การปลูกถ่ายไขกระดูก
การปลูกถ่ายไขกระดูก, การปลูกถ่ายไขกระดูก หมายถึง, การปลูกถ่ายไขกระดูก คือ, การปลูกถ่ายไขกระดูก ความหมาย, การปลูกถ่ายไขกระดูก คืออะไร
การปลูกถ่ายอวัยวะ นับเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้น หรืออาจหายขาดจากโรคได้ ในกรณีที่เกิดโรคหรือมีพยาธิสภาพในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งซึ่งจะทำให้อวัยวะนั้นเสื่อมสภาพ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้เป็นปกติ ตัวอย่างเช่น ไตวายหรือไตพิการ หัวใจล้มเหลว สามารถรักษาให้หายด้วยการเปลี่ยนไต และเปลี่ยนหัวใจ ไขกระดูกเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอวัยวะหนึ่ง ถ้าไขกระดูกไม่ทำงานหรือมีความผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ทางโลหิตวิทยาขึ้น การปลูกถ่ายไขกระดูกให้แก่ผู้ป่วยที่มีโรคของไขกระดูกจะทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ นอกจากนี้ได้มีผู้นำการปลูกถ่ายไขกระดูก มาใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นในการรักษาโรคมะเร็ง และโรคที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกันต่างๆในปัจจุบันวิทยาการเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไขกระดูก ได้มีความก้าวหน้าไปเป็นอันมาก จนถือเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญวิธีหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ศาสตราจารย์นายแพทย์ อี ดอนแนล โทมัส (E Donnall Thomas) แห่งศูนย์วิจัยโรคมะเร็ง เฟรด ฮัทชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center) มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นครั้งแรก จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้รับเกียรติให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ โรคที่รักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ผลดี ได้แก่ โรคของกระดูก เช่น โรคโลหิตจางอะพลาสติก โรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย โรคที่มีภาวะพร่องภูมิคุ้มกัน และโรคมะเร็งของไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย และมัลติเพิลมิโลมา (multiple myeloma) และโรคมะเร็งอื่นๆ
โรคโลหิตจางอะพลาสติกหรือโรคไขกระดูก เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย มักสัมพันธ์กับการใช้ยาและสารเคมีบางชนิด เช่น คลอแรมเฟนิคอล ซัลฟา ยาแก้ปวดลดไข้บางชนิด และยาฆ่าแมลง เป็นต้น ไขกระดูกของผู้ป่วยโรคนี้ไม่สร้างเม็ดเลือด จึงมีจำนวนเม็ดเลือดต่ำลง ทำให้มีอาการของโลหิตจาง มีไข้ มีโรคติดเชื้อ และมีภาวะเลือดออกผิดปกติ การรักษาโรคนี้อาจใช้ฮอร์โมนเพศชายกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก แต่การรักษาไม่ได้ผลดี การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกให้ผลดีกว่า
โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากมีการสร้างสายโกลบินน้อยลง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย มีโลหิตจางเหลือง มีการเจริญเติบโตไม่สมอายุ เหนื่อยง่ายหัวใจวาย ตับม้ามโต มีเหล็กคั่ง โรคธาลัสซีเมียมีหลายชนิด บางชนิดมีอาการรุนแรง บางชนิดมีอาการน้อย ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากมักมีอายุสั้น การรักษาโรคธาลัสซีเมียทำได้โดยการให้เลือดและให้ยาขับเหล็ก การรักษาที่ทำให้หายขาดมีวิธีเดียว คือการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก ต้องทำลายเม็ดเลือดที่ผิดปกติเสียก่อน แล้วนำไขกระดูกที่ปกติปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในไขกระดูก โดยมีเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่ผิดปกติจำนวนมากในไขกระดูกซึ่งจะขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดปกติในไขกระดูกทำให้มีอาการของโลหิตจาง มีไข้ มีโรคติดเชื้อและเลือดออกผิดปกติ เซลล์ลิวคีเมียหรือเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนนี้จะออกมาในเลือด และแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม และระบบประสาท ทำให้มีต่อมน้ำเหลือง ตับม้ามโต และมีความผิดปกติของระบบประสาทได้
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรังชนิดเฉียบพลันมักมีอาการเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงผู้ป่วยมักถึงแก่กรรมในระยะเวลาอันสั้น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นระยะหนึ่ง ต่อมาโรคมักกลับมาเป็นอีกและรักษาไม่ได้ผล สำหรับชนิดเรื้อรังมักมีอาการไม่รุนแรง และมีการดำเนินโรคช้า ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการของมีก้อนในท้องจากการที่มีม้ามโต การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีอยู่นานเฉลี่ยราว ๓ ปี แล้วมักเปลี่ยนเป็นชนิดเฉียบพลัน ซึ่งรักษาไม่ได้ผล การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกทำให้ผู้ป่วยหายขาดและมีชีวิตรอด ในอัตราที่สูงกว่าการให้ยาเคมีบำบัด
โรคมะเร็งอื่นๆ ที่รักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ผลดี ได้แก่ มะเร็งของต่อมน้ำ-เหลืองหรือลิมโฟมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลือง ม้าม และต่อมธัยมัส อาจมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ตับ ม้ามโต การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษามักให้ผลดีแก่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งได้ผลดี
นอกจากโรคมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองแล้วโรคมะเร็งอื่นๆ ที่รักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ผลดี ได้แก่ มะเร็งเต้านม และนิวโรบลาสโทมา (neuroblastoma) เป็นต้น
การปลูกถ่ายไขกระดูกมิได้ช่วยรักษาโรคมะเร็งโดยตรง แต่เอื้ออำนวยให้สามารถให้ยารักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ ในการรักษามะเร็งนั้นต้องใช้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาแต่มักมีภาวะแทรกซ้อนจากการที่ไขกระดูกถูกกดและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทำให้ไม่สามารถบริหารยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาในขนาดสูง ที่จะกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดสิ้นไปจากร่างกายและไม่ทำให้โรคมะเร็งกลับมาเป็นใหม่ได้อีก แต่ถ้าให้ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษาในปริมาณสูงร่วมกับการปลูกถ่ายไขกระดูก จะทำให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้หมด ขณะเดียวกันระยะเวลาที่ไขกระดูกถูกกดจะสั้น ไขกระดูกที่ปลูกถ่ายให้จะเริ่มทำงานและทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้
การปลูกถ่ายไขกระดูก, การปลูกถ่ายไขกระดูก หมายถึง, การปลูกถ่ายไขกระดูก คือ, การปลูกถ่ายไขกระดูก ความหมาย, การปลูกถ่ายไขกระดูก คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!