การเตรียมดินมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้โครงสร้างของดินเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช ทำให้ต้นพืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารพร้อมทั้งอากาศได้ดี และเพื่อทำลายวัชพืช โรคพืชบางชนิด ตลอดจนไข่และตัวอ่อนของแมลงบางชนิด การเตรียมดินเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะต้องใช้พลังงานเป็นอย่างมาก
การแบ่งเครื่องมือในการเตรียมดิน อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็น ๓ ประเภท ตามชนิดของต้นกำลังที่ใช้ดังนี้
๑. เครื่องมือเตรียมดินโดยใช้แรงงานคนเช่น จอบ
๒. เครื่องมือเตรียมดินโดยใช้แรงงานสัตว์เช่น ไถใช้แรงสัตว์
๓. เครื่องมือเตรียมดินโดยใช้เครื่องยนต์เป็นต้นกำลัง เช่น รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์เป็นต้น ความสามารถในการทำงานของเครื่องมือได้แสดงไว้ในตาราง
ชนิดของต้นกำลัง
เครื่องมือ
ความสามารถในการทำงาน ไร่/วัน
คน
สัตว์ (ควาย/วัว)
รถไถเดินตาม (๗-๑๐ แรงงม้า)
รถแทรกเตอร์ (๙-๑๒ แรงงม้า)
รถแทรกเตอร์ (๖๐-๗๐ แรงงม้า)
จอบ
ไถหัวหมู
ไถหัวหมู
ไถจาน
ไถจาน
๐.๒-๐.๖
๐.๙-๑.๕
๓-๕
๗-๑๐
๔๐-๕๐
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์เทวกุล หัวหน้ากองท่านแรกของกองเกษตรวิศวกรรม ได้ดำเนินการวิจัยหลายโครงการ งานวิจัยที่สำคัญๆ คือ งานวิจัยประดิษฐ์เครื่องมือเตรียมดิน และชลประทาน ซึ่งก็คือ การพัฒนาวิจัยรถแทรกเตอร์หลายแบบ ตั้งแต่แบบมาตรฐาน๔ ล้อ แบบ ๓ ล้อ แบบ ๒ ล้อ ทั้งแบบที่มีที่นั่งขับและแบบไม่มีที่นั่งขับหรือเรียกว่ารถไถเดินตาม
ผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือการพัฒนาต้นแบบรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ซึ่งใช้เครื่องยนต์ตั้งแต่ขนาด ๘.๕ แรงม้า ถึง ๒๕แรงม้า ได้เป็นผลสำเร็จ จนมีคำเรียกผลงานนี้เฉพาะว่า "ควายเหล็ก"
การวิจัยพัฒนารถไถเดินตาม ๒ ล้อ นั้นเริ่มต้นด้วยเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำขนาด ๖ แรงม้าซึ่งการทดสอบในระยะแรกพบว่า มีจุดอ่อนในเรื่องการทรงตัวและการบังคับควบคุม จึงได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนได้แบบที่สามารถใช้งานได้ดี และโรงงานเอกชนได้พัฒนาจนใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน