สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมพสกนิกรทั่วทุกภาคของประเทศมา ๔๐กว่าปีแล้ว ได้ทรงพบว่าราษฎรไทยหลายท้องถิ่นมีฝีมือเป็นเลิศทางหัตถกรรมหลายชนิด สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ สมควรจะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของชาติสืบไป พระองค์จึงทรงทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะ และพระราชทรัพย์มาส่งเสริมงานหัตถกรรมแก่ราษฎร วัตถุประสงค์สำคัญก็คือ เพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่กสิกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือกสิกรที่ว่างจากฤดูเพาะปลูกให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยโบราณซึ่งกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภท แก่บุตรหลานของราษฎรที่ไร้ที่ทำกินขึ้น ณ บริเวณสวนจิตรลดาและเปิดสอนสมาชิกต่างจังหวัดในบริเวณพระตำหนักทุกภาค เวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ทรงรับเด็กยากจนและการศึกษาน้อยผู้ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการช่างใดๆ เข้ามาเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่ มาถ่ายทอดผลงานอันประณีตละเอียดอ่อนเหล่านี้ ทรงติดตามผลงานทุกชิ้น และพระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกทุกคนโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั่วไป
การที่พระองค์ท่านทรงริเริ่มพระราชกรณียกิจด้านนี้มากว่าสิบปี ก็ทรงเห็นสมควรที่จะจัดตั้งอาคารศิลปาชีพขึ้น ณ สวนจิตรลดา เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่างๆและเพื่อเป็นศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพจากราษฎรทั่วประเทศจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารศิลปาชีพขึ้นที่ข้างตึกที่ทำการกองราชเลขานุการในพระ องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยทรงใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ งานของศิลปาชีพเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพได้แพร่หลายกว้างขวาง เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎรไทยและชาวต่างประเทศ จากเดิมที่พระองค์ทรงใช้จ่ายเพื่อศิลปาชีพจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ได้มีผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ทรงจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคมพ.ศ. ๒๕๑๙ และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิด้วย ต่อมารัฐบาลได้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณประโยชน์ของมูลนิธิ จึงได้รับเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ โดยจัดตั้งเป็นกองศิลปาชีพขึ้น ในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มูลนิธิใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Foundation for the Promotion of Supplementary Occupations and Related Techniques of Her Majesty Queen Sirikit" หรือเรียกย่อๆ ว่า "The SUPPORT Foundation"
โรงฝึกสอนศิลปาชีพสวนจิตรลดา เปิดสอนงานศิลปาชีพแผนกต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๑๐แผนก แผนกถมเงินและถมทอง เป็นแผนกหนึ่งใน ๑๐ แผนก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลปัจจุบันทรงสนพระทัยเครื่องถม นอกจากได้ทรงเปิดแผนกถมเงินและถมทอง เพื่อสอนศิลปาชีพที่สวนจิตรลดาแล้ว ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้อธิบายถึงการออกแบบสินค้าศิลปาชีพฯ ภายในร้านจิตรลดา ไว้ในเรื่อง "พระราชกรณียกิจที่ทรงช่วยชุบชีวิตใหม่ให้ปวงประชา" ลงพิมพ์ในหนังสือ "เทอดทัดหัตถา" หน้า ๓๖-๓๗ ว่า
"องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงมีสายพระเนตรแหลมคม ทรงเป็นนักประดิษฐ์คิดแบบด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะงานประณีตศิลป์ เครื่องเงิน เครื่องถม เครื่องจักสานนานาชนิด ที่เป็นพิเศษได้แก่ ย่านลิเภา ทรงเข้มงวดในการออกแบบ ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง"
"ช่างถม" ได้มีโอกาสแสดงฝีมือประดิษฐ์ส่วนประกอบที่ใช้กับกระเป๋าย่านลิเภา ทำให้กระเป๋าย่านลิเภาสวยงาม เฉิดฉายยิ่งขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ช่างเครื่องถมและผู้ได้ใช้ไปด้วย
เรื่อง "พระบารมีปกเกล้า" ธนาคารกรุงเทพจัดพิมพ์เนื่องในพิธีรัชดาภิเษก พ.ศ. ๒๕๑๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตรัสเล่าว่า "สิ่งที่ข้าพเจ้าอดจะนำมาเล่าสู่กันฟังมิได้ก็คือพระราชินีนาถ อลิซะเบธ ได้โปรดให้จัดของไทยๆ เช่น ขันน้ำและพานรองลงยาราชาวดี หีบทองลงยา ตลับยานัตถุ์ทองลงยา ซองบุหรี่ทองลงยาดาบฝักทองคำจำหลักที่ยาถมตะทอง เป็นต้น มาประดับประดาแต่งห้องนั่งเล่นของเรา ภายในพระราชวังบักกิ้งแฮม เพื่อเราทั้งสองจะได้รู้สึก "เหมือนบ้าน" ของเหล่านั้นเป็นของขวัญที่รัชกาลที่ ๔ ส่งไปพระราชทานควีนวิคตอเรียโดยโปรดเกล้าฯ ให้ราชทูตมีพระยามนตรีสุริยวงศ์และคณะคือ หม่อมราโชทัย เป็นต้น นำไปถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ หรือ ค.ศ. ๑๘๕๗ ตามธรรมดาได้ยินว่าของเหล่านี้เก็บอยู่ในพระราชวังวินด์เซอร์"
ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อมีการเสด็จประพาสนานาประเทศก็ดี ในการต้อนรับราชอาคันตุกะที่มาเฝ้าในประเทศไทยก็ดี ของขวัญ ของกำนัลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ประมุขของประเทศ หรือคนสำคัญของประเทศนั้นๆ ตลอดจนราชอาคันตุกะต่างๆ นั้น มักเป็นเครื่องเงินไทย คือ เครื่องถม หรือเครื่องถมตะทองแทบทั้งสิ้น เมื่อครั้งเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาในพ.ศ. ๒๕๐๓ ได้เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลที่พระองค์ประสูติ ณ เมืองบอสตันได้พระราชทานหีบบุหรี่ถมทองแก่หมอวิตต์มอร์นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติ และตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลทั้ง ๔ คน ที่ได้ร่วมในการถวายประสูติและอภิบาลพระองค์ท่าน เครื่องถม จึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่เชิดหน้าชูตาของชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย นับแต่สมัยโบราณตราบถึงปัจจุบันนี้