
การขายไปยังตลาดต่างประเทศหรือการส่งออก ผู้ประกอบการส่งออกจะต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ตั้งแต่การจัดการ คือ เงินทุนสำนักงาน ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ดำเนินการการรู้จักและการสร้างความเชื่อถือต่อลูกค้า และประการสำคัญคือ ความพร้อมในด้านการผลิตเพื่อการส่งออกซึ่งจะโยงไปถึงชนิดของสินค้าโดยเฉพาะผู้ส่งออกรายใหม่ๆ มักจะนิยมเริ่มจากสินค้าหัตถกรรมเพราะเป็นสินค้าที่เข้าสู่ตลาดได้ง่ายเนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร โดยไม่เก็บภาษีขาเข้า แม้กฎเกณฑ์และข้อกำหนดจะแตกต่างกันในแต่ละตลาดแต่ก็ไม่มากนัก จึงทำให้ผู้ส่งออกรายใหม่คิดว่าสินค้าหัตถกรรมนั้นใช้เงินทุนน้อย สามารถหาผลิตภัณฑ์ได้จากแหล่งต่างๆ ในชนบท แต่ก็มีข้อที่ควรระวังคือความสามารถในการผลิต เช่น ปลาตะเพียน ซึ่งเป็นหัตถกรรมไทยที่ทำกันมาช้านานผู้ส่งออกจะไปซื้อจากชาวบ้านมาส่งออก แต่ถ้าหากมีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมากก็จะมีปัญหาในการจัดหา เพราะแต่ละแห่งที่ผลิตจะมีคุณภาพและฝีมือที่แตกต่างกันและวัสดุที่ใช้ก็ไม่เหมือนกันคุณภาพของสินค้าจึงไม่สม่ำเสมอ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เสียลูกค้าไปได้เหมือนกัน ปริมาณการผลิตและคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน ระยะเวลาการส่งมอบที่รวดเร็วและตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญต่อการส่งออกอย่างมาก