ปัจจุบันพลาสติก (plastic) มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เครื่องมือเครื่องใช้และวัสดุก่อสร้างหลายชนิดทำด้วยพลาสติก เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนจำพวกจานชาม ขวดโหลต่างๆ ของเล่นเด็ก วัสดุก่อสร้าง สีทาบ้าน กาวติดไม้และติดโลหะ
อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น เหตุที่พลาสติกเป็นที่นิยมเพราะมีราคาถูกมีน้ำหนักเบา ทนความชื้นได้ดี ไม่เป็นสนิม ทำให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามต้องการได้ง่ายกว่าโลหะ เป็นฉนวนไฟฟ้า มีทั้งชนิดโปร่งใสและมีสีต่างๆ กัน ด้วย
เหตุนี้พลาสติกจึงใช้แทนโลหะหรือวัสดุบางชนิด เช่น แก้ว ได้เป็นอย่างดี แต่พลาสติกก็มีข้อเสียหลายอย่างด้วยกันคือ ไม่แข็งแรง (รับแรงดึง แรงบิดและแรงเฉือนได้ต่ำมาก) ไม่ทนความร้อน (มีจุดหลอมเหลวต่ำ) ติดไฟง่าย และไม่คงรูป จึงทำให้ขอบเขตการใช้งานของพลาสติกยังไม่กว้างเท่าที่ควร
คำว่า "พลาสติก" มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า plastikas ซึ่งหมายความว่า หล่อหรือหลอมเป็นรูปร่างได้ง่าย ทั้งนี้เพราะพลาสติกสามารถนำมาหล่อให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามแบบโดยใช้ความร้อนและแรงอัดเพียงเล็กน้อยจุดหลอมตัวของพลาสติกอยู่
ระหว่าง ๘๐-๓๕๐ องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติก จะเห็นได้ว่าจุดหลอมตัวของพลา-สติกต่ำกว่าโลหะมาก วัตถุเครื่องใช้ที่ทำด้วยพลาสติก และเราเห็นคุ้นเคยอย่างดีได้แก่ ตู้วิทยุ ตู้โทรทัศน์โทรศัพท์ หวี กรอบแว่นตา ถุงพลาสติกใส่ของ ของเล่นเด็ก ผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น นอกจากนี้ พลาสติกยังใช้ประโยชน์กับโลหะหรือวัตถุบางชนิด เช่น ทำพวงมาลัยรถยนต์ ใช้พลาสติกหุ้มเหล็กทำให้ไม่เป็นสนิมและกระชับมือยิ่งขึ้น พลาสติกใช้ทำไส้กลางระหว่างกระจกสองแผ่นประกบกัน เรียกว่า กระจกนิรภัย ใช้เป็นกระจกรถยนต์ เพราะเมื่อกระจกแตกจะไม่กระจาย พลาสติกใช้หุ้มสายไฟเป็นฉนวนไฟฟ้า
พลาสติกที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากปฏิกิริยาสังเคราะห์ทางเคมี ส่วนพลาสติกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและใช้มากคือ เชลแล็ก (shellac) พลาสติกเป็นสารประกอบอินทรีย์ (สารอินทรีย์หมายถึงสารซึ่งในโมเลกุลมีธาตุไฮโดรเจนและคาร์บอนรวมกันอยู่ อาจมีเพียงอะตอมของธาตุทั้งสองหรือมีอะตอมของธาตุอื่นรวมอยู่ด้วยเช่น มีเทน (CH4) เป็นสารอินทรีย์ที่มีแต่อะตอมของไฮโดรเจนและคาร์บอน กรดน้ำส้ม (CH3COOH) มีอะตอมของไฮโดรเจน คาร์บอน และออกซิเจนรวมอยู่ด้วย เป็นต้น)
พลาสติกประกอบไปด้วยโมเลกุลของธาตุหลายๆ ธาตุจับกันเป็นโมเลกุลใหญ่ที่เรียกว่า พอลีเมอร์
ลักษณะที่เด่นชัดของพลาสติกอยู่ตรงที่โมเลกุลของพลาสติกมีขนาดใหญ่โตกว่าสารอื่นๆ มาก
เราสามารถแบ่งพลาสติกออกได้เป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ
๑. เทอร์มอเซตติงพลาสติก (thermosetting plastic) เป็นพลาสติกชนิดที่จะแข็งตัวคงรูปอยู่ได้ โดยอาศัยปฏิกิริยาทางเคมี ปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นโดยอาศัยความร้อนและความกดดัน ภายหลังปฏิกิริยาเคมีมันก็จะแข็งตัว และเราจะไม่สามารถเปลี่ยนรูปของมันโดยไม่เปลี่ยนคุณสมบัติของมันได้กล่าวคือ เมื่อได้รับความร้อนมากๆ มันจะสลายตัวเสียรูปไป
๒. เทอร์มอพลาสติกพลาสติก (thermoplastic plastic) เป็นพลาสติกที่แข็งตัวโดยไม่อาศัยปฏิกิริยาทางเคมี แต่อาศัยคุณสมบัติทางกายภาพ เมื่อทำพลาสติกชนิดนี้ให้ร้อนขึ้นแล้วเทลงในเบ้าหรือแบบมันก็จะเปลี่ยนรูปร่างไปตามแบบนั้น และเมื่อเย็นลงก็จะแข็งตัวคงรูปอยู่ได้ และเมื่อเป็นรูปแล้วเราสามารถที่จะหลอมและเปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นได้อีก เพราะคุณสมบัติทางเคมีของมันยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงกรรมวิธีการหล่อพลาสติกสองอย่างนี้จะต่างกัน คือ เทอร์มอเซตติงพลาสติก จะต้องเอาออกจากแบบเวลาร้อน ส่วนเทอร์มอพลาสติกพลาสติก จะต้องทิ้งไว้ให้เย็นในแบบก่อนนำออกมาใช้
พลาสติก
พลาสติก, พลาสติก หมายถึง, พลาสติก คือ, พลาสติก ความหมาย, พลาสติก คืออะไร
พลาสติก, พลาสติก หมายถึง, พลาสติก คือ, พลาสติก ความหมาย, พลาสติก คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!