ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สรีรวิทยา : ระบบประสาท, สรีรวิทยา : ระบบประสาท หมายถึง, สรีรวิทยา : ระบบประสาท คือ, สรีรวิทยา : ระบบประสาท ความหมาย, สรีรวิทยา : ระบบประสาท คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
สรีรวิทยา : ระบบประสาท

          ระบบประสาทในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย เซลล์ประสาทซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า นิวโรน (neurone)เซลล์ประสาทนี้มีลักษณะสำคัญซึ่งแตกต่างจากเซลล์ชนิดอื่นๆ ในร่างกาย คือมีแขนงยื่นยาวออกจากตัวเซลล์ แขนงดังกล่าวแบ่งได้เป็น ๒ พวกคือ  เดนไดรต์ (dendrite) และแอกซอน (axon) แขนงทั้งสองพวกนี้มีข้อแตกต่างที่สำคัญตามหน้าที่คือ เดนไดรต์ทำหน้าที่นำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" จากภายนอกเข้าไปในเซลล์ ส่วนแอกซอนทำหน้าที่ตรงกันข้าม คือนำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" ออกไปจากตัวเซลล์ประสาทในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากมาย มีผู้คำนวณว่ามีอยู่ถึงประมาณ ๓๐ หมื่นล้านตัว แต่ละตัวยังต้องติดต่อกับตัวอื่นๆ ซึ่งอาจมากถึง ๖๐,๐๐๐ ตัว บริเวณที่ติดต่อกันหรือจับกันเรียกว่า จุดประสาน (synapes)
 
ระบบประสาทอาจแบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ ๒ ส่วน  คือ
 
          ๑. ระบบประสาทกลาง คือสมองและไขสันหลังซึ่งประกอบด้วยตัวเซลล์ประสาทส่วนใหญ่

          ๒. ระบบประสาทนอก คือเส้นประสาทที่อยู่นอกสมองและไขสันหลัง ประกอบด้วยเดนไดรต์และแอกซอนทั้งสิ้นไม่มีตัวเซลล์อยู่เลย
 
          หน้าที่ของประสาทที่จะกล่าวต่อไปหมายถึงหน้าที่ของใยประสาท (nerve fiber) ซึ่งเป็นเดนไดรต์ หรือแอกซอนของเซลล์ประสาท หน้าที่สำคัญคือ การนำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" โดยรวดเร็วจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่ง อาจนำเข้าสู่ หรือออกจากระบบประสาทกลาง "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" ดังกล่าวอาจนำไปโดยรวดเร็วมากถึง ๑๐๐ เมตร/วินาที ซึ่งเทียบได้กับความเร็ว ๓๖๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเทียบกับขนาดความเร็วของรถแข่ง หรืออาจนำไปช้าเพียง ๑ เมตร/วินาที ซึ่งเทียบได้กับความเร็ว  ๓.๖ กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าเทียบกับขนาดความเร็วของคนเดิน

          รีเฟล็กซ์ คือการตอบสนองที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ รีเฟล็กซ์เป็นตัวอย่างการทำงานอีกชั้นหนึ่งของระบบประสาทที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของเซลล์ประสาท เช่น เมื่อปลายนิ้วมือไปแตะถูกวัตถุที่มีความร้อนเข้า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือ ดึงแขนเข้าหาตัวหนีออกมาจากวัตถุนั้น หรืออาจขยับตัวหนีออกมาด้วย ต่อมาจึงเกิดความรู้สึก ปวด ร้อน ที่นิ้วมือและนึกลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการงอแขนหรือขยับตัวหนีออกมาเป็นการสนองของรีเฟล็กซ์  ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจจิตใจ แต่ความรู้สึก ปวด ร้อน และการลำดับเหตุการณ์ เป็นการทำงานของสมองที่อยู่ในอำนาจจิตใจไม่ใช่รีเฟล็กซ์ 
          จะเห็นว่าหน้าที่และประโยชน์ของรีเฟล็กซ์ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายซึ่งทำงานโดยรวดเร็ว ไม่เสียเวลามาก

ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของรีเฟล็กซ์

          รีเฟล็กซ์เป็นการทำงานของวงจรประสาท (reflex arc)ซึ่งอาจแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ได้ ดังนี้
 
          ๑. เครื่องรับ (receptor) เป็นอวัยวะที่รับการกระตุ้น เช่น จากตัวอย่างข้างต้น เครื่องรับในผิวหนังบริเวณนิ้วมือรับการกระตุ้นจากวัตถุที่มีความร้อน เครื่องรับนี้อาจอยู่ภายนอกหรือภายในร่างกายก็ได้
          ๒. ประสาทนำเข้า (afferent pathway)เป็นทางนำ "คำสั่ง" หรือ "ข่าว" จากเครื่องรับเข้าไปยังศูนย์รีเฟล็กซ์  รีเฟล็กซ์ที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้นมีประสาทนำเข้าเป็นประสาทรับสัมผัสซึ่ง เป็นแขนงของประสาทมีเดียน (median nerve)
          ๓. ศูนย์รีเฟล็กซ์ (reflex center) เป็นที่รวม "ข่าว"หรือ "คำสั่ง" ต่างๆ จากประสาทนำเข้าเพื่อส่งออกไปที่ศูนย์อาจมีเซลล์ประสาทเชื่อมกลาง (central neuron) ซึ่งช่วยให้การทำงานละเอียดและกว้างขวางขึ้น
          ๔. ประสาทนำออก (efferent pathway) เป็นประสาทที่ทำหน้าที่นำ "ข่าว" หรือ "คำสั่ง" ออกจากศูนย์รีเฟล็กซ์ สู่อวัยวะแสดงผล ประสาทนำออกของรีเฟล็กซ์ ได้แก่ ประสาทยนต์ซึ่งเป็นแขนงของประสาทหลายเส้นที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของแขน
          ๕. อวัยวะแสดงผล (effector organ) จากตัวอย่างที่ยกมา อวัยวะแสดงผล ได้แก่ กล้ามเนื้อของแขน

ชนิดของรีเฟล็กซ์

          อาจแบ่งรีเฟล็กซ์ออกเป็นชนิดต่างๆ ได้หลายวิธี ดังนี้

๑. ตามระยะเวลาของการเกิด
          ก) มีมาแต่กำเนิด (inborn reflex)รีเฟล็กซ์ที่ดึงแขนหนีมาจากการที่นิ้วมือสัมผัสกับวัตถุที่ร้อน หรือรีเฟล็กซ์ ที่ช่วยปรับความดันเลือดให้ปกติ ทั้ง ๒ ชนิดนี้ทำงานได้ตั้งแต่เกิด ไม่ต้องฝึกหัด
          ข) เกิดจากการฝึก (acquired หรือ conditioned reflex) ตัวอย่างในเรื่องนี้  ได้แก่ การเหยียบห้ามล้อ เมื่อมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า (สำหรับผู้ที่ขับรถเป็น)
 
๒. ตามจำนวนของเซลล์ประสาทในวงจร
          ก) รีเฟล็กซ์ที่มีจุดประสานจุดเดียว (monosynaptic reflex) รีเฟล็กซ์ชนิดนี้ประกอบด้วยเซลล์ประสาทเพียงสอง ตัวมาต่อกัน ได้แก่ รีเฟล็กซ์ที่ช่วยปรับการทรงตัวของร่างกาย เมื่อกล้ามเนื้อถูกยึด (stretch reflex)
          ข) รีเฟล็กซ์มีจุดประสาน ๒ จุด (disynaptic reflex) ได้แก่ รีเฟล็กซ์ที่เกิดจากเอ็นของกล้ามเนื้อถูกยึด (Golgitendon reflex)
          ค) รีเฟล็กซ์ที่มีจุดประสานหลายจุด (polysynaptic reflex) ได้แก่ รีเฟล็กซ์ที่เกิดจากเอ็นของกล้ามเนื้อถูกยึด
 
๓. ตามชนิดของประสาท
          ก) รีเฟล็กซ์กาย (somatic reflex) วงจรรีเฟล็กซ์ ประกอบด้วยระบบประสาทกาย เช่น รีเฟล็กซ์ดึงเท้าหนีออกมา
          ข) รีเฟล็กซ์อัตบาล (autonomic reflex) วงจรใช้ระบบประสาทอัตบาล โดยมากเกี่ยวข้องกับการทำงานภายในร่างกาย เช่น รีเฟล็กซ์ปรับความดันเลือดให้ปกติ 
รีเฟล็กซ์ที่แบ่งตามชนิดของประสาทนี้อาจแบ่งตามชนิดของประสาทได้คือ รีเฟล็กซ์ที่ใช้ประสาทสมองเป็นรีเฟล็กซ์สมอง (cranial reflex) รีเฟล็กซ์ที่ใช้ประสาทไขสันหลังเป็นรีเฟล็กซ์ไขสันหลัง (spinal reflex) เป็นต้น
 
๔. ตามตำแหน่งของเครื่องรับ การแบ่งแบบนี้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในทางคลินิก ซึ่งแบ่งเป็นดังนี้
          ก) รีเฟล็กซ์ตื้น (superficial reflex) คือ รีเฟล็กซ์ ที่มีเครื่องรับอยู่ภายนอก เช่น ผิวหนัง ตัวอย่างที่ดีของรีเฟล็กซ์ตื้น ได้แก่ รีเฟล็กซ์เมื่อเหยียบหนาม
          ข) รีเฟล็กซ์ลึก (deep reflex) รีเฟล็กซ์พวกนี้มีเครื่องรับรู้ลึกเข้าไป เช่น รีเฟล็กซ์เมื่อกล้ามเนื้อถูกยึด เครื่องรับอยู่ในกล้ามเนื้อ
          ค) รีเฟล็กซ์อวัยวะภายใน (visceral reflex)เครื่องรับอยู่ในอวัยวะภายใน เช่น รีเฟล็กซ์ปรับความดันเลือดมีเครื่องรับอยู่ในผนังหลอดเลือดแดงคาโรติด เห็นได้ว่ารีเฟล็กซ์หนึ่งรีเฟล็กซ์ใดอาจจัดอยู่ในพวกใดก็
ได้ตามวิธีการแบ่ง รีเฟล็กซ์ในคนส่วนใหญ่ต้องใช้เซลล์ประสาทหลายตัว จึงจัดอยู่ในพวกที่มีจุดประสานหลายจุด มีส่วนน้อยที่มีหนึ่ง หรือ สองจุด รีเฟล็กซ์เหล่านี้มีมากมายเกี่ยวข้องกับการทำงานในร่างกายทุกระบบ

หน้าที่ของรีเฟล็กซ์

          ๑) เป็นขั้นต้นและขั้นกลางของระบบประสาทช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของระบบประสาท ซึ่งยุ่งยากและซับซ้อนมาก โดยแยกทำเป็นส่วนๆ อาจใช้วงจรง่ายๆ จนถึงขั้นยุ่งยากมาก เช่น รีเฟล็กซ์ที่เกิดจากการฝึก ร่างกายมีงานที่ต้องทำ
อยู่ตลอดเวลามากมายหลายอย่าง การทำงานแบบรีเฟล็กซ์จึงช่วยรับภาระไปแต่ละอย่าง และรีเฟล็กซ์บางอย่างต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ถ้าต้องใช้การตัดสินใจซึ่งต้องการสมองส่วนที่อยู่ในอำนาจจิตใจมาใช้จะทำไม่ได้ เพราะจะคิดหรือตัดสินใจได้เพียงเรื่องเดียวในขณะเดียว เช่น รีเฟล็กซ์ที่รักษาความดันเลือดให้ปกติอยู่เสมอ หรือรีเฟล็กซ์ที่ช่วยการทรงตัวของร่างกาย
          ๒) ช่วยให้งานนั้นๆ สำเร็จโดยเร็ว ทันท่วงที เช่น รีเฟล็กซ์เกี่ยวกับการเหยียบหนาม ถ้าทำได้ช้าก็อาจเกิดอันตรายมากขึ้นได้ หรือรีเฟล็กซ์ที่เกี่ยวกับการทรงตัวของกล้ามเนื้อที่ถูกยึด ถ้าทำช้าไปตัวอาจล้มไปเสียก่อน

สรีรวิทยา : ระบบประสาท, สรีรวิทยา : ระบบประสาท หมายถึง, สรีรวิทยา : ระบบประสาท คือ, สรีรวิทยา : ระบบประสาท ความหมาย, สรีรวิทยา : ระบบประสาท คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu