ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑), ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) หมายถึง, ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) คือ, ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) ความหมาย, ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑)

           พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้นิยามคำว่า วรรณคดี ว่าหมายถึงเรื่องหรือหนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี และคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้ในหนังสือวรรณคดีทัศนา พ.ศ. ๒๕๓๘ ว่า วรรณคดีเป็นศิลปะประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากจินตนาการของผู้แต่งที่มุ่งจะให้ความรู้ ความบันเทิง ประสบการณ์ และแง่คิดต่างๆ โดยใช้ภาษาเป็นสื่อ ดังนั้น วรรณคดีไทยจึงหมายถึง หนังสือของไทยที่ได้รับการยกย่องว่า แต่งขึ้นด้วยความประณีต ด้วยศิลปะของการประพันธ์ มีเนื้อเรื่องและลีลาการดำเนินเรื่องที่โน้มน้าวให้ผู้อ่านคล้อยตามได้ อาจเรียกว่า วรรณคดีประจำชาติไทยก็ได้
           วรรณคดีส่วนใหญ่มีรูปแบบคำประพันธ์ ๒ รูปแบบ คือ ร้อยกรอง และร้อยแก้ววรรณคดีแบบร้อยกรองจะเน้นการเลือกสรรถ้อยคำมาเรียบเรียงให้สัมผัสคล้องจอง มีรูปแบบที่ชัดเจน และแตกต่างกันไป เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งผู้แต่งสามารถแสดงความรู้สึกจินตนาการ และอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง จดจำง่ายและถ่ายทอดสืบต่อกันมาได้ง่ายแบบปากต่อปากเพราะภาษาพูดมีขึ้นก่อนภาษาเขียน และบทร้อยกรองยังมีท่วงทำนองที่ช่วยให้จดจำง่ายยิ่งขึ้นด้วย ส่วนวรรณคดีแบบร้อยแก้วนั้นเป็นคำประพันธ์ที่นำถ้อยคำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวไม่มีสัมผัสคล้องจอง และท่วงทำนองต่างๆ ถึงแม้ว่าจะเลือกสรรถ้อยคำให้สื่อความหมายได้ดีและไพเราะเพียงใด การจดจำและถ่ายทอดก็ยังยากกว่าร้อยกรองมาก
           วรรณคดีไทยเริ่มมีขึ้นในราชสำนักก่อน เนื้อเรื่องจึงมักเกี่ยวกับกษัตริย์ ขุนนาง และเจ้านายชั้นสูง ผู้อ่านส่วนมากเป็นข้าราชสำนักซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาในสมัยนั้นๆ ต่อมาจึงขยายลงมาสู่สามัญชน ในยุคเริ่มแรกวรรณคดีเป็นแบบร้อยกรอง ดังนั้น ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วรรณคดี เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน และรามเกียรติ์ จึงเป็นแบบร้อยกรอง ครั้นเมื่อวัฒนธรรม ตะวันตกเริ่มแพร่เข้ามาสู่สังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์รูปแบบวรรณคดีจึงเปลี่ยนไป โดยมีร้อยแก้วเกิดขึ้นมา เนื้อหาเรื่องราวเปลี่ยนแปลงเป็นชีวิตของสามัญชนบ้าง เช่น วรรณคดีเรื่องมัทนะพาธา นิทราชาคริต เงาะป่า เป็นต้น
           แม้ว่าวรรณคดีไทยจะมุ่งให้ความบันเทิงและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ แต่จินตกวีได้สอดแทรกเรื่องราวของยุคนั้นสมัยนั้น เข้าไปในเรื่องด้วยอย่างเหมาะสมกลมกลืนนอกจากจะทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกเหมือนได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยแล้ว ยังเสมือนเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพสังคมในยุคนั้น ผู้อ่านจึงได้รับความรู้หลากหลายทั้งด้านภาษา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี แนวความคิด ความเชื่อ และความรู้เรื่องพืชพรรณไม้ไปพร้อมๆ กัน
           ในอดีต วิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับพืชพรรณไม้มาตลอด สิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่อาหารหลัก ผัก ผลไม้ เชื้อเพลิง ในการหุงต้มอาหาร เส้นใยที่ถักทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แม้แต่เครื่องประทินผิวเพื่อความงามของผู้หญิงก็ได้มาจากพรรณไม้ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาด้วยพืชสมุนไพร การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของแต่ละบุคคลก็ใช้พรรณไม้เป็นสำคัญ ดังนั้น วรรณคดีจึงเป็นเสมือนตำราว่าด้วยเรื่องพืชพรรณไม้ที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะไม่เพียงแต่บอกถึงความหลากหลายของพืช ลักษณะ ความงดงาม การมีกลิ่นหอม ยังบอกถึงคุณค่าและการใช้ประโยชน์ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยอีกด้วยการสอดแทรกเรื่องพรรณไม้ในวรรณคดีไทยมักอยู่ในบทชมป่า ชมสวนเปรียบเทียบความสวยงามของพรรณไม้กับผู้หญิง บทเกี้ยวพาราสี และบทอาลัยรัก ผู้อ่านจึงได้ทั้งอรรถรส และความรู้ไปพร้อมกัน
           วรรณคดีประเภทนิราศเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นระหว่างการเดินทางจึงถ่ายทอดสภาพบ้านเมืองธรรมชาติ ลำน้ำ ป่าเขาลำเนาไพร ในเส้นทางที่ผ่านไป ทำให้มีการพรรณาถึงพรรณไม้มากมายที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติและอยู่ร่วมกันเป็นสังคมพืชนิราศหลายเรื่องสะท้อนให้เห็นความสมบูรณ์ของป่า ความบริสุทธิ์สะอาดของแหล่งน้ำ ซึ่งคนสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ วรรณคดีนิราศที่กล่าวถึงพรรณไม้มากที่สุด ได้แก่นิราศสุพรรณของสุนทรภู่ กล่าวถึงพรรณไม้ ๑๘๕ ชนิด และนิราศธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กล่าวถึงพรรณไม้ ๑๓๓ ชนิด
           พรรณไม้ในวรรณคดีไทยนอกจากจะเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองแล้ว ยังมีไม้ปลูก พืชผัก ไม้ผลไม้ดอกหอม อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นไม้ต่างประเทศแต่มีการนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยเป็นเวลานานมากแล้ว จนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนไทย บางชนิดเจริญเติบโตได้ดีและขยายพันธุ์ไป
           ทั่วท้องถิ่น จนเข้าใจว่าเป็นพืชพื้นเมืองของไทย
    นอกจากนั้นยังมีไม้ประดับที่ปลูกเพื่อความสวยงามอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน และคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าเป็นพรรณไม้ต่างประเทศที่เพิ่งนำเข้ามา เช่น ดาวเรือง เบญจมาศ หงอนไก่ ยี่เข่ง และยี่โถ เมื่อได้อ่านวรรณคดีจะทราบได้ทันทีว่า แท้จริงแล้วไม้ประดับต่างถิ่นเหล่านี้มีปลูกในเมืองไทยมานานแล้ว บางชนิดมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
           ชื่อของพรรณไม้บางชนิดในวรรณคดี มีการเขียนสะกดแตกต่างออกไปจากคำทั่วไปบ้างทั้งนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ เช่น มะม่วง เป็นหมากม่วง ลำใย เป็นรำไย และกระทุ่ม เป็นกทุ่ม เป็นต้น ถึงแม้ว่าวรรณคดีไทยจะให้ความรู้ในเรื่องพรรณไม้อย่างมากมายและมีคุณค่ายิ่ง แต่บางบทบางตอนอาจมีข้อขัดแย้งกับความเป็นจริงอยู่บ้าง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นเพราะกลอนพาไป เช่น ในเรื่องอิเหนา ตอนเดินป่า ได้บรรยายพรรณไม้ที่พบไว้ว่า


พอเข้าป่าพาใจให้ชื่น หอมรื่นดอกดวงพวงบุปผา

สาวหยุดพุดจีบบีบจำปา กรรณิการ์มหาหงษ์ชงโค
ลำดวนดอกดกตกเต็ม ยี่เข็งเข็มสารภียี่โถ
รสสุคนธ์ปนมะลิผลิดอกโต ดอกส้มโอกลิ่นกล้าน่าดม
อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

           ยี่เข่งและยี่โถเป็นไม้ประดับต่างถิ่น ซึ่งคงมีปลูกในอุทยาน หรือสวนดอกไม้ตามบ้านเท่านั้นไม่มีขึ้นในป่า อาจเป็นไปได้ว่า ทรงพระราชนิพนธ์ขณะที่ประทับในอุทยาน และเห็นดอกไม้ ๒ ชนิดนี้จึงได้นำมาใส่ไว้ในบทกลอนด้วยอย่างไรก็ตาม ข้อขัดแย้งเหล่านี้มีเพียงส่วนน้อยซึ่งไม่มีผลต่ออรรถรสและคุณค่าของวรรณคดีไทย
           ส่วนใหญ่หนังสือพรรณไม้ หรือดอกไม้ในวรรณคดีที่มีการจัดพิมพ์กันอยู่จะเน้นไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ดอกหอม ดังนั้น เพื่อให้ได้รับความรู้ที่แตกต่างออกไปบ้าง ในที่นี้ จึงจะเลือกพรรณไม้ในวรรณคดีที่มีบทบาทสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยในรูปแบบต่างๆ กัน ได้แก่ พันธุ์ไม้ที่ใช้ทำสีย้อมผ้า พันธุ์ไม้ดอกหอมที่ใช้ทำงานประดิษฐ์ต่างๆ และบูชาพระ พันธุ์ไม้ที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อ พันธุ์ไม้ที่ใช้เป็นยารักษาโรค พันธุ์ไม้น้ำและพันธุ์ไม้ชายน้ำ พันธุ์ไม้ประดับต่างถิ่น และพันธุ์ไม้ที่ชื่อมีปัญหา มาบรรยายให้เป็นที่รู้จักและตระหนักถึงคุณค่า ทั้งนี้ เพื่อให้พันธุ์ไม้เหล่านี้ได้มีส่วนกระตุ้นให้ผู้อ่านมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์บ้าง

ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑), ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) หมายถึง, ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) คือ, ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) ความหมาย, ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu