
กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของการเงิน จึงเป็นที่ตั้งของธนาคารหลายแห่ง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยที่รัฐจัดตั้งขึ้น ตั้งอยู่ที่แขวงบางขุนพรหม เขตดุสิต ในบริเวณซึ่งเดิมเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เริ่มตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อให้เป็นธนาคารชาติหรือธนาคารกลางของประเทศ ควบคุมธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ตั้งขึ้นโดยเอกชนเพื่อธุรกิจ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ธนาคารพาณิชย์เริ่มกิจการขึ้นก่อนธนาคารชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ทรงตั้งสำนักงานรับฝากเงินขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ที่แขวงบ้านหม้อ ใช้ชื่อสำนักงานนี้ว่า "บุคคลัภย์" ซึ่งถอดมาจากภาษาอังกฤษว่า "Book Club Association" ต่อมมาขยายกิจการสำนักงานนี้เป็นรูปธนาคาร ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Siam Commercial Bank" ภาษาไทยใช้ว่า "แบงก์สยามกัมมาจล จำกัด" และภายหลังเปลี่ยนเรียกชื่อใหม่เป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์" ซึ่งขณะนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ ใกล้สะพานลอยประตูน้ำ และมีธนาคารสาขาหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด