ไม้เลื้อยดอกหอมของไทย พบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติค่อนข้างมาก อาจจะเนื่องมาจากส่วนใหญ่มีการกระจายพันธุ์ได้ดี หลายชนิดเป็นที่นิยมปลูกกันทั่วไป และอีกหลายชนิดยังคงเป็นไม้ป่าที่ไม่รู้จักแพร่หลาย หากในการศึกษาสำรวจ ได้มีการบันทึกข้อมูลเรื่องกลิ่นหอมไว้ด้วย อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกมาก ชนิดที่มีกลิ่นหอมน่าปลูกเช่น
ไม้เถาและมีหัวพวกเดียวกับกลอย ในเมืองไทยมีประมาณ ๓๐ ชนิด ส่วนใหญ่ดอกมีกลิ่นหอมในช่วงหลังฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว ตามป่าต่างๆโดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ มักจะเป็นช่วงฤดูออกดอกของ "กลอย" หลายชนิด ส่งกลิ่นหอมไปทั้งป่า พืชพวกกลอยเป็นไม้เถาล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดินเถามักจะยาว เลื้อยไปตามต้นไม้ได้สูงและไกลใบมีหลายชนิด หลายรูปแบบ มีทั้งพวกที่มีใบเดี่ยวและใบประกอบ ส่วนใหญ่จะสังเกตได้จากใบซึ่งเป็นใบเดี่ยว มีเส้นใบออกจากฐานใบหลายเส้นยาวไปถึงปลายใบ เนื้อใบมักจะบาง ช่อดอกส่วนมากแยกเพศ ช่อห้อยลง ดอกขนาดเล็ก ค่อนข้างแน่น ดอกเพศผู้มักจะมีกลิ่นหอมแรงกว่าดอกเพศเมีย ผลเป็นผลแห้ง มี ๓ ปีก ช่วงที่มีผลแห้งต้นเหนือดินมักจะตายไปแล้ว เห็นเป็นเถาสีนวลอมน้ำตาลอ่อน มีผลห้อยระย้า ระเกะระกะอยู่ตามไม้ใหญ่ที่ต้นเคยเลื้อยพันอยู่ หลายชนิดของพืชสกุลนี้ใช้หัวทั้งใต้ดิน และตามเถา เป็นอาหารได้ จึงมีชื่อเรียกเป็นมันต่างๆ เช่น มันเสา (D. alataLinn.) มันขมิ้น หรือว่านพระฉิม (D. bulbiferaLinn.) และมันดง (D. glabra Roxb.)
เป็นต้น
ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปลูกมันพวกนี้อย่างจริงจัง มักจะเก็บหัวจากตามป่า ขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือโดยหัวตามเถา