ในวงการแสตมป์มีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้กันเช่นเดียวกับศาสตร์แขนงอื่น บางคำใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยตรง บางคำมีศัพท์ที่ตั้งขึ้นเฉพาะเป็นภาษาไทย นักสะสมควรทราบคำศัพท์เหล่านี้ไว้เพื่อความเข้าใจในการศึกษาตราไปรษณียากรต่อไป
แอดฮีซิฟ (adhesive)
คือดวงตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ที่ใช้ปิดบนซองจดหมาย หรือห่อซองโดยใช้กาวหรืออื่นๆ ไม่ใช่แสตมป์ที่พิมพ์ติดมากับซอง หรือไปรษณียบัตร หรือจดหมายไปรษณีย์อากาศ
แสตมป์บล็อก (block of stamps)
เป็นแสตมป์ที่พิมพ์ติดต่อกันในแนวตั้ง หรือแนวนอนอย่างน้อย ๒ ดวง เช่น แสตมป์บล็อค ๔ จะมีแสตมป์ ในแนวตั้ง ๒ ดวง และแนวนอน ๒ ดวง แสตมป์บล็อค ๖ จะมีแสตมป์ในแนวตั้ง ๓ ดวง และแนวนอน ๒ ดวง เป็นต้น
สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็ก (stamp booklet)
เป็นสมุดเล่มเล็กๆ คล้ายกระดาษแข็งพับครึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในบรรจุแสตมป์ซึ่งเป็นแสตมป์ราคาเดียวหรือหลายราคาก็ได้ ในประเทศไทยใช้บรรจุแสตมป์ราคาเดียว สมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กนี้ ช่วยให้สะดวกต่อการนำแสตมป์ติดตัวไปใช้ในโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในการสะสมแสตมป์อีกด้วย เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลัก-เซมเบิร์ก (Luxemburg) ใน พ.ศ. ๒๔๓๓
แผ่นแสตมป์ (sheet)
คือแผ่นแสตมป์ที่พิมพ์สำเร็จออกมาจากโรงพิมพ์ ปกติจะประกอบด้วยแสตมป์ ๕๐ หรือ ๑๐๐ ดวง
ลายน้ำ (water mark)
คือลวดลายต่างๆ บนกระดาษที่ใช้พิมพ์แสตมป์ สังเกตได้จากด้านหลังของแสตมป์
รอยปรุหรือรอยจักร (perforate)
คือรอยปรุจุดไข่ปลา หรือรอยจักร หรือรอยปรุที่แยกแสตมป์ออกเป็นดวงๆ เพื่อช่วยในการฉีกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ไม่มีรอยปรุ (imperforate)
อาจเป็นแสตมป์ที่ตั้งใจพิมพ์ออกมาโดยไม่มีรอยปรุ หรือแสตมป์ที่ไม่มีรอยปรุเนื่องจากความผิดพลาดในการพิมพ์ก็ได้
กาว (gum)
กาวที่ใช้ฉาบอยู่ด้านหลังแสตมป์เป็นกาวแห้ง เมื่อใช้น้ำแตะที่ด้านหลังนั้นก็สามารถผนึกแสตมป์ลงบนซองได้ทันที เรามักจะพบอักษร "O.G." หมายถึง original gum คือกาวเดิมที่ฉาบอยู่ด้านหลังแสตมป์ตั้งแต่แรก
สิ่งจำหน่ายเพื่อการสะสม (postal stationary)
เป็นคำรวมที่ใช้เรียกกระดาษต่างๆ ที่มีตราไปรษณียากรพิมพ์ติด สามารถส่งทางไปรษณีย์ได้ทันที เช่นไปรษณียบัตร ไปรษณียบรรณ (ซองจดหมายที่มีตราไปรษณียากรพิมพ์ติด) กระดาษห่อสิ่งตีพิมพ์ และจดหมายไปรษณีย์อากาศหรือแอโรแกรม ทั้งนี้นับรวมถึงตราไปรษณียากรที่เป็นดวงๆ หรือแผ่นๆ
การทดลองพิมพ์ (proof)
เป็นการพิมพ์ขึ้นเพื่อนำมาตรวจสอบแบบและสีก่อนที่จะพิมพ์จริง
โอเวอร์พรินต์ (overprint)
คือการพิมพ์ประทับเพิ่มด้วยหมึกบนดวงแสตมป์ โดยจะพิมพ์เพิ่มด้านหน้าของแสตมป์ ภายหลังที่แสตมป์นั้นพิมพ์เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ตัวตลกที่เกิดจากความผิดพลาดขณะทำการผลิตแสตมป์ (error)
เป็นแสตมป์ที่ออกโดยทางการแต่มีลักษณะผิดไปจากแสตมป์ปกติ เนื่องมาจากความผิดพลาดขณะทำการผลิตแสตมป์นั้น เช่น ผิดพลาดในการใช้กระดาษ (paper error) อาจนำกระดาษของแสตมป์ชุดอื่นที่มีลายน้ำต่างกันมาใช้พิมพ์แทน หรือผิดพลาดในการพิมพ์ (printing error) เช่น พิมพ์ภาพหัวกลับ พิมพ์ซ้ำ พิมพ์ผิดด้าน เป็นต้น
ตัวตลกที่เกิดจากความผิดปกติของแม่พิมพ์หรือเครื่องพิมพ์ (variety)
เป็นแสตมป์ที่ออกโดย ทางการ แต่มีลักษณะผิดไปจากแสตมป์ปกติ เนื่องจากความผิดปกติของแม่พิมพ์หรือเครื่องพิมพ์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับแสตมป์ดวงเดียว หรือหลายดวงในแผ่นก็ได้ เช่น มีฟองอากาศในดวงแสตมป์ สีหมึกที่พิมพ์เลอะเลือนเนื่องจากบล็อคแม่พิมพ์สึก เป็นต้น
ตราประทับควบคุม (control marks)
เป็นตราประทับที่ทำขึ้นเพื่อควบคุมการสูญหายของแสตมป์เพราะบางครั้ง แสตมป์อาจถูกขโมยไปจากคลังได้ ตราประทับนี้มักจะประทับด้านหลังของแสตมป์ โดยประทับด้วยตรายาง หรือ ใช้พิมพ์ หรือเขียนก็ได้
การประทับตราประจำวัน (cancellation)
คือ การประทับตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ลงบนตราไปรษณียากร เพื่อป้องกันการนำเอามาใช้ซ้ำอีก
ตราประทับ (post mark)
เป็นตราประจำวันที่ปรากฏอยู่บนซองจดหมาย โดยปกติจะระบุชื่อที่ทำการไปรษณีย์ วัน เดือน ปี และเวลาที่ประทับ
การประทับตราเพื่อการสะสม (cancelled to order ; CTO.)
เป็นการประทับตราประจำวันลงบนตราไปรษณียากร โดยไม่ได้มีการส่งผ่านเส้นทาง ขนส่งทางไปรษณีย์อย่างแท้จริง กล่าวคือ เมื่อมีผู้สะสมประสงค์ที่จะให้แสตมป์ที่ซื้อมามีการประทับตราเช่นเดียวกับแสตมป์ที่ใช้แล้วก็จะนำแสตมป์นั้นๆ ไปขอให้เจ้าหน้าที่ของที่ทำการไปรษณีย์ประทับตราประจำวันให้
ซองวันแรกจำหน่าย (first day cover)
เป็นซองจดหมายที่มีแสตมป์ชุดที่ออกใหม่ผนึกครบชุด และมีตราประทับพิเศษประทับบนซองในวาระแรก จำหน่ายของแสตมป์ชุดนั้น
ซองเที่ยวบินแรก (first flight cover)
เป็นซองที่ส่งไปกับเที่ยวบินเที่ยวแรกระหว่างสองเมือง หรือสองประเทศ มีตราประทับพิเศษที่ทำขึ้นเพื่อเที่ยวบินนั้นๆ