๖. ฝน ในการพิจารณาฝนในประเทศไทยนั้น อาจแบ่งออกเป็น ๒ อาณาเขต เช่น เดียวกับอุณหภูมิ คือ
๖.๒ ฝนในบริเวณประเทศไทยตอนล่างหรือภาคใต้ บริเวณนี้จัดได้ว่าเป็นบริเวณซึ่งมีฝนตกตลอดทั้งปี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฤดูที่ประเทศไทยตอนบนแห้งแล้งทั่วไปนั้น ทางภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นโดยเฉพาะทางฝั่งทะเลด้านตะวันออก ซึ่งได้แก่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือได้รับไอน้ำจากบริเวณอ่าวไทยและน่านน้ำทะเลใกล้เคียง ทำให้อากาศมีความชุ่มชื้นมาก เมื่อพัดปะทะชายฝั่งด้านนี้จึงทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นขึ้น โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมจะมีฝนมากกว่าในเดือนอื่นๆ และในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมอาจมีพายุหมุนจากทะเลจีนใต้เคลื่อน
เข้าสู่ฝั่งทะเลแถบนี้ได้อีกด้วย สำหรับฝั่งทะเลด้านตะวันตกซึ่งมีจังหวัดระนอง พังงาภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ฝนจะเริ่มตกในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม
ปริมาณฝนตกตลอดทั้งปีในภาคต่างๆ ของประเทศไทยจะมีมากกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิเมตรขึ้นไป เว้นแต่ทางแถบด้านหลังทิวเขาตะนาวศรี คือ ตั้งแต่จังหวัดตากลงมาจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จะมีปริมาณต่ำกว่า ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร จังหวัดที่มีฝนตกมากที่สุดของประเทศไทยได้แก่จังหวัดระนอง ซึ่งมีฝนรวมทั้งปี เฉลี่ยประมาณ ๕,๑๐๐ มิลลิเมตร (๒๐๑ นิ้ว) และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เคยวัดได้ถึง ๖,๘๐๐ มิลลิเมตร (๒๖๘ นิ้ว) ซึ่งนับว่าเป็นสถิติสูงสุดของประเทศไทย ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกรองลงมาก็คือ อำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด ซึ่งมีฝนรวมทั้งปีเฉลี่ยประมาณ ๔,๔๕๐ มิลลิเมตร (๑๗๘ นิ้ว)