การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย
การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย หมายถึง, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย คือ, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย ความหมาย, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย คืออะไร
ตั้งแต่สมัยโบราณมา ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาให้เป็นระบบในโรงเรียน คนไทยที่ประสงค์จะหาความรู้พื้นฐานหรือหาความรู้เพิ่มเติมจะเรียนจากผู้ใหญ่ในบ้านของตน และจากผู้รู้ในชุมชนของตน แหล่งความรู้ที่สำคัญ คือ วัด ซึ่งนอกจากจะสั่งสอนความรู้ทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังสอนวิชาอื่นๆ เช่นการช่าง การรักษาโรค โหราศาสตร์ ผู้ประกอบการ เช่น หมอ ช่างฝีมือ นักดนตรี จะรับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ประสงค์จะเรียนรู้ เข้าไว้เป็นศิษย์โดยไม่คิดค่าตอบแทน แต่ศิษย์จะบูชาครู หรือสนองพระคุณของครูด้วยการรับใช้ช่วยครูทำงานในบ้าน หรืองานอาชีพของครู
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาต่อเนื่องของประชาชนทั่วไปและเห็นความสำคัญที่จะต้องให้ผู้ใหญ่ที่ขาดโอกาสเล่าเรียนได้เล่าเรียนตามสมควรคือ ให้สามารถช่วยตนเอง และสามารถทำหน้าที่พลเมืองที่ดีตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น ในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เน้นเรื่องการรู้หนังสือโดยมีประกาศพระราชบัญญัติให้ผู้ใหญ่เรียนรู้หนังสือในการรณรงค์เพื่อให้รู้หนังสือขึ้น ขณะนั้นได้นำเอาวิธีสอนแบบสอนคนหนึ่งให้อ่านออกแล้วให้ไปสอนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่นักการศึกษาผู้ใหญ่ที่รู้จักกันทั่วโลก คือ ดร.แฟรงค์ ซี เลาบัค (Dr. Frank C.Laubach) คิดขึ้นใช้ กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้จัดทำหนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับผู้ใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก ร่วมมือกับโรงเรียนบางแห่งขอใช้ห้องเรียนในตอนเย็น ให้ครูของโรงเรียนนั้นๆเป็นครูสอนผู้ใหญ่ด้วย นอกจากสอนการรู้หนังสือแล้ว ยังมีการสอนวิชาชีพระยะสั้นๆ ในเวลาต่อมา และได้จัดตั้งห้องสมุดประชาชนขึ้นใน พ.ศ.๒๔๙๕
การจัดการศึกษาต่อเนื่องในปัจจุบัน มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ช่วยบริหารและดำเนินการ ในกระทรวงศึกษาธิการมีกรมที่รับผิดชอบคือ กรมการศึกษานอกโรงเรียนกรมอาชีวศึกษา กรมการศาสนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตรกรมปศุสัตว์ ในกระทรวงมหาดไทย มีกรมแรงงาน กรมประชาสงเคราะห์ ในกระทรวงอุตาหกรรม มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในกระทรวงสาธารณสุข มีกรมอนามัย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีบริการการศึกษาแก่ประชาชนโดยจัดสอนพิเศษในระยะสั้น ในบางวิชา เช่น โครงการการศึกษาต่อเนื่องของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น ทางด้านองค์กรเอกชน มีสมาคมต่างๆ ที่จัดการศึกษาต่อเนื่องให้แก่สมาชิก ที่จัดให้แก่ประชาชนทั่วไปก็มี การศึกษาต่อเนื่องจะได้ผลดีก็ต้องจัดโดยมีประสิทธิภาพ คือ มีเป้าหมายแน่นอน มีวิธีการถูกต้อง มีอุปกรณ์ในการดำเนินงานครบถ้วน มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีหลักสูตรที่เจาะตรงเป้าหมาย และยืดหยุ่นได้ตามสภาพการณ์ ในช่วงเวลาและท้องถิ่น มีวิธีวัดผลและติดตามผลสำคัญที่สุดจะต้องมีการประสานงาน และร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการนี้ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน มีการสนับสนุนทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ มีระบบข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ และไปถึงประชาชน มีแผนงานในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น สำหรับการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียน สอดคล้องสัมพันธ์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เป็นกิจกรรมครบวงจร
ระบบการศึกษาต่อเนื่องที่จัดอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคงในชีวิต มีความหวังและมีที่พึ่งพาอาศัยในด้านวิชาความรู้ ข้อมูลข่าวสารอันจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน แม้จะยากจน อยู่ห่างไกลสถานศึกษาและศูนย์กลางความเจริญ ขาดทุนทรัพย์และเวลาที่จะศึกษาในระบบให้เต็มที่ก็ยังมีโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้ทัดเทียมผู้อื่นและทันต่อเหตุการณ์ ความอยากรู้อยากเรียนของคนเราต้องได้รับการตอบสนอง ความรู้ก็จะเพิ่มพูนจนสามารถช่วยในการพัฒนาสังคม และอาจก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมแห่งความรู้ทั้งในด้านวิชาการต่างๆ และในด้านศีลธรรมและความเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
ตามสถิติการศึกษาของโลก ประชากรในโลกนี้กว่า ๘๐๐ ล้าน ยังไม่รู้หนังสือ ขาดทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม สถิติการศึกษาของไทยแสดงว่า ผู้รู้หนังสือพออ่าน ออกเขียนได้ในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าร้อยละ ๘๐ ของประชากรทั้งหมด คนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีหนังสืออ่านเพื่อคงไว้ซึ่งทักษะในการอ่าน และที่สำคัญยิ่งก็คือ เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ และเพื่อประกอบอาชีพให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ในทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งต้องซื้อจากต่างประเทศด้วยราคาแพง ถ้าขาดความรู้ อาจจะต้องเสียเงินมาก และไม่ได้ผลตามที่ควร อุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ คือ ผู้ปฏิบัติหรือผู้ประกอบการขาดความรู้ทางเทคโนโลยี ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจัดระบบการศึกษาต่อเนื่อง ในรูปแบบของห้องสมุดประชาชน ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านศูนย์สารนิเทศทางวิชาการ ให้ประชาชนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ และได้ทราบความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ทางวิชาการ จัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการ
คนเรานั้น นอกจากความรู้ความสามารถในทางวิชาการ และในการประกอบอาชีพแล้วยังจำเป็นต้องรู้จักชาติภูมิของตน เข้าใจเพื่อนบ้านและสังคมของตน มีความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรม ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างขึ้นไว้ รู้จักความละเอียดประณีตของศีลธรรม และความสวยงามของศิลปกรรม จึงจะนับว่าเป็นคนโดยสมบูรณ์สิ่งเหล่านี้นอกจากจำเป็นต้องปลูกฝังสั่งสอนให้รู้จักตั้งแต่ยังเล็กแล้ว ยังจำเป็นต้องจัดให้มีโอกาสได้เห็นได้ฟังได้มีประสบการณ์ด้วยตนเองตลอดไประบบการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบของการจัดบรรยายอภิปราย ทัศนศึกษา นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ หอศิลป และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมฟื้นฟูขนบธรรมเนียมที่ดีเหล่านี้จะช่วยสนองความต้องการในด้านจิตใจได้มาก
(ดูเพิ่มเติมเรื่องการ ศึกษา เล่ม ๒ เรื่องทุนการศึกษา เรื่อง ห้องสมุด และเรื่อง สารานุกรม หมวดเดียวกัน เล่มเดียวกัน)
การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย หมายถึง, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย คือ, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย ความหมาย, การศึกษาต่อเนื่องในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!