ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย หมายถึง, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย คือ, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย ความหมาย, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย

          บุคคลสำคัญที่นำกิจการการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทยคือ หมอแดน บีช บรัดเลย์ซึ่งคนไทยเรียกว่าหมอแบรดเลย์หรือบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley M.D.) หมอบรัดเลย์เกิดวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๕๑ ได้ออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาพร้อมกับภรรยาจากเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซท สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ โดยเรือใบ ใช้เวลาหกเดือนจึงมาถึงเมืองสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีอเมริกันได้พักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลาหกเดือนรอให้คลื่นลมสงบ ระหว่างพักอยู่นั้นได้ศึกษาภาษาไทยไปบ้าง และได้ศึกษาคุ้นเคยกับแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยไม้ไปด้วย แล้วจึงลงเรือเข้ามาในประเทศไทย
          คณะมิชชันนารีได้มอบให้หมอบรัดเลย์นำเอาแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยไม้และแผ่นหินที่ทำมาจากเมืองเบงกอลเครื่องหนึ่ง และตัวพิมพ์ซึ่งมีตัวพิมพ์อักษรไทยอยู่ด้วยนำเข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วยเรือใบได้มาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๘ คณะมิชชันนารีใช้เวลาในการติดตั้งและเตรียมการพิมพ์นานพอสมควรกว่าจะจัดพิมพ์หนังสือไทยออกมาได้เป็นครั้งแรก ตามบันทึกหมอบรัดเลย์เขียนไว้ว่า ในวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๗๙ บาทหลวง ชาร์ลส โรบินสัน ได้ส่งหนังสือฉบับหนึ่งที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรไทยมาให้หมอบรัดเลย์แยกถ้อยคำ นับว่าหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในเมืองไทย ผู้เป็นช่างพิมพ์คือบาทหลวงโรบินสัน และผู้จัดพิมพ์คงเป็นหมอบรัดเลย์ หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์นั้นเป็นจุลสาร หนา ๘ หน้า เป็นเรื่องบัญญัติสิบประการของคริสต์ศาสนาพิมพ์จำนวน ๑,๐๐๐ ฉบับ
          คณะมิชชันนารีได้ส่งช่างพิมพ์อเมริกันคนแรกเข้ามาประจำในเมืองไทยคือ นายโรเบิร์ต ดี.ดาเวนพอร์ต (Robert D. Davenport) เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒ กรกฎาคมปีเดียวกันและในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๐ เรือใบเจมมะดิลดา ได้นำแท่นพิมพ์ทำด้วยโลหะยี่ห้อโอทีส (Otis) หนึ่งแท่น และยี่ห้อสแตนดิง (Standing) หนึ่งแท่น พร้อมด้วยกระดาษ ๑๐๐ รีม จากเมืองสิงคโปร์เข้ามาในกรุงเทพฯ ทำให้โรงพิมพ์มิชชันนารีมีทั้งช่างพิมพ์และเครื่องพิมพ์พร้อมที่จะพิมพ์งานได้อย่างดี กระดาษที่ใช้พิมพ์นั้นตอนแรกเริ่มพวกมิชชันนารีสั่งผ่านเข้ามาจากสิงคโปร์ แต่บางคราวกระดาษขาดมือ บาทหลวงโรบินสันได้ทดลองให้ใช้กระดาษที่ผลิตจากเมืองจีนมาใช้พิมพ์แทน ซึ่งมีราคาถูกกว่ากระดาษจากประเทศตะวันตกเท่าตัว แต่คุณภาพทางการพิมพ์ไม่ดีเท่าอย่างไรก็ดีได้มีการใช้กระดาษที่ผลิตในประเทศตะวันออกพิมพ์หนังสือหลายเล่ม
           ใน พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จ้างโรงพิมพ์มิชชันนารีอเมริกัน พิมพ์หมายประกาศห้ามสูบฝิ่นจำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับ นับว่าเป็นเอกสารทางราชการของไทยชิ้นแรกที่ได้จัดพิมพ์ขึ้น ทางโรงพิมพ์ต้องใช้เวลาพิมพ์อยู่เดือนเศษจึงเสร็จกระดาษที่ใช้พิมพ์ก็เป็นกระดาษที่ผลิตในเอเชีย
          สำหรับตัวพิมพ์ที่นำมาจากสิงคโปร์ตอนแรก เมื่อใช้งานก็ย่อมสึกหรอลงไป จำเป็นต้องสั่งหล่อเพิ่มเติมจากสิงคโปร์เข้ามาใช้งาน แต่ตัวพิมพ์ที่สั่งหล่อจากต่างประเทศมักไม่มีความถูกต้องแน่นอน และไม่สมบูรณ์ ต้องชี้แจงแก้ไขกันมาก การอธิบายกันโดยจดหมายทำได้ยาก ทางคณะมิชชันนารีจึงได้ส่งคณะไปสั่งทำแม่ทองแดงที่เมืองปีนัง และนำไปหล่อเป็นตัวพิมพ์ที่เมืองมะละกา โดยการควบคุมของนายแซมมวลไดเออร์ (Samuel Dyer) ช่างหล่อตัวพิมพ์ของคณะลอนดอนมิชชันนารีเมืองปีนัง แต่ก็ยังได้ตัวพิมพ์ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ตัวครบสมบูรณ์ จึงได้คิดที่จะหล่อตัวพิมพ์ขึ้นเองในเมืองไทย โดยส่งเครื่องมือสำหรับหล่อตัวพิมพ์จากสิงคโปร์ คณะมิชชันนารีได้นำเครื่องมือเหล่านั้นเข้ามาดำเนินการหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นในเมืองไทยได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๓๘๔ รูปตัวพิมพ์ที่หล่อได้ในเมืองไทยมีรูปร่างสวยงามกว่าตัวพิมพ์ที่ซื้อมาจากสิงคโปร์ และสามารถย่อขนาดให้เล็กลงกว่าตัวเดิมมาก

          หมอบรัดเลย์เป็นผู้ที่ดำเนินการริเริ่มธุรกิจทางการพิมพ์ขึ้นในเมืองไทยมากมายหลายอย่าง เช่น
          ใน พ.ศ. ๒๓๘๕ ได้พิมพ์ปฏิทินตามสุริยคติเป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และพิมพ์หนังสือคัมภีร์ครรภรักษา ซึ่งเป็นหนังสือทางวิชาการแพทย์
          ต่อมาวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ได้ออกหนังสือพิมพ์เป็นฉบับแรกขึ้นในเมืองไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (Bangkok Recorder) ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า จดหมายเหตุอย่างสั้น ออกเดือนละสองครั้ง ไม่มีผู้เป็นเอดิเตอร์ ทำอยู่ได้ปีเดียวก็เลิกกิจการไป และออกใหม่อีกใน พ.ศ.๒๔๐๗ เป็นรายเดือนๆ  ละฉบับ โดยมีหมอบรัดเลย์เป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือที่บรรจุสารคดี และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ
          พ.ศ. ๒๔๐๒ หมอบรัดเลย์ได้นำแท่นพิมพ์หิน (Lithographic Press) เข้ามาใช้งานเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
          พ.ศ. ๒๔๐๔ หมอบรัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัยมาจัดพิมพ์จำหน่าย นับว่าเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ใน การพิมพ์หนังสือครั้งแรกในประเทศไทย และได้จัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวอักษรลาวขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย
          พ.ศ. ๒๔๐๕ พิมพ์หนังสือกฎหมายสยาม พ.ศ. ๒๔๐๗ พิมพ์เรื่องสามก๊กและพงศาวดารหมอบรัดเลย์ได้จัดพิมพ์หนังสือวรรณคดีออกมาหลายเรื่องและจัดพิมพ์หนังสือสารคดีเป็นจำนวนมาก หนังสือหลายเล่มเป็นหนังสือที่หมอบรัดเลย์แปลและแต่งเอง หนังสือที่หมอบรัดเลย์ผลิตออกมา ได้เข้าเล่มเป็นรูปหนังสือเล่มแบบที่ผลิตในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นของใหม่ในเมืองไทย เพราะแต่เดิมหนังสือไทยมีลักษณะเป็นสมุดพับกลับไปกลับมาเรียกว่าสมุดไทย เป็นการเขียนคัดลอกกันลงบนสมุดข่อย อาจเป็นสมุดข่อยดำหรือข่อยขาวแต่เล่มหนังสือที่หมอบรัดเลย์ผลิตขึ้นเป็นหนังสือที่มีการเย็บเล่ม เข้าปกแบบหนังสือฝรั่งจึงเรียกว่าสมุดฝรั่ง

          โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ตอนแรกตั้งอยู่ใต้ถุนบ้านของคณะมิชชันนารีบนที่เช่าของเจ้าพระยาพระคลัง (ต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์) อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ริม คลองหน้าวัดประยูรวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้ย้ายไปอยู่หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง โรงพิมพ์มีชื่อว่าโรงพิมพ์มิชชันนารีอเมริกัน (American Missionary Association Press) ธุรกิจทางการพิมพ์ที่หมอบรัดเลย์ดำเนินการจะเห็นได้จากแผ่นโฆษณาของหมอบรัดเลย์ที่จะคัดมาให้ดู และจะได้เห็นสำนวนการเขียนภาษาไทยของหมอบรัดเลย์ด้วย

          หมอบรัดเลย์ในตอนหลังได้ใช้ชีวิตในเรื่องการพิมพ์เกือบทั้งสิ้น โดยแทบจะพูดได้ว่าเลิกอาชีพแพทย์และได้ออกจากคณะมิชชันนารีมาดำเนินการทางด้านการพิมพ์และทำหนังสือพิมพ์จนในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ นายโอบะเร กงสุลฝรั่งเศสได้ฟ้องหมอบรัดเลย์ในฐานะเอดิเตอร์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ต่อนายฮูต กงสุลอเมริกัน ฐานตีพิมพ์โฆษณาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่ากงสุลฝรั่งเศส ได้ขอให้รัฐบาลไทยเอาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเรื่องอื่นๆอีกซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้กงสุลฝรั่งเศสต้องอับอายคนทั้งปวง ทำให้คนทั้งหลายเกลียดชังตนขอเรียกค่าเสียหาย ๑,๕๐๐ เหรียญ ศาลกงสุลอเมริกันได้สืบพยานและตัดสิน ในที่สุดให้หมอบรัดเลย์เสียค่าทำขวัญให้แก่กงสุลฝรั่งเศสเป็นเงิน ๙๐๐เหรียญ และต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลต่างๆ อีกลดให้แล้วเป็นเงิน ๔๘ เหรียญ ๗๕ เซ็นต์เมื่อมาเมืองไทยหมอบรัดเลย์นำภรรยามาด้วยและได้รับลูกของมิชชันนารีด้วยกันเป็นบุตรบุญธรรมคนหนึ่งเมื่อมาแวะที่สิงคโปร์ และเมื่อมาอยู่ในพระนครหมอบรัดเลย์และภรรยามีลูกอีก ๒ คนรวมเป็น ๓ คน เป็นหญิงทั้งสิ้น นางบรัดเลย์อายุสั้น ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๓๘๘ ด้วยโรควัณโรคและศพได้ฝังอยู่ในเมืองไทย ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ หมอบรัดเลย์กลับไปอเมริการะยะหนึ่งโดยพาบุตรและบุตรบุญธรรมกลับไปอเมริกาด้วยทั้ง ๓ คน และได้กลับมาเมืองไทยอีกในปี พ.ศ. ๒๓๙๓  หมอบรัดเลย์ได้ภรรยาใหม่มาคนหนึ่ง ซึ่งได้มาดูแลหมอบรัดเลย์ตอนแก่ตัวลง กับภรรยาใหม่นี้ได้มีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่งคือ คอร์เนลิอุส บี บรัดเลย์ (Cornelius) หมอบรัดเลย์ได้ถึงแก่กรรมในเมืองไทยเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๔ ศพฝังที่สุสานโปรเตสแตนต์ ที่ใกล้โรงงานยาสูบ ถนนตก ซึ่งยังมีอยู่จนทุกวันนี้

การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย หมายถึง, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย คือ, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย ความหมาย, การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu