ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต หมายถึง, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต คือ, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต ความหมาย, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต

          จิตเวชศาสตร์เป็นวิชาแพทย์ ซึ่งเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค การรักษาการป้องกัน และงานวิจัยโรคหรือความผิดปกติทางจิตใจ (mental disorders) 
          ปัจจุบันงานทางจิตเวชได้ครอบคลุมไปถึงรักษาทางจิตเวชในโรงพยาบาลทั่วไป การดูแลรักษาในชุมชน การให้คำปรึกษาแนะนำและการร่วมงานกับหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง เช่น  ศาล โรงเรียนและกรมประชาสงเคราะห์ เป็นต้น

          ในสมัยโบราณ  ชาวบ้านเชื่อถือเทวดา ผีสางนางไม้ จึงมักรักษาผู้ป่วยโรคจิต โดยการเฆี่ยนตีไล่ผีสะเดาะเคราะห์ ฯลฯ บางคนก็เชื่อปาฎิหาริย์  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น บ่อน้ำพรานบุญล้างเนื้อที่ใกล้พระพุทธบาท ใครป่วยเป็นโรคจิตโรคประสาทก็ไปตักน้ำบ่อนั้นมาอาบและกิน การเยียวยาแบบอื่น ได้แก่ การใช้รากไม้สมุนไพรและยานัตถุ์ เช่น เอาสมุนไพรบดผสมเป็นผงเป่าเข้าทางจมูก จนผู้ป่วยเมายา สงบจากความคลั่งได้ ถ้าไม่ทุเลาก็กักขัง  หรือถ้าอาละวาดก็อาจชกให้สลบลงไปแล้วล่ามโซ่จองจำไว้
          โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย คือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ยุคเดียวกับโรงพยาบาลศิริราช   ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒  "คนเสียจริต" จำนวน  ๓๐ คน ได้ถูกนำมาฝากรวมกันไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเดิมเป็นของพระยาภักดีภัทรากร  สถานที่แห่งนี้ขึ้นกับกระทรวงธรรมการ  มิได้มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลเช่น ปัจจุบัน ผู้ป่วยถูกขังไว้ในห้องลั่นกุญแจ  ล้อมลูกกรงเหล็กขนาดใหญ่  ผู้ป่วยคลั่งบางคนก็ถูกล่ามโซ่ตรวนหรือใช้ยาต้ม  หรือใช้ยานัตถุ์
          พ.ศ. ๒๔๔๘ เปลี่ยนชื่อเป็น "โรคพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสาน" ขึ้นกับกองแพทย์สุขาภิบาลใน กระทรวงนครบาล  ซึ่งมีนายแพทย์  เอช แคมป์เบลล์ ไฮเอ็ด  (H.Cambell Hyed) เป็นหัวหน้า การดูแลผู้ป่วยบกพร่องมากจนนายแพทย์ไฮเอ็ดต้องรายงานไปยังรัฐบาล จึงได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่  เปิดรับผู้ป่วยเมื่อเดือนกันยายน  พ.ศ. ๒๔๕๕ ผู้อำนวยการคนแรกเป็นแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ โมเดิร์น คาทิวส์ (Modern Cathews) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอายุรเวชวิจักษ์  โรงพยาบาลแห่งนี้มุงหลังคาสีแดง ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ (ยุคนั้นสถานที่ราชการในประเทศอังกฤษมีหลังคาสีแดงเป็นเครื่องหมาย) สีแดงมิได้เป็นสัญลักษณ์ของความวิกลจริตตามที่บางคนเข้าใจ
          ผู้อำนวยการคนต่อมา   คือ   นายแพทย์   อาร์เมนเดิลสัน  (R. Mendleson)  ศัลยแพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้จัด "นายแพทย์ผู้รักษาการ" ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ ประกอบด้วยแพทย์ ๖ ท่าน คือ พระเชษฐ์ไวทยากร (ต่อมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข) พระบรรจงพยาบาล (ต่อมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลป์)  พระชาญวิธีเวช (ต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) หลวงไมตรีแพทยารักษ์  (ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระ)   หลวงวิเชียรแพทยาคม  (ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคจิต และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม)  และหลวงพิจิตรภิสัชการ (ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง)
          พ.ศ. ๒๔๖๘    หลวงวิเชียรแพทยาคมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนแรกซึ่งเป็นแพทย์ไทย 
          พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลคนเสียจริตเป็น "โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี" 
          พ.ศ. ๒๔๘๕  นายแพทย์ฝน  แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล  และในปีนี้เองโรงพยาบาลโรคจิตได้ย้ายมาเข้าสังกัดกรมการแพทย์  เป็นยุคสำคัญของวิวัฒนาการโรงพยาบาลฝ่ายจิตและการศึกษาจิตเวชศาสตร์
         นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้วได้ก่อตั้งสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖  มุ่งหนักไปในทางส่งเสริมวิชาการแก่แพทย์ และจัดตั้งสมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์   ใน พ.ศ. ๒๕๑๐  มีวัตถุประสงค์ให้ความรู้ความเข้าใจและส่งเสริม สุขภาพจริต   สมาคมนี้จึงทำงานร่วมกับครูอาจารย์และผู้มีอาชีพอื่นๆ
         ปัจจุบัน มีภาควิชาจิตเวชศาสตร์ในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา หน่วยจิตเวชในโรงพยาบาลทั่วไปในบางจังหวัด  ได้แก่  ยะลา สระบุรี นครสวรรค์ ชลบุรี จันทบุรี และมีแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลทหารตำรวจ และเทศบาล
         นอกจากนี้ ได้มีการสอนวิชาสุขภาพจิตในหลักสูตรก่อนและหลังปริญญาในแขนงวิชาต่างๆ เช่น สาธารณสุขศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ครุศาสตร์  มนุษยศาสตร์ ทั้งนี้เพราะเป็นวิชาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชิวิตอย่างสร้างสรรค์ ทั้งแก่ตนเองผู้ใกล้ชิดในครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน

จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต หมายถึง, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต คือ, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต ความหมาย, จิตเวชศาสตร์ และสุขภาพจิต คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 10

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu