ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ถมตะทอง, ถมตะทอง หมายถึง, ถมตะทอง คือ, ถมตะทอง ความหมาย, ถมตะทอง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ถมตะทอง

          "ถมตะทอง"  มีวิธีทำดังนี้

          ๑. การเตรียมวัตถุถมตะทอง ใช้วัตถุเงินซึ่งขัดไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่แกะแร เตรียมเฉพาะถึงขั้นตอนทำความสะอาดผิวตามกระบวนการของถมเงิน

          ๒. การเตรียมเนื้อทอง (ทองเปียก)
 ใช้ทองคำบริสุทธิ์อย่างน้อย ๙๙% กะจำนวนที่จะใช้แต่ละครั้งให้พอดี รีดหรือทุบให้บางที่สุดเท่าที่จะทำได้ หั่นให้เป็นฝอยละเอียด แล้วเอาเข้าเครื่องบดจนเกือบเป็นผงทราย ล้างให้สะอาด เทปรอทบริสุทธิ์ลงไปคลุกเคล้ากับผงทองนี้ในครกหินที่ได้เตรียมไว้ บดกวนจนผงทองกับปรอทละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าได้ที่ดีแล้วจะมีลักษณะข้นและเหนียว ซึ่งเรียกว่า "ทองเปียก" เก็บไว้ใช้ในขั้นต่อไป

          ๓. การทาทองหรือตะทอง นำผลิตภัณฑ์ถมเงินที่เตรียมไว้ในข้อ ๑ มาเช็ดถูให้สะอาดด้วยน้ำมะกรูดหรือมะนาว ทั้งนี้เพื่อเป็นการขจัดไขมันและไฝฝ้าต่างๆ บนผิวเงินให้หมดไป เพราะถ้ามีไขมันหรือไฝฝ้าสกปรกแล้ว เนื้อทองและปรอทจะจับผิวเงินไม่สะดวก ต่อไปใช้สำลีชุบทองเปียกที่เตรียมไว้ ถูทาวัตถุถมเงินนั้น เฉพาะที่ตรงเป็นเส้นเงินหรือภาพเงินให้ทั่วแล้วนำวัตถุนั้นไปตากแดดหรืออบความร้อนอ่อนๆ บนเตาผิง ทิ้งไว้ประมาณ ๖ ชั่วโมง ปรอทซึ่งละลายปนกับเนื้อทองนั้น เมื่อถูกความร้อนก็ระเหยกลายเป็นไอไปทีละน้อย แล้วก็จะเหลือแต่เนื้อทองจับติดแผ่นบนผิวเงินนั้นอย่างเดียว ทำอยู่เช่นนี้ประมาณ ๓-๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายอบให้ได้ความร้อนสูงกว่าเดิมจนรูปพรรณถมนั้นร้อนจัด (ระวังอย่าให้ร้อนจนเนื้อถมละลาย) เมื่อปรอทระเหยออกหมดเหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นกับเนื้อเงิน ก็เป็นอันเสร็จ ได้เป็นวัตถุถมตะทองทางช่างเรียกว่า "การรมทอง" มองดูเหมือนกับทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ จากนั้นก็นำไปขัดเงา ฟอกผิวด้วยน้ำยาชักเงา เพื่อให้ผิวทองเกลี้ยงและสุกใสขึ้น ถ้าทาทองบนพื้นที่เป็นเงินทั้งหมดเรียกว่า ถมทอง ถ้าแตะทองเพียงบางส่วนเรียกว่า ถมตะทอง

          ๔. การสลักหรือเพลาลอย
วัตถุถมทองหรือถมตะทองดังกล่าวมาแล้วนั้น ภาพหรือลวดลายต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์ เพราะภาพหรือลวดลายต่างๆ ไม่มีลายเส้น ยังไม่ชัดเจนสวยงาม ช่างจึงต้องใช้ฝีมือสลักลวดลายเพิ่ม เดิมใช้สิ่วสลักเพื่อให้ปรากฏลายเส้นเป็นส่วนประกอบต่างๆ ตามความเหมาะสมของภาพหรือลวดลายเหล่านั้น วิธีการนี้เรียกว่า "การสลักหรือเพลาลาย" ก็ตรงกับ "แกะแร" ในการทำถมเงินนั่นเอง เมื่อเสร็จจากการสลักหรือเพลาลายแล้ว จึงไปทำความสะอาดและชักเงาอีกครั้งหนึ่ง จึงเสร็จขั้นตอนสำหรับการประดิษฐ์เครื่องถมตะทองโดยเรียบร้อยสมบูรณ์

          ถมตะทองนี้โดยทั่วไปส่วนมากก็เรียกกันว่า ถมทอง ที่จัดอยู่ในชั้นดีนั้นต้องใช้เนื้อทองบริสุทธิ์ทาเคลือบผิวเงินมากพอสมควร ทั้งต้องใช้ความประณีตมากด้วย ฉะนั้นต้นทุนในการผลิตจึงสูง แต่ก็คุ้มค่าเพราะมีความทนทานมาก เนื้อทองจะเคลือบผิวเงินแน่นอยู่ตลอด ไม่จางหรือหลุดออกแม้จะใช้สอยนานนับร้อยปี ซึ่งต่างกับชุมทองหรือที่เรียกว่า "กะไหล่" เป็นอันมากอย่างที่เทียบกันไม่ได้เลย การตะทองดังกล่าวมานี้เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความชำนาญอย่างมากของบรรดาช่างฝีมือ

          การสลักหรือเพลาลาย
          แน่งน้อย ปัญจพรรค์ อธิบายไว้ว่า "การเพลาลาย คือ การตกแต่งส่วนละเอียดลงบนผิว ด้วยการใช้สิ่วเดินเส้นรูปนอกของลายภาษาช่างเรียกว่า เหยียบพื้นให้ยุบลงกว่าลายบนเล็กน้อย"
         การแกะแร เป็นขั้นเดียวกับการเพลาลายแต่มีวิธีการต่างกันเล็กน้อย คือใช้มีดหรือสิ่วเล็กๆ แกะหรือแรเป็นลวดลาย เมื่อแกะแรได้ที่แล้วจะมองเห็นร่องลายที่แกะแรไว้ เป็นเงาวิบวับในยามสะท้อนแสงหรือเคลื่อนไหว ทำให้ดูมีชีวิตชีวาเป็นอย่างยิ่ง "การเพลาลายนิยมใช้กับถมทอง แกะแรใช้กับถมเงิน"

          อาจารย์มนตรี จันทพันธ์ อธิบายว่า
          "การรักษาเครื่องถม
          ๑. การล้างเครื่องถม ถ้าเครื่องถมไม่สกปรกมากจะล้างประจำวัน (ทุกวัน) โดยใช้ลูกประคำดีควาย ขัดล้างด้วยแปรง (ถ้าไม่มีแปรงทองใช้แปรงสีฟันใช้แล้วที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม) ช้ได้กับถมทั้ง ๒ ชนิด ถ้าไม่มีลูกประคำดีควาย ใช้น้ำยาล้างจานที่มีส่วนผสมของน้ำมะนาว แล้วล้างด้วยน้ำอุ่น เสร็จแล้วเช็ดให้สะอาด
          ๒. ถ้าเครื่องถมสกปรกมาก ให้ล้างโดยวิธีใช้กรด
             ๒.๑ ถมทอง ใช้ตะเกียงเป่ารมให้สุก เมื่อเย็นจึงนำไปล้างหัวกรด ปริมาณกรด ๘๐% น้ำ ๒๐%
             ๒.๒ ถมเงิน เมื่อถมเย็นตัวแล้ว แช่ในกรดกำมะถันเจือจางประมาณ ๕ นาที แล้วนำมาขัดด้วยแปรงทองเหลือง"

ถมตะทอง, ถมตะทอง หมายถึง, ถมตะทอง คือ, ถมตะทอง ความหมาย, ถมตะทอง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu