุกในระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน (ภาคตะวันออก) หรือระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม (ภาคใต้) วิธีการผลิตทุเรียนล่าอาจกระทำได้โดย (ก) ยืดเวลาสุกแก่ของผลที่เกิดจากดอกที่ออกตามฤดูปกติ (ข) โดยการทำลายดอกรุ่นแรก ด้วยการเด็ดดอกทิ้ง หรือใช้สารเคมี แล้วรักษาดอกรุ่นที่ ๒หรือรุ่นที่ ๓ ที่ออกตามมาในระยะหลัง (ค) เลื่อนการออกดอกรุ่นแรกให้ล่ากว่าปกติ โดยวิธีการให้น้ำและปุ๋ยแก่ต้นทุเรียนในขณะที่สภาพภูมิอากาศเริ่มแล้ง พร้อมจะชักนำการออกดอกตามฤดูกาลปกติ หรืออาจใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตพืช