ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ฝนหลวง, ฝนหลวง หมายถึง, ฝนหลวง คือ, ฝนหลวง ความหมาย, ฝนหลวง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ฝนหลวง

          ต้นกำเนิดฝนหลวงและมูลเหตุ
          ฝนหลวงก่อกำเนิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบัน  ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคสำหรับคน สัตว์เลี้ยง และเกษตรกร อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง   ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไปหรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงระยะยาวในระหว่างฤดูฝน 
          จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ  เยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติตราบเท่าทุกวันนี้ทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ นอกจากภาวะแห้งแล้งที่มักเกิดขึ้นจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว   การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นสาเหตุให้สภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ทำให้สภาพอากาศจากพื้นดินถึงระดับฐานเมฆไม่เอื้อ อำนวยต่อการกลั่นรวมตัวของก้อนเมฆ และยากต่อการเหนี่ยวนำให้ฝนตกลงสู่พื้นดิน  ทำให้ฝนไม่ตกหรือปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนและเสียหายให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยส่วนรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี   ทรงเล็งเห็นว่าก่อนที่จะถึงสภาพที่สุดวิสัยหรือยากเกินกว่าจะแก้ไข การทำฝนหลวงน่าจะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
          ทรงเชื่อมั่นว่าด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนและอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย คือ  มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  ซึ่งเป็นฤดูฝนของประเทศนานถึง  ๖  เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม      พัดพามวลอากาศอุ่นและชื้นจากมหาสุมทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปี   และมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฤดูหนาวพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากผืนแผ่นดินใหญ่จีนนานเพียง  ๓ เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ แต่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวของประเทศ  และมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนนานเพียง  ๒  เดือน พัดพามวลอากาศอุ่นและชื้นจากทะเลจีนเข้าสู่ประเทศไทยแต่ปริมาณฝนไม่สูงนัก  อิทธิพลของมรสุมดังกล่าวนี้ จะทำให้สามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้เป็นผลสำเร็จ          ปัจจุบันใช้กรรมวิธีที่ใช้เครื่องบินในการดัดแปรสภาพอากาศ (Weather modification) ให้เกิดฝนใน ๓ ขั้นตอนด้วยกัน คือ
          ขั้นที่ ๑ ก่อกวน (Triggering) เป็นการดัดแปรสภาพอากาศด้วยการก่อกวนสมดุล  (Equilibrium) หรือเสถียรภาพ (Stability) ของมวลอากาศเป็นแห่งๆ   โดยการโปรยสารเคมีประเภทดูดซับความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น   (Exotyhermic  chemicals)  ในท้องฟ้าที่ระดับใกล้เคียงกับระดับกลั่นตัวเนื่องจากการไหลพาความร้อนในแนวตั้ง (Convective condensation Level)  ซึ่งเป็นระดับฐานเมฆของแต่ละวัน  และโปรยสารเคมีประเภทที่เมื่อดูดซับความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง   (Endothermic chemicals)  ที่ระดับสูงกว่าระดับฐานเมฆ  ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ฟุต ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เกิดเมฆเร็วขึ้นและปริมาณมากกว่าที่เกิดตามธรรมชาติ   โดยเริ่มก่อกวนในช่วงเวลาเช้าทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมายหวังผลที่วางแผนกำหนดไว้ในแต่ละวัน
          ขั้นที่ ๒ เลี้ยงให้อ้วน (Fatten) เป็นการดัดแปรสภาพอากาศและก้อนเมฆด้วยการกระตุ้นหรือเร่งการเจริญเติบโตของก้อนเมฆที่ก่อตัวแล้ว ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นทางฐานเมฆและยอดเมฆขนาดหยดน้ำใหญ่ขึ้นและปริมาณน้ำในก้อนเมฆมากขึ้น และหนาแน่นเร็วกว่าที่จะปล่อยให้เจริญเองตามธรรมชาติ ด้วยการโปรยสารเคมีประเภทที่เมื่อดูดซับความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงที่ระดับฐานเมฆหรือทับยอดเมฆ   หรือระหว่างฐานและยอดเมฆโดยบินโปรยสารเคมีเข้าสู่ก้อนเมฆโดยตรง  หรือโปรยรอบๆ  และระหว่างช่องว่างของก้อนเมฆทางด้านเหนือลมให้กระแสลมพัดพาสารเคมีเข้าสู่ก้อนเมฆ หรือโปรยสารเคมีสูตรร้อนสลับสูตรเย็นในอัตราส่วน  ๑:๔ ทับยอดเมฆทั่วบริเวณที่เกิดสภาพเมฆที่มีความหนา  ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ฟุต  ปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง หรือที่บริเวณพื้นที่ใต้ลมของบริเวณที่เริ่มต้นก่อกวน    ทั้งนี้สุดแล้วแต่สภาพของเครื่องบิน ภูมิประเทศ และอากาศขณะนั้นจะอำนวยให้
          ขั้นที่ ๓ โจมตี (Attack) เป็นการดัดแปรสภาพอากาศในก้อนเมฆโดยตรงหรือบริเวณใต้ฐานเมฆ หรือบริเวณที่ต้องการชักนำเมฆฝนที่ตกอยู่แล้วเคลื่อนเข้าสู่  เป็นการบังคับหรือเหนี่ยวนำให้เมฆที่แก่ตัวจัดแล้วตกเป็นฝนลงสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลที่วางแผนกำหนดไว้ โดยบินโปรยสารเคมีประเภทที่ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงเข้าไปในเมฆโดยตรงที่ฐานเมฆ   หรือยอดเมฆ  หรือที่ระดับระหว่างฐานเมฆและยอดเมฆชิดขอบเมฆทางด้านเหนือลม  หรือใช้เครื่องบิน ๒  เครื่องโปรยพร้อมกันแบบแซนวิช (Sandwitch) เครื่องหนึ่งโปรยที่ฐานเมฆด้านใต้ลม   อีกเครื่องหนึ่งโปรยด้านเหนือลมชิดขอบเมฆที่ระดับยอดหรือไหล่เมฆ  เครื่องบินทั้งสองทำมุมเยื้องกัน  ๔๕ องศา หรือสารเคมีเย็นจัดที่ระดับต่ำกว่าฐานเมฆไม่น้อยกว่า  ๑,๐๐๐ ฟุต หรือสร้างจุดเย็นด้วยสารเคมีเย็นจัดเป็นบริเวณแคบในบริเวณพื้นที่เป้าหมายหวังผล  เพื่อเหนี่ยวนำให้ฝนที่กำลังตกอยู่เคลื่อนเข้าสู่บริเวณที่ต้องการนั้น

ฝนหลวง, ฝนหลวง หมายถึง, ฝนหลวง คือ, ฝนหลวง ความหมาย, ฝนหลวง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu