ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมายถึง, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความหมาย, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ใช้กฎหมายตราสามดวงเป็นหลักสำคัญในการปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งเมื่อไทยเปิด ประเทศโดยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับประเทศอังกฤษใน พ.ศ. ๒๓๙๘  และกับประเทศอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันอีกหลายประเทศ ได้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับชาติต่างๆ  โดยกฎหมายและ ศาลไทยไม่สามารถใช้บังคับกับคนเหล่านั้นได้ในกรณีเกิดการวิวาทกับคนไทย ทั้งนี้เพราะชาวต่างประเทศไม่ยอมรับในระบบกฎหมาย และการศาลของไทย โดยมองว่ากฎหมายตราสามดวงมิได้มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมาย ตามหลักประมวลกฎหมายของยุโรป แต่มีลักษณะเป็นวรรณกรรมที่มีความยาวถึง๔๑ เล่ม ซึ่งยากที่จะย่นย่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติในศาลได้ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง และทารุณด้วย

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบกฎหมายไทยให้มีความเหมาะสมและทันสมัยมากขึ้น อันจะนำไปสู่การขอยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในที่สุด

          ในการปรับปรุงระบบกฎหมายใหม่นั้น คณะกรรมการที่ตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาว่าจะเลือกใช้กฎหมายของประเทศใดเป็นหลักในการชำระกฎหมายไทย โดยนำระบบกฎหมายของอังกฤษซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวิวัฒนาการมาจากคำพิพากษาของศาล  และระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย ได้แก่ ฝรั่งเศส และเยอรมนี มาเปรียบเทียบกัน ในที่สุดคณะกรรมการได้ลงความเห็นว่าระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย มีการแบ่งหมวดหมู่กฎหมายอย่างมีระเบียบเหมาะสมกับประเทศไทย และที่สำคัญคือประเทศต่างๆ ที่ไทยต้องการปลดเปลื้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็ล้วนแต่ใช้กฎหมายประมวลกฎหมายทั้งสิ้น ยกเว้นประเทศอังกฤษประเทศเดียว ดังนั้นถ้าหากประเทศไทยจะใช้ระบบกฎหมายระบบเดียวกับประเทศเหล่านั้น ก็ย่อมทำให้การเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อยกเลิกข้อเสียเปรียบทางกฎหมายและการศาลเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น

          ในการตรวจชำระกฎหมายและจัดทำประมวลกฎหมายใหม่  คณะกรรมการเห็นควรให้จัดทำประมวลกฎหมายอาญาก่อน ประมวลกฎหมายฉบับอื่นๆ และได้ดำเนินการร่างประมวลกฎหมายอาญาไว้เป็นแนวทาง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นใหม่อีก ๑ ชุด โดยมีนายยอร์ช ปาดู  (George Padoux) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ารับราชการเป็นที่ปรึกษาในการร่างกฎหมายเป็นประธาน คณะกรรมการ   คณะกรรมการชุดนี้ได้รับร่างกฎหมายอาญาที่คณะกรรมการชุดก่อนทำไว้ไปตรวจชำระ และในที่สุดได้ยกร่างประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่ให้มีลักษณะเป็นระบบประมวลกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายในภาคพื้นทวีปยุโรปอย่างแท้จริง โดยอาศัยเทียบเคียงจากประมวล กฎหมายอาญาของฝรั่งเศส และฮอลันดาเป็นหลัก เมื่องานร่างประมวลกฎหมายอาญาสำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗  เมื่อวันที่  ๒๑  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๕๑  นับเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย และเป็นการปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายของประเทศ ไทยให้ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

          กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗  ได้นำหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมกันในประเทศต่างๆ ขณะนั้น มาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย แนวความคิดในเรื่องการกระทำผิดและความรับผิดชอบของบุคคลได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาใหม่มีเพียง ๖ สถานคือ ๑) ประหารชีวิต ๒) จำคุก ๓) ปรับ ๔) ให้อยู่ภายในเขตที่อันมีกำหนด ๕) ริบทรัพย์ ๖) เรียกประกันทัณฑ์บน หลักเกณฑ์การลงโทษดำเนินไปตามประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรป คือ มีการลงโทษผู้สมรู้ร่วมคิดกระทำผิด กำหนดอัตราโทษ ขั้นสูงและขั้นต่ำ เหตุลดหย่อนผ่อนโทษและเพิ่มโทษ การลงโทษผู้กระทำผิดหลายครั้งโดยไม่หลาบจำ การลงโทษผู้กระทำความผิดที่ยังเป็นผู้เยาว์ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ยังมีแนวคิดที่แยกคดีแพ่งออกจากคดีอาญาอย่างชัดเจน ซึ่งในกฎหมายตราสามดวงยังปะปนกันอยู่

          หลังจากที่ได้ใช้กฎหมายลักษณะอาญาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ แล้ว งานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเริ่มขึ้น แต่ดำเนินการได้เพียงเล็กน้อยก็สิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ทำอย่างจริงจัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  หลังจากนั้นงานร่างกฎหมายก็ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อกฎหมายลักษณะใดร่างเสร็จก็ประกาศใช้ก่อน จนในที่สุดได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  นับเป็นประมวลกฎหมายที่ทันสมัย เป็นที่เชื่อถือได้ตามมาตรฐานของระบบกฎหมายสากล ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับเอกราชทางกฎหมายและการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑

          ดูเพิ่มเติมเรื่อง  กฎหมายกับสังคมไทย เล่ม ๑๘  ครอบครัวไทย  เล่ม ๒๒  และการบริหารราชการแผ่นดิน   เล่ม ๒๗

การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมายถึง, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความหมาย, การปฏิรูปกฎหมายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu