ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ และมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย ผลจากการพัฒนานี้ทำให้มีการปนเปื้อนและสะสมของสารพิษ ทั้งในสิ่งแวดล้อมและในสิ่งมีชีวิต
ตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ผลิตและใช้มาตั้งแต่๖,๐๐๐ ปีก่อน ในแถบ Asia Minor และพิษจากสารตะกั่วเป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่ชาวกรีกและโรมัน ฮิปโปคราเตส (Hippocrates, ๓๗๐ ปีก่อนคริสตกาล) ได้บรรยายถึงอาการปวดท้องอย่างรุนแรงในคนงานสกัดโลหะตะกั่ว ซึ่งเป็นอาการปวดเกร็งของพิษตะกั่ว สำหรับประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์ของโรคพิษตะกั่วครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๕ และมีรายงานผู้ป่วยโรคพิษตะกั่วมาตลอด โดยมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้น
แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สารประกอบอนินทรีย์ตะกั่ว เช่น
๑.๑ โลหะตะกั่วใช้ผสมในแท่งโลหะผสมหรือผงเชื่อมบัดกรีโลหะนำมาทำเป็นแผ่น หรือท่อโลหะใช้ในอุตสาหกรรมเคมีเพื่อป้องกันการกัดกร่อน แผ่นกรองในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทำลูกปืนฉากกั้นสารกัมมันตรังสี
๑.๒ ออกไซด์ของตะกั่ว ได้แก่
- ตะกั่วมอนอกไซด์ (Lead monoxide)ใช้ในอุตสาหกรรมสีโดยใช้เป็นสารสีเหลืองผสมสีทาบ้าน
- ตะกั่วไดออกไซด์ (Lead dioxide) ใช้ทำเป็นขั้วอิเล็กโทรดของแบตเตอรี่รถยนต์ และเครื่องจักร
- ตะกั่วออกไซด์ หรือตะกั่วแดง (Leadred oxide) ใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ สีทาโลหะเพื่อกันสนิม เครื่องแก้ว ยาง และเครื่องเคลือบ
๑.๓ สารประกอบของเกลือตะกั่ว คุณสมบัติมีสีต่างๆ กัน จึงนิยมใช้เป็นแม่สี หรือสีผสมในอุตสาหกรรมสี เช่น
- ตะกั่วเหลือง (Lead cromate) ตะกั่วขาว(Lead carbonate)
- ตะกั่วซัลเฟต (Lead sulfate) ใช้ในอุตสาหกรรมสีและหมึกพิมพ์
- ตะกั่วแอซิเตต (Lead acetate) ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ครีมใส่ผม
- ตะกั่วซิลิเกต (Lead silicate) ใช้ในอุตสาหกรรมกระเบื้อง และเครื่องเคลือบเซรามิกเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีผิวเรียบ เงางาม
- ตะกั่วไนเทรต (Lead nitrate) ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก และยาง
- ตะกั่วอาร์ซิเนต (Lead arsenate) ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
๒. สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่ว ได้แก่
- เททระเอทิลเบด (Tetraethyl lead) และเททระเมทิลเลด (Tetramethyl lead) โดยใช้เป็น"สารกันน็อก" หรือสารป้องกันการกระตุกของเครื่องยนต์เวลาทำงาน โดยใช้ผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อให้เชื้อเพลิงมีค่าออกเทนสูงขึ้น สารนี้มีสีแดงดังนั้นน้ำมันชนิดพิเศษทั้งหลายจึงมีสีแดง สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่วค่อนข้างจะเป็นพิษมากกว่าตะกั่วอนินทรีย์ เนื่องจากสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ดี สำหรับตะกั่วที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์จะอยู่ในรูปของตะกั่วออกไซด์ชนิดต่างๆ ซึ่งจะเป็นตะกั่วอนินทรีย์ ปัจจุบันไม่ใช้ผสมในน้ำมันเบนซินแล้ว