
แหล่งผลิตนี้อยู่ริมแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ในเขตบ้านปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี งานจากแหล่งผลิตแห่งนี้ แพร่กระจายอยู่ในชุมชนหลายแห่งในภาคกลาง รวมทั้งในเกาะเมืองอยุธยาด้วยเครื่องปั้นจากแหล่งนี้ทำจากดินเนื้อละเอียดเมื่อนำไปเผาเนื้อภาชนะเป็นสีแสด งานที่ผลิตเป็นงานไม่เคลือบ มีทั้งที่เผาด้วยไฟแรงสูง เนื้อแกร่ง และเผาไฟแรงต่ำ ภาชนะที่ผลิตมีทั้ง ชาม อ่าง กุณโฑ กระปุก ไห ฝาภาชนะ รูปสัตว์ต่างๆเป็นต้น
การประดับตกแต่งลวดลายภาชนะจากแหล่งผลิตนั้น งดงามและแตกต่างไปจากแหล่งแม่น้ำน้อย แม้จะอยู่ร่วมสมัยเดียวกัน เป็นการตกแต่งด้วยการกดประทับลงไปบนเนื้อภาชนะเป็นรูปต่างๆ ก่อนนำไปเผา เช่น ภาพพิธีแรกนาขวัญภาพนักรบขี่ช้าง ออกศึก ภาพนักรบขี่ม้าออกศึกภาพนักรบถือหอกและโล่ ภาพหงส์คาบก้านดอกไม้ ภาพการล่ากวาง ภาพการคล้องช้างลายเชิง ลายอุบะ ภาพบุคคล นอกจากลายกดประทับแล้ว ยังมีการตกแต่งด้วยลายขูดขีดลึกลงไปในเนื้อภาชนะเป็นรูปสัตว์ และลวดลายต่างๆ อีกด้วย
การผลิตเครื่องปั้นจากแหล่งทั้ง ๒ นี้ น่าจะทำขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ หรือในช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ผลิตผลส่วนใหญ่แพร่หลายอยู่ในชุมชนสมัยอยุธยา และพบในประเทศใกล้เคียงส่วนหนึ่งด้วย