เรื่องของสังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ เปรียบเสมือนเหรียญเงินที่มีด้านหน้าและด้านหลัง สังคมนั้นหมายถึง กลุ่มคนที่อยู่รวมกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่งมาช้านาน จนมีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันและมีภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีทางในการดำรงชีวิตร่วมกันเป็นแบบอย่างเดียวกันวัฒนธรรมนั้นหมายถึง บรรดาขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา และทุกสิ่งทุกอย่างที่คนในสังคมนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสังคมก็ไม่มีวัฒนธรรม ทั้งสองอย่างจึงเป็นของคู่กันอย่างแยกไม่ออก
แต่ทว่าการที่จะทำความเข้าใจกับคำว่าสังคมและวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะดูเป็นนามธรรมที่ไม่อาจกำหนดให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ อย่างเช่น ถ้าหากว่าสังคมหมายถึงกลุ่มชนแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากำหนดเป็นกรอบเป็นเกณฑ์ว่ากลุ่มชนขนาดใดถึงจะเป็นสังคม อาจเป็นได้ทั้งกลุ่มคนที่รวมอยู่ในประเทศเดียวกันลงมาจนถึงเมือง บ้านและครัว-เรือนในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ส่งผลไปถึงวัฒนธรรม ทำให้บางสิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนแต่บางสิ่งก็ไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นสังคมไทยเป็นสังคมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นนี้เห็นได้ชัดทั้งบุคคลทุกผู้ทุกนามในประเทศ แต่ถ้าหากบอกว่าในประเพณีการเกิดของคนไทยนั้น เมื่อเด็กเกิดมาแล้วต้องมีแม่ซื้อกล่าวคือ สมมติให้มีหญิงที่คุ้นเคยกับครอบครัวของเด็กมาขอซื้อเด็กไปจากพ่อแม่ เพื่อเป็นการอ้างและแสดงให้ผีรู้ว่าพ่อแม่ไม่อาลัยรักในลูกจึงให้คนอื่นซื้อไป เพราะถ้าแสดงว่ารักลูกห่วงลูกแล้ว ผีที่มีจิตใจริษยาอาจมาเอาชีวิตเด็กไปได้ประเพณีเช่นนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมของคนไทยทั้งประเทศได้ เพราะบางท้องที่ บางครอบครัว อีกเป็นจำนวนมากอาจไม่มีประเพณีแม่ซื้อดังกล่าวก็ได้ ดังนั้นการที่จะอธิบายว่า คนไทยต้องมีประเพณีแม่ซื้อจึงเป็นเรื่องไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด หรือบางทีในท้องถิ่นหนึ่งผู้คนในท้องถิ่นนั้นเคยมีประเพณีแม่ซื้ออยู่ในสมัยหนึ่งนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวเสื่อมหรือหมดไป โดยไม่มีใครปฏิบัติอีกแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะอธิบายได้ว่าเป็นประเพณีของคนไทยในปัจจุบันเช่นกัน
โดยนัยเช่นนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม จึงเป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่สัมพันธ์กับกลุ่มคนเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับสถานที่และเวลาอีกด้วย ซึ่งผลของความสัมพันธ์เช่นนี้ ทำให้ลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ภาพนิ่งแต่เป็นภาพที่เคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นสังคมและวัฒนธรรมจึงมีธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การที่จะเข้าใจในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการวินิจและวิเคราะห์กันจึงจะแลเห็นและเกิดความเข้าใจได้ แต่ทว่าการจะวิเคราะห์ได้ก็ต้องมีแนวคิด ทฤษฎี และวิธีการ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อน แนวคิดอย่างกว้างๆ ที่จะทำความเข้าใจเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมในที่นี้คือ การเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ นั่นก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่อยู่ด้วยตนเองตามลำพังไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่แรกเกิดจนตายจึงเป็นสัตว์ที่เรียกว่าสัตว์สังคม สัตว์สังคมอื่นๆก็มีอีกมากมาย เช่น พวกมด ผึ้ง ปลวก ไปจนถึงสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับมนุษย์ เช่น พวกลิง แต่มนุษย์ก็แตกต่างไปจากบรรดาสัตว์สังคมอื่นๆ เหล่านั้นตรงที่ว่า มีช่วงเวลาที่ต้องพึ่งผู้อื่นยาวนานกว่า เช่น เมื่อเด็กแรกเกิดมาก็ต้องอาศัยการดูแลของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และครอบครัวเป็นเวลานานก่อนที่จะเติบโตและช่วยตัวเองได้ ยิ่งกว่านั้นต้องอาศัยการเรียนรู้และปรับตัวเองเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมตลอดเวลา โดยเฉพาะความสามารถในการเรียนรู้ การส่งภาษา อันเป็นเรื่องของสัญลักษณ์และการสื่อสารได้อย่างกว้างขวางนั้น เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากบรรดาสัตว์สังคมอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะบรรดาสัตว์อื่นนั้นความสามารถในการเรียนรู้และการส่งภาษามีน้อยมาก อีกทั้งการรวมกลุ่มอยู่ร่วมกันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปโดยสัญชาตญาณมากกว่า ดังเช่นพวกสัตว์ประเภทผึ้ง มด ปลวก เป็นต้น มีลักษณะอย่างใดก็เป็นอย่างนั้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใด ในขณะที่การรวมกลุ่มทางสังคมของมนุษย์มีลักษณะเคลื่อนไหวและเปลี่ยนตลอดเวลา
ยิ่งไปกว่านั้นความสามารถในการเรียนรู้การคิด และการส่งภาษาที่เป็นสัญลักษณ์ได้นี้เองยังทำให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่นอกเหนือไปจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในถิ่นฐานที่คนอาศัยอยู่ ไปถึงเรื่องของสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติอันไม่อาจหาคำตอบได้ด้วยการพิสูจน์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์มีความสัมพันธ์กับปัญหาในเรื่องเวลาและสถานที่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั้นก็คือเวลาและสถานที่ก่อนที่ตนเองจะมาเกิดในโลกนี้และเมื่อตายแล้วจะไปที่ไหน เป็นอย่างใดในอนาคต จากสิ่งที่เป็นปัญหาและการต้องการหาคำตอบนี้เอง ทำให้ชีวิตของมนุษย์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นและมีการสังสรรค์กันเพื่อให้มีอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค ที่เป็นปัจจัยสี่แต่เพียงอย่างเดียวไม่ หากยังมีความสัมพันธ์ข้ามพ้นมิติของความเป็นจริงไปยังเรื่องของจักรวาล ที่เป็นองค์รวมทั้งหมดในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ เป็นเรื่องของการเปลี่ยนจากความพยายามที่จะพิสูจน์ให้เห็นจริงตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเรื่องของความเชื่อที่มีทั้งการหาเหตุผลอย่างเป็นตรรก มาอธิบายมาจัดให้เป็นระบบที่เรียกว่าศาสนา และการสร้างบรรดาพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ขึ้น เพื่อบรรเทาความกังวลใจในเรื่องความไม่แน่นอนต่างๆ ในชีวิต
ตามที่กล่าวมานี้ก็พอจะสรุปให้เห็นได้ว่าชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ ๓ อย่างที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ คือ โครงสร้างสังคม ระบบ-เศรษฐกิจ และระบบความเชื่อในเรื่องของจักรวาล ความสัมพันธ์อย่างได้ดุลระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ทั้งความต้องการทางวัตถุและด้านจิตใจ ดังนั้นในการเสนอให้เห็นภาพพจน์ทางสังคมและวัฒนธรรมไทยในที่นี้ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ประกอบทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งสามอย่างที่กล่าวมานี้เป็นสำคัญ
สังคมและวัฒนธรรมไทย
สังคมและวัฒนธรรมไทย, สังคมและวัฒนธรรมไทย หมายถึง, สังคมและวัฒนธรรมไทย คือ, สังคมและวัฒนธรรมไทย ความหมาย, สังคมและวัฒนธรรมไทย คืออะไร
สังคมและวัฒนธรรมไทย, สังคมและวัฒนธรรมไทย หมายถึง, สังคมและวัฒนธรรมไทย คือ, สังคมและวัฒนธรรมไทย ความหมาย, สังคมและวัฒนธรรมไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!