ไมโครโพรเซสเซอร์สามารถจะถูกจัดให้อยู่ได้หลายประเภท เช่น ประเภท ๔ บิต ๘ บิต ๑๖ บิต ๓๒ บิต หรือ ๖๔ บิต การเรียกไมโครโพรเซสเซอร์ว่าเป็นประเภท ๘ บิตนั้น หมายถึงไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนั้นสามารถประมวลผลข้อมูลที่มีขนาด ๘ บิต ได้ต่อ ๑ ครั้ง ฉะนั้นการที่ไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีขนาด ๘ บิต มีความสามารถที่จะประมวลผลข้อมูลที่มีสภาวะแตกต่างได้ถึง ๒๕๖ ค่า แล้วก็ยังสามารถประมวลผลข้อมูลที่มีความยาวมากกว่า ๘ บิตได้ด้วย เช่นข้อมูลขนาด ๑๖ บิต ๓๒ บิต หรือมากกว่านั้นเพียงแต่ว่าข้อมูลนั้นจะต้องถูกแบ่งออกมาเป็นหลายๆ ส่วน โดยแต่ละส่วนจะมีขนาด ๘ บิตเท่านั้น ไมโครโพรเซสเซอร์จะประมวลผลข้อมูลหลาย ๆ ครั้ง แต่เป็นครั้งละ ๘ บิต เท่านั้นไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีขนาด ๑๖ บิต และ ๓๒ บิตจะมีความสามารถประมวลผลข้อมูลที่มีสภาวะแตกต่างได้ถึง ๖๕,๕๓๖ ค่า และ ๔,๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ค่า ฉะนั้น บางครั้งเราจึงประเมินว่า ไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีขนาด ๓๒ บิต มีสมรรถภาพและความเร็วมากกว่าไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีขนาด ๑๖ บิต หรือ ๘ บิต เพราะว่าไมโครโพรเซสเซอร์ขนาด ๓๒ บิต สามารถบวกเลขที่มีข้อมูลขนาด ๓๒ บิตได้สำเร็จภายในครั้งเดียว แต่ไมโครโพรเซสเซอร์ขนาด ๑๖ บิต และ ๘ บิต จะต้องบวกเลขถึง ๒ ครั้ง และ ๔ ครั้งตามลำดับ
ความเร็วของคอมพิวเตอร์จะขึ้นอยู่กับความเร็วของไมโครโพรเซสเซอร์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเร็วของทรานซิสเตอร์ที่จะสามารถทำการเปิด หรือปิดวงจรได้ ไมโครโพรเซสเซอร์ได้ใช้สัญญาณนาฬิกา (clock signal) ที่ถูกป้อนเข้ามาจากวงจรภายนอก เพื่อควบคุมการเปิดหรือปิดของวงจรทรานซิสเตอร์ภายใน ฉะนั้น ถ้าความถี่ของสัญญาณนาฬิกาเร็วขึ้น การเปิดหรือปิดของวงจรทรานซิสเตอร์ภายในไมโครโพรเซสเซอร์ก็จะเร็วขึ้นด้วย ไมโครโพรเซสเซอร์จึงประมวลผลได้เร็วขึ้นด้วย ไมโครโพรเซสเซอร์แต่ละรุ่นจะมีกำหนดของความถี่สูงสุดของสัญญาณนาฬิกาที่สามารถใช้ได้ โดยจะไม่มีผลกระทบต่อความ ถูกต้องของข้อมูล ดังนั้น ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นเดียวกันที่ใช้สัญญาณนาฬิกาที่เร็วกว่า จึงสามารถประมวลผลและคำนวณได้เร็วกว่าเช่นเดียวกัน ไมโครโพรเซสเซอร์อันแรกที่ผลิตโดยบริษัทอินเทล รุ่น ๔๐๐๔ สามารถใช้ความถี่ของสัญญาณนาฬิกาได้ถึง ๑๐๘,๐๐๐ ครั้งต่อวินาทีซึ่งหมายความว่า ทรานซิสเตอร์ภายในไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้สามารถทำการเปิด หรือปิด วงจรทรานซิสเตอร์ได้ถึง ๑๐๘,๐๐๐ ครั้งต่อวินาที ปัจจุบัน บริษัทไอบีเอ็มสามารถผลิตไมโครโพรเซสเซอร์ที่ใช้ความถี่สัญญาณนาฬิกาได้เร็วถึง ๑,๐๐๐ ล้านครั้งต่อวินาที (๑ จิกะเฮิรตซ์)
สำหรับรายละเอียดในการทำงานของคอมพิวเตอร์ ผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม ๑๑