กรรณิการ์ (Nyctanthes arbor-tristis Linn.) ในกาพย์ห่อโคลง นิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ตอนหนึ่งบรรยายไว้ว่า
กรรณิการ์ก้านสีแสด คิดผ้าแสดติดขลิบบาง
เห็นเนื้อเรื่อโรงราง ห่มสองบ่าอ่าโนเน
บทร้อยกรองนี้แสดงให้เห็นว่า กรรณิการ์ เป็นไม้ดอกหอมที่มีปลูกในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ผู้ใดนำเข้ามา
กรรณิการ์เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๓ เมตร มีขนคายตามกิ่งก้านและใบ กิ่งมักเป็นสี่เหลี่ยม โดยเฉพาะกิ่งอ่อน ใบเดี่ยว ขนาด ๒.๕-๔ ซม.x ๕-๙ ซม. รูปไข่ หรือรูปใบหอกปลายใบแหลม ขอบใบเป็นรอยจักตื้นๆออกเป็น คู่ตรงข้ามกัน ดอกสีขาวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕ ซม. ออกดอกเป็นช่อสั้นทั้งที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดูผิวเผินคล้ายดอกมะลิ แต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่าตัวหลอดกลีบดอกสีส้มหรือสีแสด ปลายแยกเป็น ๕-๗ กลีบ กลีบบิดเวียนคล้ายกังหัน ปลายกลีบหยักเว้าเป็น ๒ แฉก ไม่เท่ากัน กรรณิการ์จะออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนดอกบานและมีกลิ่นหอมในเวลากลางคืน และเช้าผลแบน รูปร่างค่อนข้างกลม ปลายผลมีติ่งแหลมเล็กน้อย ในแต่ละผลมีเมล็ด ๒ เมล็ด
ดอกกรรณิการ์มีทั้งความสวยและกลิ่นหอมคนไทยจึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกในที่ได้รับแสงแดดมากและดินดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง ชาวฮินดูถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มักปลูกไว้ตามโบสถ์และใช้ดอกบูชาพระ คนไทยไม่ใช้ดอกกรรณิการ์บูชาพระอาจเป็นเพราะดอกบานในเวลากลางคืน ไม่สะดวกในการเก็บ พอตอนเช้าดอกก็จะร่วงอยู่ตามดิน คนไทยก็จะไม่เก็บมาบูชาพระอีก เพราะร่วงลงสู่พื้นแล้ว
หลอดกลีบดอกสีแสดใช้ย้อมผ้าไหมให้มีสีเหลืองหรือสีส้ม สวยงาม เปลือกมีสารฝาดและเป็นสมุนไพรใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดศีรษะใบใช้เป็นยาแก้ไข้และโรคปวดตามข้อ รากเป็นยาบำรุงกำลัง และยังสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกนำไปใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย