ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หมายถึง, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คือ, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ความหมาย, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

          ปัญหามลพิษที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมีมากมาย  มิใช่แต่เพียงมลพิษทางอากาศทางน้ำ  หรือทางเดินที่เรารู้จักกันดีเท่านั้น  การที่สภาวะแวดล้อมของเราเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นของการพัฒนาบ้านเมือง   ซึ่งจะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้นั้น  หากมิได้มีการวางแผนอย่างถี่ถ้วนรัดกุม  การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจกลายเป็นปัญหามลพิษ  ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนได้ 
          ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับเมืองเรา  คือ  การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานครได้ก่อให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อมอย่างมากมายจนกระทั่งบางเรื่องอาจลุกลามใหญ่โตจนไม่สามารถแก้ไขได้ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเรา
         การที่เมืองขยายออกไป ผืนดินที่ใช้ทางการเกษตรที่ดีก็ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัย  ที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มกลับกลายเป็นแหล่งชุมชน คลองเพื่อการระบายน้ำถูกเปลี่ยนแปลงเป็นถนนเพื่อการคมนาคม แอ่งที่จะเป็นที่ขังน้ำถูกขจัดให้หมดไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ  เมื่อถึงหน้าน้ำหรือเมื่อฝนตกใหญ่ กรุงเทพมหานครจะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกครั้ง  น้ำท่วมก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพมากมาย  เริ่มต้นด้วยโรคน้ำกัดเท้า และต่อไปก็อาจเกิดโรคระบาดได้ 
          ปัญหาขยะก็เป็นมลพิษที่สำคัญอีกประการหนึ่งหากเมืองใหญ่ขึ้น ผู้คนมากขึ้น ของทิ้งก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา การเก็บขยะให้หมดจึงเป็นปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่ๆ ต่างๆ หากเก็บขยะไปไม่หมด ขยะก็จะสะสมหมักหมมอยู่ตามสถานที่ต่างๆ  เป็นที่เพาะเชื้อโรค และแพร่เชื้อโรค ทำให้เกิดลักษณะเสื่อมโทรมสกปรก นอกจากนี้ ขยะยังทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ เมื่อมีผู้ทิ้งขยะลงไปในน้ำ การเน่าเสียก็จะเกิดขึ้นในแหล่งนั้นๆ
          การจราจรที่แออัดนอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องเสียงติดตามมาด้วย    เพราะยวดยานที่ผ่านไปมาทำให้เกิดเสียงดังและความสะเทือน    เสียงที่ดังเกินไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้  บางคนดัดแปลงยานพาหนะของตนไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ทำให้เสียงดังกว่าปกติ  โดยนิยมกันว่าเสียงที่ดังมากๆ นั้น เป็นของโก้เกคนเหล่านั้นหารู้ไม่ว่าตนกำลังทำอันตรายให้เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น  เสียงที่ดังเกินขอบเขตจะทำให้ เกิดอาการทางประสาท   ซึ่งอาจแสดงออกเป็นอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะหรือทางอารมณ์ เช่น เกิดอาการหงุดหงิด ใจร้อนควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ เป็นต้น  นอกจากนี้เสียงที่ดังเกินไปอาจทำให้เกิดความเสื่อมกับอวัยวะในการรับ
เสียงอีกด้วย  ผู้ที่ฟังเสียงดังเกินขอบเขตมากๆ จะมีลักษณะหูเสื่อม ทำให้การได้ยินเสื่อมลง เป็นต้น
          ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาสารมลพิษที่แปลกปลอมมาในสิ่งที่เราจะต้องใช้บริโภค  อาหารที่เราบริโภคกันอยู่ในทุกวันนี้อาจมีสิ่งเป็นพิษปลอมปนเข้ามาได้ โดยความบังเอิญหรือโดยความจงใจ 
          การใช้สารมีพิษเพื่อการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน   ความสนใจในโทษของสารเคมีที่ใช้ในการปราบศัตรูพืชยังมีน้อยมาก ในประเทศไทย วัตถุมีพิษที่ใช้ในกิจการดังกล่าวส่วนใหญ่สั่งซื้อมาจากต่างประเทศ  ที่นิยมใช้กันอยู่มีประมาณ ๑๐๐ กว่าชนิด วัตถุมีพิษเหล่านี้ผสมอยู่ในสูตรต่างๆ  มากกว่า  ๑,๐๐๐  สูตร เมื่อมีการใช้วัตถุมีพิษอย่างแพร่หลายมากเช่นนี้  สารมีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม และสารมีพิษตกค้างในอาหาร  ซึ่งทำให้ทั้งคนและสัตว์ได้รับอันตราย จึงปรากฏมากขึ้น จากการวิเคราะห์ตัวอย่างต่างๆ พบว่า ปริมาณสารมีพิษประเภทยาฆ่าแมลงต่างๆ  ที่ตกค้างในน้ำและในสัตว์น้ำมีแนวโน้มของการสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  แม้ว่าบางกรณีปริมาณวัตถุมีพิษที่สะสมอยู่ในสัตว์น้ำที่ประชาชนใช้บริโภคอยู่ จะมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานที่บางประเทศกำหนดไว้ก็ตาม  หากคิดว่าโดยปกติคนไทยจะนิยมบริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหารหลักด้วยแล้ว ปัญหานี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวอันตรายมาก
          ในบรรดาพืชผักต่างๆ ที่วางขายตามท้องตลาดก็มีการตรวจพบสารพิษชนิดต่างๆ ตกค้างอยู่เป็นส่วนใหญ่ ผักส่วนใหญ่มีวัตถุมีพิษปะปนอยู่ต่ำกว่าระดับค่าปลอดภัย แต่ก็พบว่ามีผักบางชนิดที่มีสารมีพิษปะปนอยู่เกินระดับค่าปลอดภัยสารพิษบางชนิดมีพิษสูงและมีฤทธิ์ตกค้างนาน 
          อาหารสัตว์หรืออาหารผสมที่ใช้เลี้ยงสัตว์ที่เราบริโภคนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากผลิตผลทางการเกษตรทั้งสิ้น   ดังนั้นสารพิษที่ปะปนมากับผลิตผลทางการเกษตรก็ย่อมทำให้มีสารพิษปะปนในอาหารสัตว์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเติมสารเคมีบางชนิดลงไปในอาหารสัตว์เป็นปริมาณมากอีกด้วย สารเคมีเหล่านี้บางชนิดหากคนบริโภคเข้าไปเป็นปริมาณสูงจะเกิดอันตราย  จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า  ไข่และเนื้อสัตว์ต่างๆ มีสารพิษต่างๆ ปะปนอยู่  บางชนิดปริมาณสูงกว่าชนิดอื่นๆ  แต่โดยทั่วไปปริมาณที่พบยังคงอยู่ในระดับต่ำ  ยกเว้นในพวกไขมันสัตว์ ซึ่งจะมีการสะสมวัตถุมีพิษนี้สูงมากจนน่ากลัวอันตราย
         นอกจากปะปนของวัตถุมีพิษ  ตามตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว   ยังปรากฏว่าได้มีการนิยมผสมสารเคมีบางชนิดลงไปในอาหาร เพื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น  ทำให้เกิดความสวยงาม กันเสียกันบูด และเสริมรส เป็นต้น  สารเคมีที่ใช้ผสมในอาหารเหล่านี้บางชนิดจะใช้ไม่ได้เลยเพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง  หรือบางชนิดจะต้องใช้ตามมาตรฐานที่กำหนด มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ 
          ตัวอย่างที่น่าสนใจ  ได้แก่  สี่ที่ใช้ผสมอาหารสำหรับทำให้เกิดความสวยงาม  สีส่วนมากที่ใช้กันในปัจจุบัน มักเป็นสีสังเคราะห์ขึ้นโดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งจะต้องผลิตให้มีมาตรฐานสูงถึงขนาดที่กำหนดให้ นอกจากนี้ก็เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ  เช่น สีเขียวจากใบเตย สีแดงจากฝาดและกระเจี๊ยบแดง สีเหลืองจากขมิ้น สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน สีน้ำตาลจากน้ำตาลเคี่ยวไหม้ สีดำจากกาบมะพร้าวเผาให้เป็นถ่าน เป็นต้น
         ปัญหาที่น่าคิด  คือ  ปรากฏว่ายังมีผู้ใช้สีอย่างอื่นที่ไม่ใช่สีสำหรับบริโภคมาใช้เป็นสีผสมอาหารกันมากมาย  สีพวกนี้ ได้แก่ สีย้อมผ้า สีอินทรียสังเคราะห์ที่เป็นพิษ  ซึ่งห้ามไม่ให้ใช้ผสมอาหาร  สีต่างๆเหล่านี้มีสารพิษผสมเป็นส่วนประกอบ เช่น ตะกั่วปรอท แคดเมียม สารหนู และสารเคมีที่มีพิษอื่นๆซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปสะสมมากๆ  แล้ว  อาจก่อให้เกิดการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ  ชีพจรและการหายใจอ่อนลง มีผลต่อระบบประสาทและทำให้สมองเป็นอัมพาตสีบางประเภทจะไปจับอยู่ตามเยื่อกระเพาะอาหารและลำไส้  ขัดขวางการดูดซึมอาหาร   มีอาการท้องเดิน น้ำหนักลด  อ่อนเพลีย  สีบางชนิดอาจทำให้เกิดเป็น มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะอื่นๆ ได้
          สารกันเสียหรือกันบูด เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติสามารถฆ่า หรือยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์  สารกันเสียที่จะใช้ใส่อาหารได้นั้น  จะต้องเป็นชนิดที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาต  และจะต้องใช้ในปริมาณที่วางมาตรฐานกำหนดไว้ ที่นิยมกันมาก ได้แก่ เบนโซเอต ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นเข้ากับอาหารได้ทุกชนิด  และไม่สลายตัว (แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถกลืนเอาสีของอาหารไว้ได้  ทำให้อาหารสีคล้ำถ้าเก็บไว้นาน)  ปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้คือ  ๑,๐๐๐ มิลลิกรัมต่ออาหารหนัง ๑ กิโลกรัมแต่ถ้าใช้มากเกินไป  จะทำให้เกิดอาการผิดปกติในกระเพาะอาหาร และระบบทางเดินอาหารได้
          พวกไนเตรตและไนไตรต์รวมทั้งดินประสิว  ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันบูดในอาหารประเภทเนื้อสัตว์  ทำให้เนื้อมีสีแดง ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้เม็ดเลือดแดงผิดปกติ ไม่สามารถนำออกซิเจนได้ดี ทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออกและชักได้  บางครั้งทำให้หลอดเลือด ขยายตัว ปวดศีรษะ แรงดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นเร็วอาการอื่นๆ  มีการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและฃลำไส้  ทำให้ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ถ้ามีมากเกินไป อาจทำให้เกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบอาเจียน หรืออุจจาระเป็นเลือดคั่ง และอาจทำให้ถึงกับตายได้  ที่สำคัญ คือ  ดินประสิวจะทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางชนิดในเนื้อปลาและสัตว์อื่นๆ  ทำให้เกิดเป็นไนไทรซามีน ซึ่งอาจเห็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เช่น ตับ ไต ปอดจมูก หลอดอาหาร ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีสารกันบูดบางชนิดที่ห้ามใช้ผสมอาหาร เช่น กรดบอริกกรดซาลิซิลิก เพราะมีอันตรายต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้มีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียนหายใจขัด ประสาทหูเสื่อม และมีอาการประสาทหลอน เป็นต้น
          บางครั้งผู้ผลิตอาหารผสมสารเคมีบางอย่างลงไปเพื่อให้อาหารมีลักษณะหรือรสชาติดีขึ้น  เช่น  ใส่สารบอแรกซ์  หรือน้ำประสานทอง ซึ่งมักเรียกกันว่า ผงกรอบ หรือผงเนื้อมัน สารบอแรกซ์นี้ ทำให้อาหารกรุบ กรอบ  หรือทำให้เหนียว  ดังนั้นจึงนิยมใช้ผสมอาหารต่างๆ เช่น ลูกชิ้น หมูยอ กุ้งชุบแป้งทอดมะม่วงดอง และทับทิมกรอบ เป็นต้น สารบอแรกซ์เป็นสารพิษ ซึ่งห้ามใช้ใส่อาหารทุกชนิด  บอแรกซ์ที่บริโภคเข้าไปจะมีฤทธิ์สะสม  เพราะบอแรกซ์จะถูกดูดซึมเข้าทางลำไส้รวดเร็ว หากมีการสะสมบ่อยๆ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทวาร ทางเดินของอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อย หากเป็นพิษอย่างรุนแรง เพราะสะสมมากจะคลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง ผิวหนังมีผื่นคันกล้ามเนื้อบริเวณหน้า มือ และเท้ากระตุก  ตัวเหลืองไม่ปัสสาวะ ความดันเลือดต่ำ และอาจหมดสติเนื่องจากจุดควบคุมการหายใจถูกกด
          การปรุงอาหารในปัจจุบันนิยมเติมผงชูรส   ซึ่งความจริงเป็นการสังเคราะห์เกลือของกรดกลูทามิก  อันเป็นกรดอะมิโนอย่างที่มีอยู่ในโปรตีนทั้งในสัตว์และพืชสารนี้มีคุณสมบัติชูรสอาหารได้  จึงมีผู้นิยมใช้กันมากการใช้ผงชูรสควรใช้แต่น้อยๆ หากใช้มากเกินไป  อาจเกิดอันตรายได้  เพราะบางคนมีอาการแพ้ได้ง่าย จะมีอาการลิ้นชา ร้อนซู่ซ่าที่ลำคอและหน้า แน่นหน้าอกมึนงง ปวดศีรษะ เพลีย หัวใจเต้นแรง  หญิงมีครรภ์และทารกไม่ควรรับประทานผงชูรส   เพราะถ้าได้รับมากเกินไปอาจเป็นอันตรายได้ 
          ปัญหาที่ร้ายแรงของผงชูรส ในประเทศไทย คือ ผงชูรสปลอม เพราะมีผู้ทำผงชูรสปลอมโดยใช้สารเคมีราคาถูก  ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค  เช่น เกลือฟอสเฟต ซึ่งลักษณะคล้ายผงชูรสมาก หากรับประทานเข้าไปจะเกิดการท้องร่วงอย่างรุนแรง  บางครั้งผู้ปลอมใช้บอแรกซ์ ซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปมาก  อาจเกิดอาการรุนแรงถึงชีวิตได้
         นอกเหนือจากสิ่งที่บริโภคแล้ว  ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพยังมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องสำอาง สำหรับทั้งของบุรุษและสตรีได้แก่ เครื่องสำอางที่รักษาความสะอาดและเสริมกลิ่น เช่น สบู่ แชมพู  ครีมล้างหน้า ยาสีฟัน น้ำหอมครีมโกนหนวด และแป้งโรยตัว เป็นต้น เครื่องสำอางสำหรับเสริมแต่งความงาม  เช่น ลิปสติก ครีมทาเปลือกตา น้ำยาดัดผม น้ำยาย้อมผม แป้งผัดฃ หน้า และ สเปรย์ฉีดผม เป็นต้น และเครื่องสำอางที่มีตัวยาผสมอยู่  เช่น สบู่ยา ครีมรักษาฝ้า ครีมลอกสิว ครีมบำรุงผิว  น้ำมันใส่ผมรักษารังแค และครีมระงับกลิ่นตัว เป็นต้น
          ปัญหาจากเครื่องสำอางอาจมีสาเหตุตั้งแต่กรรมวิธีการผลิต  ซึ่งแม้มีการควบคุมแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการผลิตที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้มาตรฐาน จึงยังมีการใช้สารพิษเจือปนอยู่ ทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา สารพิษดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต  หรือเกิดความเสียหายกับอวัยวะบริเวณที่ใช้เครื่องสำอางนั้นก็ได้  การใช้เครื่องสำอางจึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง
          ผลิตภัณฑ์ที่เรานิยมใช้ชักล้างอยู่ในปัจจุบัน คือ บรรดาผงซักฟอกต่างๆ  ล้วนเป็นสารสังเคราะห์ทั้งสิ้นสารสังเคราะห์ทางเคมีบางตัวก่อให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ  ได้แก่ การเสื่อมสลายโดยวิธีธรรมชาติ  ทำให้เกิดความวุ่นวายต่อการย่อยสลาย  หรือเสริมสร้างให้เกิดปัญหาอื่นๆ  มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้โดยตรงด้วย เช่น การแพ้ผงซักฟอก  มักเกิดขึ้นในเด็กอ่อน ทำให้เกิดผื่นคัน เป็นแผลพุพองได้ ดังนั้น การซักผ้าจึงต้องใช้ผงซักฟอกแต่พอเหมาะ   และซักน้ำล้างผงซักฟอกออกให้หมดจริงๆ  ส่วนเสื้อผ้าเครื่องใช้ของเด็กอ่อนนั้น ซักด้วยสบู่จะปลอดภัยกว่า และน่าจะชักชวนให้เราหันกลับมาใช้สบู่กันเหมือนเดิมจะดีกว่าเพราะวัตถุดิบที่ใช้ทำสบู่ล้วนมีอยู่ในบ้านเรา
          ปัญหาต่างๆ  ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้  ทางแก้ไขมีอยู่ทั้งในด้านการวางระบบป้องกันและควบคุมให้รัดกุมขึ้น  ให้ผู้หลีกเลี่ยงลักลอบปลอมปนมีน้อยลง ขณะเดียวกันการให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนในปัญหาแต่ละเรื่องก็นับว่าสำคัญมาก  เพราะประชาชนจะได้ทราบ จดจำ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายเหล่านี้ได้

          (ดูเพิ่มเติมเรื่อง โภชนาการ เล่ม ๙)

สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หมายถึง, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คือ, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ความหมาย, สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 10

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu