ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หมายถึง, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือ, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความหมาย, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

          นับจากเมื่อได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้ว ก็ไม่เคยได้จัดอีก จนใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ในรัชกาลที่ ๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  อันเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้น และได้จัดให้มีกระบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป  พระไตรปิฏก  และพระสงฆ์แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลองกระบวนครั้งนั้นเรียกกันว่า  "กระบวนพุทธพยุหยาตรา" การจัดรูปกระบวนเรือคล้ายรูปกระบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบเนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง ไม่มีเรือพอจะจัดให้เต็มรูปริ้วกระบวนแบบฉบับที่มีมาแต่โบราณ

          ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค  สำหรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ตามพระราชประเพณีที่เคยมีมา แต่ก็ไม่อาจจัดกระบวนให้ครบถ้วนเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ หรือพยุหยาตราน้อยได้เช่นกัน มีเรือดั้งเหลือ ๑๐ คู่  เรือรูปสัตว์ ๒ คู่  คือ เรือพาลีรั้งทวีปกับเรือสุครีพครองเมือง ๑ คู่ เรืออสุรวายุภักษ์กับเรืออสุรปักษาอีก ๑ คู่  เรือที่ไม่มีคือ เรือกระบี่  เรือครุฑ และเรือคู่ชัก  จึงใช้เรืออสูรมาเป็นเรือคู่ชัก  ใช้เรือดั้งทอง และเรือพญาวานรเสริมริ้วเรือดั้งให้ครบ ๑๑ คู่ และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริในอันที่จะฟื้นฟูประเพณีการเสด็จ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค กรมอู่ทหารเรือ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ได้ต่อเรือพระราชพิธีและเรือดั้งจนมีครบ ๑๑ คู่ ส่วนเรือรูปสัตว์ก็ต่อตัวลำขึ้นใหม่  ใช้หัวเดิมบ้างและต่อใหม่หมดบ้าง จนครบ ๘ ลำ  การเสด็จพระราชดำเนินถวายพระกฐินด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งสุดท้าย ประกอบการเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๐ และมีการซ้อมใหญ่อีกครั้งใน พ.ศ.๒๕๑๒

         ใน พ.ศ. ๒๕๒๕  เป็นโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ ๒๐๐ ปี รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้น พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งคือ การเสด็จพยุหยาตราชลมารค ในวันที่ ๕ เมษายน และกระบวนพยุหยาตรา ในวันที่ ๑๓ เมษายน โดยอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ออกเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำในวันสงกรานต์  อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทย และถือเป็นสิริมงคลในการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  ทรงเป็นแม่กองปรับปรุงการจัดริ้วกระบวนจนดูโอ่อ่าตระการตายิ่ง

          อย่างไรก็ดี  ต่อมาในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม  โดยมีการจัดกระบวนเรือตามแบบกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ และใช้บทเห่เดิมของ
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  เป็นบทเห่ชมกระบวนเรือชมทิวทัศน์  ชมนก  ชมปลา  และชมไม้น.ต.มงคล  แสงสว่าง เป็นเจ้าหน้าที่เห่ นอกจากนี้มี พ.จ.อ.สุจินต์  สุวรรณ์  และ พ.จ.อ.ทวี  นิลวงษ์ เป็นผู้ช่วยในการเห่ด้วย

          ก่อนจะถึงวันพระราชพิธี  กองทัพเรือได้นำเรือพระที่นั่งออกจัดกระบวนเรือฝึกซ้อมใหญ่ ๒ ครั้ง คือ วันที่ ๖ และ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐

          ในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑  เป็นวันมหามงคลของราชอาณาจักรไทยอีกวาระหนึ่งด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ได้ ๔๒ ปี ๒๓ วัน ซึ่งนานกว่าพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ในอดีตรัฐบาลได้จัดงานฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นในงานนี้  ระหว่างวันที่ ๒-๕ กรกฎาคม มีการเห่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์  ที่ท่าราชวรดิษฐ์  โดยบทเห่นั้น  คุณหญิงกุลทรัพย์เกษแม่นกิจ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ประพันธ์

          จากความงดงามในศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ประกอบกับเป็นเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว  ยังมีความสำคัญในการเป็นมรดกของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลอย่างยิ่งลำหนึ่งที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยโบราณ  ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นงานศิลปกรรมที่รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ  จึงได้ให้การทำนุบำรุงรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดียิ่ง  จนสามารถนำมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีต่างๆ จนมาถึงปัจจุบัน  อันถือได้ว่าเป็นการสืบต่อความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการต่อเรือและการเดินเรือรวมทั้งการค้าขายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลซึ่งกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

          ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร  ให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่  เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒)   คณะกรรมการองค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) ประกอบด้วย นายอีเวน เซาท์บี-เทลยัวร์ (MR.EWEN SOUTHBY TAILYOUR)  ประธานองค์การเรือโลก   นายไมเคิล ไทแนน (MR.MICHAEL TYNAN) นักกฎหมายประจำองค์การฯ และนายเจมส์ ฟอร์ไซท์ (MR.JAMES FORSYTH) ได้เดินทางมายังราชอาณาจักรไทย และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  คือ  เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก  ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๒ (THE WORLD SHIP TRUST MARITIME HERITAGE AWARD "SUPHANNAHONG ROYAL BARGE") จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากรครั้งนั้น  คือนายสุวิชญ์ รัศมิภูติ  ซึ่งเป็นกรมที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  เรือพระราชพิธี

          องค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) แห่งสหราชอาณาจักร เป็นองค์การที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙  (พ.ศ. ๒๕๒๒)  มี ดยุกแห่งเอดินบะระ  (DUKE OF EDINBURGH) เป็นองค์อุปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและความรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือ การต่อเรือ ส่งเสริมการทำนุบำรุงรักษาเรือสมัยโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งต่อโลกและมนุษยชาติเพื่อให้เป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สาธารณชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสได้ชื่นชมต่อไป  รวมทั้งดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรือต่างๆ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการทำนุบำรุงเรือนั้นๆ

          องค์การเรือโลกได้เคยมอบรางวัลแก่ องค์กรบุคคล และเรือต่างๆ แล้ว ๑๒ เหรียญ ที่สำคัญมีเรือวาซา (WASA) ของสวีเดน  เรือแมรีโรส (MARY ROSE) ของสหราชอาณาจักร  เรือจิลแลนด์ (JYLLAND) ของเดนมาร์ก  เรือยูเอสเอสคอนสติติวชัน (USS CONSTITUTION) ของสหรัฐอเมริกา และในปีเดียวกับที่มอบเหรียญรางวัลให้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ก็ได้มอบรางวัลให้แก่เรือมิกาซา (MIKASA) แห่งประเทศญี่ปุ่นด้วย

          สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ นอกจากได้รับเหรียญรางวัลแล้ว ยังได้รับสาส์นแสดงความยินดีจากเจ้าชายฟิลิป ดยุก แห่งเอดินบะระด้วย

          จากการพิจารณาโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณเดิม ซึ่งเป็นโขนเรือแกะสลักจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำ  ลวดลายเขียนลายดอกพุดตานพื้น  ส่วนท้ายเรือมีลักษณะคล้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช  แต่ส่วนเหนือมาลัยท้ายเป็นสร้อยหางครุฑ  ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ  สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือเป็นสีแดงชาดใช้กัญญาเรือเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ  ตัวบัลลังก์กัญญาเรือ  เป็นลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก  แผงพนักพิงแกะสลักลวดลายเป็นรูปครุฑยุดนาค  ลงรักปิดทองประดับกระจกภายในเหมือนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลูกแก้วรับขื่อเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก  เสาสองต้นทาสีดำ  ส่วนพายกับฉากลงรักปิดทอง  การวางฉัตร ให้เว้น ๒ กระทงต่อ ๑ ฉัตร  ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือ  เป็นทองแผ่ลวด  ลายโคมแย่ง  ลงรักปิดทองประดับกระจกพื้นแดงลายจั่วและลายผ้าม่านโดยรอบประดับด้วยทองแผ่ลวด  มีฝีพาย ๕๐ นาย สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๑๑.๗ ล้านบาท
          เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙  สร้างเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙

          ขนาดของเรือ
          ความยาวทั้งหมด   ๔๔.๓๐  เมตร
          ความยสวแนวน้ำหนัก บรรทุกเต็มที่  ๓๔.๖๐  เมตร
          ความกว้างของเรือ  ๓.๒๐  เมตร
          ความลึกของเรือ  ๑.๑๐  เมตร
          กินนน้ำลึก  ๐.๔๐  เมตร
          ระวางขับน้ำบรรทุกเต็มที่  ๖๐  ตัน

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หมายถึง, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือ, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความหมาย, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu