ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน หมายถึง, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน คือ, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน ความหมาย, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน

          ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า ในประเทศไทยมีประวัติการทอผ้าใช้กันในหมู่บ้านและในเมืองโดยทั่วไปมาตั้งแต่โบราณกาล แต่การทอผ้าด้วยมือตามแบบดั้งเดิมนั้นก็เกือบจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิง หากไม่ได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาได้ทันกาล ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเปิด มีการค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลานานสามารถซื้อผ้านอกที่สวยงามแปลกใหม่และราคาถูกได้ง่ายมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

          หลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษ ในพ.ศ. ๒๓๙๘ ไทยก็สั่งสินค้าผ้าจากต่างประเทศมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการสำรวจพบว่าไทยสั่งผ้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ทำให้สิ้นเปลืองเงินตราปีละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มฟื้นฟูส่งเสริมการเลี้ยงไหมและทอผ้าไทยกันอย่างจริงจัง ในพ.ศ. ๒๔๕๒ โปรดฯ ให้สถาปนากรมช่างไหมขึ้น และโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมที่วังสระปทุม ซึ่งต่อมาขยายสาขาออกไปยังจังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ทรงจ้างครูชาวญี่ปุ่นมาสอนชาวบ้าน แต่การส่งเสริมได้ผลไม่คุ้มทุน ต่อมาจึงเลิกจ้างครูญี่ปุ่นและชาวบ้านก็หันมาทอผ้าตามวิธีพื้นบ้านเช่นเดิม

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนับเป็นโชคอันประเสริฐอย่างหนึ่งสำหรับผ้าพื้นเมืองของไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงสนพระราชหฤทัยผ้าพื้นเมืองเกือบทุกประเภทอย่างแท้จริง ต่อเนื่องมากว่า ๒๐ ปี ทรงตั้งมูลนิธิศิลปาชีพ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้นเพื่อส่งเสริมการทอผ้าของชาวบ้านในชนบททรงเป็นผู้นำในการใช้สอยผ้าพื้นเมืองของไทยในชีวิตประจำวัน และในงานพระราชพิธีต่างๆ ทรงนำผ้าไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ลวดลายที่ชาวบ้านได้สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้น  ก็ได้ทรงเก็บตัวอย่างไว้เพื่ออนุรักษ์  และเพื่อศึกษาสืบทอดต่อไป ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ องค์การยูเนสโกจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ และประกาศพระเกียรติคุณ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำในการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมการทอผ้าพื้นเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในโลก

          หน่วยงานของรัฐบาลหลายแห่ง เช่น กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็ได้ส่งนักวิชาการออกไปศึกษา  ค้นคว้าศิลปะการทอผ้าพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบและลวดลายผ้าจากจังหวัดต่างๆ นำมาพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่หลายครั้ง

          มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นและศูนย์วัฒนธรรมในบางจังหวัดบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สถาบันทักษิณคดีศึกษาที่สงขลา ฯลฯ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องผ้าในท้องถิ่น และจัดนิทรรศการรวมทั้งพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับผ้าในภูมิภาคออกเผยแพร่ด้วย

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดเชียงใหม่  จังหวัดน่าน  รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมในต่างจังหวัดหลายแห่ง  ต่างก็มีการจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับผ้าพื้นเมืองของท้องถิ่นนั้นๆ กันอยู่บ้างแล้ว

          ในเรื่องการยกย่องเชิดชูเกียรติช่างทอผ้านั้นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ก็ได้เล็งเห็นคุณค่าของศิลปินผู้ทอผ้าพื้นเมือง และได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติช่างทอผ้าฝีมือเอก ๒ คน ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คือ นางแสงดา  บัณสิทธิ์จังหวัดเชียงใหม่ กับนางพยอม  ลีนวัฒน์ จังหวัด ร้อยเอ็ด นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ยังได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการส่งเสริมด้านวิจัย  และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจขบวนการผลิตและลวดลายต่างๆ ของผ้าพื้นเมืองไทย

          เห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้ ผ้าพื้นเมืองของไทยในภาคต่างๆ กำลังได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู  และพัฒนา รวมทั้งได้รับการส่งเสริมให้นำมาใช้สอยในชีวิตประจำวันกันอย่างกว้างขวางมาก  ดังนั้น จึงเกิดมีการผลิตผ้าพื้นเมืองในลักษณะอุตสาหกรรมโรงงาน โดยมีบริษัทจ้างช่างทอ ทำหน้าที่ทอผ้าด้วยมือตามลวดลายที่กำหนดให้  โรงงานหรือบริษัทจัดเส้นไหมหรือเส้นด้ายที่ย้อมสีเสร็จแล้วมาให้ทอ  เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ  บางแห่งจะมีคนกลางรับซื้อผ้าจากช่างทออิสระซึ่งเป็นผู้ปั่นด้าย  ย้อมสี  และทอตามลวดลายที่ต้องการเองที่บ้าน แต่คนกลางเป็นผู้กำหนดราคาตามคุณภาพและลวดลายของผ้าที่ตลาดต้องการในบางจังหวัดมีกลุ่มแม่บ้านช่างทอผ้าที่รวมตัวกันทอผ้าเป็นอาชีพเสริม  และนำออกขายในลักษณะสหกรณ์ เช่น กลุ่มทอผ้าของศิลปาชีพอย่างไรก็ตามในสภาพที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นเป็นการทอเพื่อขายเป็นหลัก   ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาสีสัน  คุณภาพ  และลวดลาย ให้เข้ากับรสนิยมของตลาด

ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน หมายถึง, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน คือ, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน ความหมาย, ศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของไทยในปัจจุบัน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu