ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ หมายถึง, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ คือ, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ ความหมาย, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ

          เยาวชนผู้พิการมีอยู่ในสังคมของทุกประเทศตลอดมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน  แต่บริการทางการศึกษาพิเศษที่จะสนองความต้องการของเยาวชนเหล่านี้ที่เป็นพื้นฐานของการจัดการศึกษาพิเศษในปัจจุบันได้เกิดขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โดยเริ่มมีการพัฒนากระบวนการที่มีประสิทธิภาพสอนเด็กตาบอดและหูหนวกและในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่  ๑๙ ได้มีความพยายามจัดระบบการให้การศึกษากับเด็กปัญญาอ่อน  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดการศึกษาให้กับเด็กปัญญาอ่อน  และเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ในปัจจุบัน  ในช่วงก่อนหน้านี้เรื่องที่สังคมทำได้ดีที่สุด คือให้ความคุ้มครองเยาวชนผู้พิการโดยจัดเป็นสถานที่พิเศษให้เด็กเหล่านี้มาอยู่รวมกัน เพื่อปกป้องเด็กจากความโหดร้ายของโลกมนุษย์  ในสถานที่เช่นนี้เด็กเหล่านี้ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้   ต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสได้มีความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย  ความอิสระของบุคคลและความเชื่อที่ว่าคนทุกคนเกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกัน  ควรได้รับสิทธิและประโยชน์อันพึงได้เท่าเทียมกัน  ความคิดเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติ  กล่าวคือ ได้มีการสนับสนุนให้สอนทักษะให้กับเด็กและผู้ใหญ่พิการ  ให้เป็นคนที่สามารถดำรงชีวิตอิสระและเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการให้ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์แก่บุคคลพิการที่ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน
          ผู้ที่ริเริ่มการศึกษาพิเศษส่วนใหญ่เป็นแพทย์ในประเทศทางยุโรป  เป็นคนหนุ่มสาวมีความทะเยอทะยานที่กล้าท้าทายความเชี่ยวชาญล้ำลึกของผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการที่เป็นเพื่อนและครูของเขาในขณะนั้น

          อิทารด์  (Itard) (พ.ศ. ๒๓๑๘ - ๒๓๘๑) แพทย์ชาวฝรั่งเศส  มีความเชี่ยวชาญทางโรคหู   และการให้การศึกษาแก่นักเรียนหูหนวกเขาเป็นคนแรกที่พยายามสอนเด็กชายวิคเตอร์ (Victor) อายุ ๑๒ ปี ที่อาศัยอยู่ในป่าในประเทศฝรั่งเศสในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เขาไม่สามารถช่วยให้วิคเตอร์หายพิการได้  เพียงแต่ช่วยให้วิคเตอร์มีพฤติกรรมที่เป็นมนุษย์มากขึ้นโดยใช้กระบวนการสอน  เขาเป็นผู้ค้นคิดวิธีการปรับพฤติกรรม  เป็นผู้สร้างระบบการศึกษาแบบการสอนพูดให้กับเด็กหูหนวก  และทำให้มีผู้เชี่ยวชาญการฝึกพูดและฝึกฟังในเวลาต่อมา  เขาเป็นบิดาแห่งการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กปัญญาอ่อนและร่างกายพิการด้วย

         ชีกวิน (Sequin) (พ.ศ. ๒๓๕๕-๒๔๒๓) เป็นลูกศิษย์ของอิทารด์  ได้อพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๑  เป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลกในการให้การศึกษาแก่เด็กปัญญาอ่อน  แม้ว่าในขณะนั้นเกือบทุกคนแน่ใจว่าไม่สามารถที่จะสอนอะไรที่สำคัญๆให้แก่เด็กปัญญาอ่อนได้  ชีกวินได้รับปริญญาทางการแพทย์ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ งานเขียนของเขาเป็นงานที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการของอิทารด์ซึ่งเป็นพื้นฐานให้กับงานของมอนเทสซอรี(Montessori) ในเวลาต่อมา

          มอนเทสซอรี (Montessori) (พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๙๕)  เป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศอิตาลีที่ได้รับปริญญาทางการแพทย์   เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักการศึกษาสำหรับเด็กปัญญาอ่อนและยังเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมการให้การศึกษาสำหรับเด็กวัยก่อนประถมศึกษา  และเด็กที่มีพัฒนาการในช่วงต้นๆ ของชีวิต เป็นผู้สานต่องานของอิทารด์
          ในประเทศสหรัฐฯผู้ที่มีความสนใจในการให้การศึกษาแก่เด็กพิการ  คือ ฮาว (Howe) (พ.ศ.๒๓๔๔-๒๔๑๙)  ซึ่งเป็นทั้งแพทย์และนักการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดเปอร์กินส์ (Perkins) ในเมืองวอเตอร์ทาวน์ (Watertown) รัฐแมสซาชูเซต  และเป็นครูสอนเด็กพิการซ้อนคือ หูหนวกและตาบอด  ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการสอน  ลอร่า บริดจ์แมน(Laura Bridgman)  ผู้ซึ่งทั้งหูหนวกและตาบอดความสำเร็จนี้ก็มีอิทธิพลต่อการศึกษาของเฮเลนเคลเลอร์  (Helen Keller)  เป็นอย่างมาก  และนอกจากนี้ฮาวยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อทดลองสอนเด็กปัญญาอ่อนในแมสซาชูเซต ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ และรู้จักกับชีกวินเป็นอย่างดี

          กาลอเด็ต  (Gallaudet)  (พ.ศ. ๒๓๓๐-๒๓๙๔)  เป็นบาทหลวง  ได้พบเด็กหูหนวกคนหนึ่งและพยายามสอนเด็กคนนี้ขณะที่กาลอเด็ตเองยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่สถาบันสอนศาสนา  ในปี  พ.ศ. ๒๓๖๐ เขาได้จัดตั้งโรงเรียนประจำแห่งแรกสำหรับเด็กหูหนวกในเมืองฮาร์ตฟอร์ด (Hart-ford)  มลรัฐคอนเนกติกัต  ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีมหาวิทยาลัยกาลอเด็ต  เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่รับนักศึกษาหูหนวกเข้าเรียนจนถึงระดับปริญญาเอกซึ่งตั้งชื่อโดยใช้ชื่อของกาลอเด็ตเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
          นอกจากนี้  ยังมีบุคคลอื่นๆ  ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาพิเศษทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ  ในโลก คือ ปิเอเจย์ (Piaget) นักจิตวิทยาพัฒนาการ  และฟรอสติก (Frostig) นักสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช  และนักฟื้นฟูบำบัดที่เคยทำงานในประเทศออสเตรียและโปแลนด์   ได้อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑  ต่อมาได้รับการศึกษาด้านจิตวิทยาและได้ทำงานกับเด็กปัญญาอ่อน  ยุวอาชญากรและเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้  ทำให้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาการศึกษาพิเศษ  โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
          สเทราสส์ (Strauss)  เป็นนักประสาทวิทยาและเวอร์เนอร์ (Werner)  นักจิตวิทยาพัฒนาการได้เริ่มโปรแกรมฝึกอบรมและดำเนินงานวิจัยในมลรัฐมิชิแกน  ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาพิเศษตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓  จนถึงปัจจุบัน

          ฮอบส์ (Hobbs) นักจิตวิทยาและนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง  รู้สึกประทับใจต่อการปฏิบัติอาชีพในบทบาทต่างๆ ของนักการศึกษาในยุโรป  ในการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม  ก็ได้ริเริ่มโปรแกรมช่วยเด็กเหล่านี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๕๐๓  นับเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์

ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ หมายถึง, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ คือ, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ ความหมาย, ประวัติความเป็นมาของการศึกษาพิเศษ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu