เป็นยาปราบศัตรูพืชที่ใช้กันมากในขณะนี้ ซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ในจำพวกนี้ที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปก็คือ พาราไธออน (Parathion) หรือในนามของยาโฟลิดอล (Folidol) E 605 หรือยาเขียวฆ่าแมลงหรือยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้ ยานี้ได้มีหลายบริษัทผลิตออกจำหน่ายซึ่งมีชื่อทางการค้าต่างๆ กันเช่น อีคาท็อกซ์ (Ekatox) เพอร์เฟคไธออน (Perfekthion) เมตาซีสต๊อกซ์ (Metasystox) โอโซ (OZo) ออร์โธฟอส (Orthophos) พาราเฟต (Paraphate) เป็นต้น
ห้างร้านหรือบริษัทในประเทศไทยบางรายได้นำสารนี้มาผสมและจำหน่าย มีชื่อในทางการค้าต่างๆ กัน เช่น ยาฆ่าแมลง ๑๐๐% บ้าง ยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้บ้าง และสูตรทางเคมีก็มีวิวัฒนาการเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสารเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง แต่กลไกในการออกฤทธิ์ยังคงเหมือนเดิม ฉะนั้น พาราไธออนจึงเป็นตัวแทนของสารกลุ่มนี้
ในปัจจุบัน พาราไธออนกำลังเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในประเภท "อันตรายอันเกิดจากสิ่งมีพิษ"
พาราไธออนเป็นสารประกอบ ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า Diethyl-p nitrophenylthio-phosphate มีสูตรทางเคมีว่า C10H14NO5PS มีลักษณะเป็นวัตถุเหลวข้น สีเหลืองหรือสีน้ำตาลแก่ สารชนิดนี้ละลายน้ำได้เพียงเล็กน้อยประมาณ 1 :50,000 แต่ละลายได้ดีในอีเธอร์และคลอโรฟอร์ม และจะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกกับกรดหรือด่าง หรือถูกกับแสงแดด มีกลิ่นเหม็น ผู้ที่เคยดมกลิ่นเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้เพราะมีกลิ่นเหม็นเป็นพิเศษ
โดยปกติร่างกายเมื่อมีการทำงานของระบบประสาทต่างๆ จะเกิดสารเคมีชนิดหนึ่ง เรียกว่า อเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำกระแสประสาทผ่านไปยังอวัยวะที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง และจะถูกย่อยและสลายไปตามธรรมชาติในร่างกายโดยเอนไซม์ที่เรียกว่า โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) และจะเกิดขึ้นมาใหม่อีกเมื่อมีการกระตุ้นของระบบประสาทดังกล่าว
การออกฤทธิ์ของยาฆ่าแมลงพวกนี้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะไปจับกับเอนไซม์ โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) กลายเป็นสารคงทนถาวรสลายตัวได้ยาก และกินเวลานาน ฉะนั้นจึงไม่มีเอนไซม์ไปย่อยหรือสลายอเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ที่เกิดขึ้นในร่างกายให้หมดไปตามธรรมชาติ ดังนั้นร่างกายจะมี acetylcholine คั่ง หรือเพิ่มมากขึ้นทุกที จนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย ฉะนั้นพิษของพาราไธออนก็คือการที่มีอเซตทิลโคลินในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการที่เกิดจากพิษพาราไธออนก็เหมือนกับการกระตุ้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
อาจแบ่งได้ดังนี้
(๑) อาการที่เนื่องจากการกระตุ้นปลาย ประสาทพาราซิมพาเธติก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระยะแรก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นช้า แน่นและเจ็บบริเวณทรวงอก ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น ม่านตาจะหรี่เล็กลง มีอาการท้องเดิน ถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะโดยกลั้นไม่อยู่ หลอดลมมีเสมหะมาก น้ำลายออกมากหลอดลมตีบ หน้าเขียวคล้ำ
(๒) อาการที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นกล้ามเนื้อจะพบว่า มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อตามจะพบได้ที่ลิ้น ตามหน้าตา ต่อไปจะเป็นทั่วร่างกาย ถ้ามากขึ้นจะมีอาการคล้ายตะคริว ถ้ามีอาการกระตุ้นมากขึ้นในที่สุดจะเกิดอาการเพลียขึ้นตามกล้ามเนื้อทั่วไป และอาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ในรายที่รุนแรงมากจะทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเกิดเพลียลง และเป็นสาเหตุที่ช่วยทำให้หายใจไม่ได้ด้วย
(๓) อาการทางสมอง ได้แก่ มึนศีรษะปวดศีรษะ งง กระสับกระส่าย ตื่นตกใจง่าย และอารมณ์พลุ่งพล่าน ถ้าอาการรุนแรงมากอาจมีอาการชักและหมดสติได้
อาการของผู้ป่วยจะเริ่มต้นด้วยคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมาก และซึม ถ้าอาการรุนแรงทำให้หมดสติน้ำลายฟูมปาก อุจจาระปัสสาวะราด กล้ามเนื้อทั่วตัวกระตุก ชัก หายใจลำบาก เขียว และหยุดหายใจ
ขนาดของพาราไธออนที่ทำให้ตาย เฉลี่ยเพียง ๓๐๐ มิลลิกรัม หรือเท่ากับพาราไธออนชนิดเข้มข้นร้อยละ ๕๐ ไม่เกิน ๑๕ หยด