แผนที่อากาศที่หน่วยอุตินิยมวิทยาได้จัดขึ้น เป็นแผนที่ซึ่งแสดงการสรุปข้อมูลของปรากฏการณ์อากาศที่เกิดขึ้น ส่วนมากแผนที่จะแสดงผลของการวิเคราะห์ข้อมูลของอากาศตามเวลาทุกๆ วัน ที่กำหนดไว้ เช่น เวลา ๐๐,๐๖,๑๒ และ ๑๘ นาฬิกา ของเวลากรีนิช
สากล แผนที่อากาศย่อมมีตั้งแต่ระดับผิวพื้นไปจนระดับสูงๆ เช่น
- ระดับผิวพื้น (หรือระดับทะเล)
- ระดับความกดของอากาศเท่ากับ ๘๔๐ มิลลิบาร์ (ประมาณ ๑.๓ กิโลเมตร)
- ระดับความกดของอากาศเท่ากับ ๗๐๐ มิลลิบาร์ (ประมาณ ๓ กิโลเมตร)
- ระดับความกดของอากาศเท่ากับ ๕๐๐ มิลลิบาร์ (ประมาณ ๖ กิโลเมตร)
- ระดับความกดของอากาศเท่ากับ ๓๐๐ มิลลิบาร์ (ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร)
ตามธรรมดา แผนที่ระดับผิวพื้นจะมีรายงานข้อมูลของลม ทิศ และอัตราเร็วของลม ความกดอากาศ อุณหภูมิของอากาศ อุณหภูมิของจุดน้ำค้าง ทัศนวิสัย ลักษณะอากาศที่เห็นอยู่ (เช่น ฝน หมอก ฯลฯ) จำนวน ชนิดของเมฆและความสูงของฐานเมฆ การเปลี่ยนของความกดในคาบ ๓ ชั่วโมง และปริมาณของน้ำฟ้าในระยะ ๖ ชั่วโมงที่แล้วมาเป็นต้น
แบบสถานีอุตุนิยมวิทยาสากลใช้สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายเขียนลงบนแผนที่
การเขียนแผนที่จะต้องใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่างๆ กัน ตามที่ตกลงกันระหว่างชาติ การใช้สัญลักษณ์มีประโยชน์โดยสามารถรวบรวมข้อมูลได้หลายอย่างในเนื้อที่เล็กๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และคลุมบริเวณได้มากที่สุดเมื่อเขียนรายงานแล้ว นักอุตุนิยมวิทยาจะต้องวิเคราะห์แผนที่อากาศต่อไป ในการวิเคราะห์แผนที่อากาศนั้น จะต้องเขียนเส้นไอโซบาร์หรือเส้นความกดเท่า เขียนบริเวณความกด
อากาศสูงและต่ำ เขียนแนวปะทะบริเวณพายุและเขียนบริเวณที่มีน้ำฟ้าและปรากฏการณ์อื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแปลความหมายของข้อมูลอากาศว่าลักษณะอากาศต่างๆ อย่างไรจากการวิเคราะห์แผนที่อากาศ นักอุตุนิยมวิทยาจะได้ทำการพยากรณ์อากาศและออกข่าวพยากรณ์อากาศ เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ
ในสมัยนี้ ความก้าวหน้าทางเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ มีมากขึ้น และความรู้ทางทฤษฎีได้เพิ่มขึ้นด้วย นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าในเรื่องการพยากรณ์อากาศโดยทางคำนวณขึ้นด้วย (numerical weather prediction) ผลของการพยากรณ์โดยการคำนวณนี้มีความแม่นยำดี และยังจะมีความก้าวหน้าต่อไปอีกมากในอนาคต
จากรูปหน้าต่อไป เราจะเห็นแบบสถานีอุตุนิยมวิทยาสากล ซึ่งหน่วยอุตุนิยมวิทยาใช้สำหรับเขียนแผนที่ และมีแผนที่อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแสดงอยู่ด้วย