โครงการตามพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ มีหลายโครงการ และหลายวัตถุประสงค์ คือ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การรักษาต้นน้ำลำธาร การผลิตไฟฟ้า การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม การบรรเทาอุทกภัยและเพื่อประโยชน์อเนกประสงค์ นับถึง พ.ศ. ๒๕๒๙ มีจำนวนทั้งสิ้น ๗๘๔ โครงการ แยกจำนวนตามวัตถุประสงค์ ได้ดังนี้
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ในภาคเหนือมี ๓๑๙ โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ๑๙๔ โครงการ ภาคกลางมี ๑๕๓ โครงการ ภาคใต้มี ๘๐ โครงการรวมทั้ง หมด ๗๔๖ โครงการ
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร ในภาคเหนือมี ๘ โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ๑ โครงการ รวม ๙ โครงการ
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้ามีเฉพาะในภาคเหนือรวม ๓ โครงการ
โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มมีเฉพาะในภาคใต้ ๑๙ โครงการ
โครงการบรรเทาอุทกภัย ในภาคกลางมี ๔ โครงการ ภาคใต้มี ๑ โครงการ รวมเป็น ๕ โครงการ
โครงการเพื่อประโยชน์อเนกประสงค์ ในภาคเหนือมี ๑ โครงการ ภาคใต้มี ๑ โครงการ รวมเป็น ๒ โครงการ
โครงการที่สำคัญๆ คือ
โครงการฝายทดน้ำบ้านหนองหอย บริเวณบ้านหนองหอย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มก่อสร้างและเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๖ กรมชลประทานรับผิดชอบ จัดสร้างเป็นโครงการแหล่งน้ำโครงการแรกในภาคเหนือ มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นห้วยแม่รอกที่บริเวณที่บริเวณบ้านหนองหอย ให้ราษฎรมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเพาะปลูกพืชผักและพืชเมืองหนาวในพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๓๐๐ ไร่
โครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อระบายน้ำออกจากพรุลงทะเล แก้ไขปัญหาอุทกภัยของพื้นที่รอบๆ พรุในฤดูฝน และเพื่อจัดสรรที่ดินบริเวณขอบพรุซึ่งน้ำแห้งประมาณ ๑๑๙,๐๐๐ ไร ่ กรมชลประทานรับผิดชอบขุดลอกคลอง สร้างประตูระบายน้ำ ขุดคลองระบายน้ำ และสร้างอาคารประกอบต่าง ๆ
โครงการมูโนะ จังหวัดนราธิวาส
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ และเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ กรมชลประทานวางโครงการและก่อสร้างสนองพระราชดำริเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เพื่อการระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม และการชลประทานเพื่อการเพาะปลูกให้แก่ราษฎร ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก และราษฎรอำเภอตากใบ
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก ตำบลแคมป์สน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านในลักษณะหมู่บ้านอาสาสมัครป้องกันตนเอง โดยพัฒนาพื้นที่ดิน จำนวน ๔๔,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์กับจังหวัดพิษณุโลก ให้แก่ทหารผ่านศึก ทหารกองหนุน อาสาสมัครและครอบครัว พัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงลักษณะพื้นที่บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำให้สามารถเพาะปลูกไม้ผล ไม้ฟืน และพืชอื่นๆ ตามหลักวิชาการ ส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปลาเพื่อเลี้ยงในบ่อและเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน
โครงการแม่งัด จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคเหนือ โดยกรมชลประทานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มีระบบส่งน้ำชลประทานให้แก่พื้นที่ท้ายอ่าง รวมพื้นที่ได้รับประโยชน์ ๑๘๘,๐๐๐ ไร่ สามารถส่งน้ำให้ราษฎรเพาะปลูกได้ตลอดปี และบรรเทาอุทกภัยจากลำน้ำแม่ปิง
โครงการน้ำเชิน จังหวัดขอนแก่น
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางให้แก่ราษฎรในเขตอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วยเขื่อนทดน้ำและอาคารประกอบ และมีระบบส่งน้ำไปเชื่อมกับโครงการสหกรณ์ลำน้ำเชิน สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ และในฤดูแล้งได้อีกประมาณ ๑๕,๐๐๐ ไร่
โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านสร้างแก้ว หมู่บ้านส้างแก้ว ตำบลส้างแก้ว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นโครงการแหล่งน้ำโครงการแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างเขื่อนดินปิดกั้นลำห้วยธรรมชาติ มีระบบการส่งน้ำและรับน้ำกระจายไปยังพื้นที่ ๕๐๐ ไร่ ให้เพาะปลูกและอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานในพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี
เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ และเสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรแหล่งน้ำในโครงการมีดังนี้
ฝายและอ่างเก็บกักน้ำคลองน้ำเขียว อำเภอสระแก้ว
อ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำห้วยชัน ฝายห้วยซับ ฝายห้วยพยุง ฝายโป่งประทุน ฝายคลองยาง และระบบส่งน้ำในพื้นที่อำเภอวัฒนานคร
อ่างเก็บน้ำและระบบคลองส่งน้ำท่ากะบาก อำเภอสระแก้ว