ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค หมายถึง, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค คือ, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค ความหมาย, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค

          ความมุ่งหมายในการใช้ยารักษาโรคคือ  ต้องการให้โรคหายเร็วที่สุด ไม่มีร่องรอยโรคเหลืออยู่  ไม่เกิดผลเสียจากการใช้ยา  และสิ้นเปลืองเงินทองน้อยที่สุดด้วย การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องโรค   เรื่องยา   ตลอดจนการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในเรื่องที่ควรละเว้น และสิ่งที่ควรกระทำ ความรู้ต่างๆ เหล่านี้อาจทำได้จากการอ่านวารสารทางการแพทย์การสื่อสารมวลชน (วิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์)จากการสังเกตและไต่ถามผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์  ตลอดจนแพทย์และพยาบาล ในที่นี้จะขอกล่าวเป็นข้อสังเกตเพียงบางประการดังต่อไปนี้ คือ 
          โรคบางอย่าง (ไข้หวัด) อาจหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาหรือใช้เพียงยาลดไข้ถ้ามีไข้สูง และพักผ่อนให้เพียงพอ
           อาการอย่างเดียวกัน  เช่น  มีไข้  ปวดศีรษะ  อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการที่ไม่เหมือนกัน การรักษาที่ถูกต้อง คือ ใช้ยารักษาตามอาการ  และที่สำคัญที่สุดต้องใช้ยารักษาต้นเหตุของโรคด้วย
          การใช้ยารักษาโรคแต่ละครั้งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์จึงจะปลอดภัย  ถ้าใช้ยาสามัญประจำบ้านต้องอ่านฉลากยาให้ดีก่อนใช้   หากเกิดความสงสัย  ไม่ควรใช้ยานั้นๆ
          ไม่ใช้ยาที่ปราศจากฉลาก    ยาที่เปลี่ยนรูปลักษณะ  สีสันและกลิ่น เช่น ยาน้ำเปลี่ยนสีหรือมีตะกอน  ยาเม็ดที่แตกหักหรือเคลือบเม็ดหลุด  เพราะยานั้นอาจเสื่อมคุณภาพ หรือแปรสภาพ (ยาเสีย) ไปแล้ว ต้องใช้ยาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อหลีกเลี่ยงยาปลอมและยาไม่ได้มาตรฐาน
          ต้องเก็บยาในที่ไม่ร้อนจัด ไม่ชื้น ปิดจุกให้แน่นมิฉะนั้นยาจะเสียได้ง่าย   ยาบางชนิดต้องเก็บในที่เย็นยาบางอย่างมีกำหนดอายุ  ถ้าเก็บไม่ถูกต้อง ยาอาจเสียก่อนหมดอายุได้
          อนึ่งยาปฏิชีวนะชนิดผงซึ่งอยู่ในขวด และต้องผสมน้ำก่อนใช้นั้น เมื่อยังเป็นผงอยู่  ยาจะคงทนดีสามารถเก็บไว้ได้นานตามอายุที่กำหนดไว้ในฉลาก ถ้าผสมน้ำแล้วต้องเก็บยาในที่เย็นหรือตู้เย็น  และคงมีฤทธิ์ในการรักษาประมาณ ๗ วัน จากนั้นยาจะเสื่อมคุณภาพทีละน้อยจนหมดฤทธิ์ไป
          ยาหยอดตาบางชนิดเมื่อเปิดใช้แล้วจะต้องทิ้งไปภายหลัง  ๒  สัปดาห์   เพราะยาเสื่อมคุณภาพ
          เพื่อป้องกันอันตรายจากยาและอุบัติเหตุต้องจัดยาที่ใช้ภายใน (ยารับประทาน) และยาใช้ภายนอก ยาห้ามรับประทาน แยกจากกันให้เห็นชัด และต้องปิดฉลากให้เรียบร้อย ยาใช้ภายนอกใช้ฉลากสีแดงและเขียนว่า ห้ามรับประทาน  ด้วย  เก็บยาไว้ในตู้ ล็อกกุญแจให้เรียบร้อย ป้องกันเด็กหยิบยากิน เพราะยาบางชนิดมีสีสันชวนกิน ในตู้ยาไม่ควรเก็บยาอย่างอื่น เช่น ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
          ใช้ยาเมื่อจำเป็นจริงๆ และใช้ยาเท่าที่จำเป็นโดยใช้ยาน้อยขนานที่สุด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการตีกันของยา ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ เพราะยามีทั้งคุณและโทษดังที่กล่าวมาแล้ว
          การใช้ยาควรเริ่มด้วยวิธีง่ายและปลอดภัยก่อนคือ  ใช้ยาทา ยาทาถูนวด ยาดม ยาอม ยารม ยาหยอด ฯลฯ ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสม ถ้าไม่หายจึงใช้ยากิน  ส่วนการฉีดยา การเข้าน้ำเกลือ หรือการให้เลือดนั้นอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว แพทย์จะไม่ให้ยาด้วยวิธีดังกล่าว
          เมื่อใช้ยาแล้วเกิดอาการผิดปกติหรือแพ้ยา ต้องหาทางให้ทราบว่า อาการนั้นๆ เกิดจากยาอะไรแล้วจดจำไว้   และเขียนใส่บัตรติดตัวไว้  เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบต่อไปถ้าเปลี่ยนแพทย์ใหม่
          ไม่ควรรักษาตนเองโดยไปซื้อยาตามคำแนะนำของเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือแม้แต่คนขายยา เพราะให้โทษมากกว่าให้คุณ
          การเก็บยาที่เคยใช้ได้ผลในคราวก่อนไว้ใช้ในการป่วยครั้งต่อไปย่อมเป็นการเสี่ยงภัย  เพราะการป่วยครั้งหลังอาจมีสาเหตุต่างจากการป่วยครั้งก่อนก็ได้
          ยาลดไข้  ยาแก้ปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และปวดกระดูก มักระคายกระเพาะอาหาร บางชนิดก็บีบหัวใจด้วย จึงต้องกินยาพวกนี้หลังอาหาร ไม่กินตอนท้องว่างหรือเวลาหิว  
          อนึ่งผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ควรระวังเรื่องนี้ให้มาก ถ้าสงสัยควรปรึกษาแพทย์
          ยาลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น ยาพวกอะโทรปีน หรือยาคล้ายกัน  อาจทำให้เกิดอาการปากคอแห้ง  ตัวร้อน หัวใจเต้นเร็ว ท้องผูก ปกติอาการดังกล่าวมีไม่รุนแรง ถ้าเป็นมากต้องหยุดยาและปรึกษาแพทย์
          ยาแก้อาการแพ้มักทำให้ผู้ใช้ง่วงซึม  ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ยวดยาน  ผู้ทำงานในที่สูง หรืออยู่ใกล้ไฟ ใกล้เครื่องจักรได้ ผู้ใช้ยานี้ไม่ควรใช้ยากดระบบประสาทกลางร่วมด้วย เช่น ยาระงับประสาทและยานอนหลับ
          เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลเสียของยาอาจเหมือนกับอาการของโรคที่ยานั้นๆ ใช้รักษา เช่น ยาแก้อาการแพ้อาจทำให้เกิดการแพ้เสียเอง  ยาระงับอาการชัก อาจทำให้เกิดอาการชัก ยารักษาโรคหัวใจล้มเลือดคั่ง อาจทำให้เกิดหัวใจล้ม  ยารักษาโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะอาจทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะได้
          ระหว่างการใช้ยาควรงดดื่มสุรา เพราะทำให้ยาถูกขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น และอาจเกิดปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ (ยาตีกัน) ด้วย
          การสูบบุหรี่ก็อาจทำให้เกิดผลเสียจากการใช้ยาได้ เพราะบุหรี่มีนิโคตินและสารพิษอื่นๆ ทำให้เยื่อเมือกในปาก และเซลล์ขนของหลอดลมเสียหน้าที่ มีการทำลายวิตามินซีมากกว่าปกติ หลอดเลือดแดงตีบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขา ลำไส้  และหัวใจ  บุหรี่แสลงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน  โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคปอด และโรคหลอดลมอักเสบ  การงดสูบบุหรี่จะทำให้เจริญอาหารและมีความต้านทานโรคเพิ่มขึ้น
          การใช้ยาระบายหรือยาถ่ายเป็นประจำ จะทำให้ขาดเกลือแร่บางอย่างรวมทั้งวิตามิน เช่น การใช้พาราฟินเหลวเป็นยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน  ร่างกายจะขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน และเมื่องดยานี้ ผู้นั้นจะกลับมีอาการท้องผูกอีก
          ยาบางขนานเมื่อถูกขับออกจากร่างกายแล้วจะทำให้ผู้ใช้สังเกตได้ เช่น  ยาเพนิซิลลิน และยาคล้ายกัน ถูกขับถ่ายทางปัสสาวะทำให้เกิดกลิ่นจำเพาะ วิตามินบีรวมทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ยาเข้าเหล็กทำให้อุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย ยาระงับเชื้อในทางเดินปัสสาวะบางชนิดทำให้ปัสสาวะมีสีแดง (ไพริเดียม) แต่บางขนานทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำเงิน (เมธีลีนบลู) ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้าแพทย์มิได้แจ้งแก่ผู้ป่วยเป็นการล่วงหน้า   อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความตกใจได้ ดังนั้นถ้าประสบเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ป่วยไม่ควรตกใจ แต่ควรไปสอบถามแพทย์ผู้รักษาเพื่อขอคำแนะนำจึงจะเป็นการถูกต้อง
          ยาปฏิชีวนะบางชนิดไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ในหญิงกำลังให้นมบุตร ทารกและเด็กเล็ก  เช่น  ยาเตตระไซคลิน  เพราะจะทำให้กระดูกและฟันเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ฟันจะดำและเสียง่ายกว่าปกติ
          ยาเตตระไซคลิน ไม่ควรกินพร้อมกับยาที่มีแคลเซียมหรือน้ำนม เพราะเตตระไซคลินจับกับแคลเซียมแล้วถูกดูดซึมไม่ได้ดี
          เครื่องดื่มที่บรรจุขวดจำหน่ายในท้องตลาด  มี ความเป็นกรด  (ค่า PH เท่ากับ  ๒.๔-๓.๕) จึงไม่ควรกินพร้อมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (ยานอนหลับ) ฟินิลบิวทาโซน (ยาแก้ปวดข้อ ลดการอักเสบ) ฯลฯ หรือไม่ควรดื่มเวลาท้องว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโรคกระเพาะอยู่ด้วย เพราะจะทำให้เกิดการระคายกระเพาะ และรู้สึกไม่สบายในท้อง

ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค หมายถึง, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค คือ, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค ความหมาย, ข้อสังเกตบางประการในการใช้ยารักษาโรค คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 9

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu