ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ หมายถึง, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ คือ, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ ความหมาย, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗

          การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีวิธีการจัดกระบวนเป็น ๒ กระบวน  เรียกว่า "กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค" และ "กระบวนหยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค"  อีกกระบวนหนึ่ง  จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ครั้งทรงทำหน้าที่แทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดรูปกระบวนเข้าหาจำนวนเรือที่มีอยู่เป็นสำคัญ  ยึดหลักโบราณราชประเพณีแต่เพียงอนุโลมซึ่งริ้วกระบวนเรือที่จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ทูลเกล้าฯ ถวาย มีดังนี้

          - กระบวนพยุหยาตราใหญ่ จัดเป็น ๔ สาย มีเรือนำกระบวนเป็นเรือพิฆาต เรือดั้ง เรือรูปสัตว์ เรือเอกไชย ๒๑ คู่ เรือพระที่นั่ง ๓ องค์ และเรือตามกระบวน ๔ คู่ รวม ๔๙ ลำ
          - กระบวนพยุหยาตราน้อย จัดเป็น ๒ สาย มีเรือนำกระบวน ๑๖ คู่  เรือพระที่นั่ง ๒ องค์ และเรือตามกระบวน ๔ คู่ รวม ๔๓ ลำ

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ถือเป็นระเบียบปฏิบัติได้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา  ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกระบวนพยุหยาตราใหญ่เลียบพระนคร คราวพระบรมราชาภิเษกสมโภชรัชกาลที่ ๖  และคราวพระบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ แล้วก็ไม่แตกต่างกันมากนัก  แต่ถ้าเปรียบเทียบกับริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารค ครั้งรัชกาลที่ ๔ ที่ กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเรือบางประเภท เช่น เรือแซ เคยใช้เป็นกระบวนหน้า นำหน้าเรือพิฆาตนั้นหายไป  เรือพิฆาตที่เคยมีมาแต่เดิม ก็นำมาเข้ากระบวนถึง ๖ คู่ คือ
         เรือมังกรจำแลง             คู่กับ          เรือมังกรแผลงฤทธิ์
         เรือเหราล่องลอยสินธุ์      คู่กับ          เรือเหราลินลาสมุทร
         เรือสางกำแหงหาญ        คู่กับ          เรือสางชาญชลสินธุ์
         เรือโตขมังคลื่น              คู่กับ          เรือโตฝืนสมุทร
         เรือกิเลนประลองเชิง       คู่กับ          เรือกิเลนระเริงชล
         เรือเสือทะยานชล           คู่กับ          เรือเสือคำรณสินธุ์

         เรือดังกล่าวทั้งหมดนี้ เป็นเรือที่สร้างขึ้นไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๑  ทั้งสิ้น แต่ในกระบวนพยุหยาตราสมัยต่อมามีเรือพิฆาตเพียงคู่เดียว คือ เรือเสือทะยานชลกับเรือเสือคำรณสินธุ์ ข้อที่ผิดกันอีกประการหนึ่ง คือ การลำดับเรือรูปสัตว์ครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น เอาเรือกระบี่นำเป็นคู่หน้า เรืออสูรเป็นคู่ที่ ๒ เรือพญาวานรเป็นคู่ที่ ๓ เรือครุฑเป็นคู่ที่ ๔  แต่ในการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้น ได้นำเรือกระบี่มาเป็นคู่ที่ ๓ เลื่อนเรืออสูรเป็นคู่ที่ ๑ และเรือพญาวานรเป็นคู่ที่ ๒ แต่ต่อมาเมื่อคราวจัดกระบวนพยุหยาตราใหญ่ในงานฉลองพระนคร ครบรอบ ๑๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ได้จัดลำดับเรือรูปสัตว์เช่นเดียวกับที่จัดในครั้งรัชกาลที่ ๔

          กระบวนเรือครั้งนี้ไม่มีเรือทรงผ้าไตร หรือผ้าทรงสะพักพระพุทธรูป เพราะมิได้เสด็จขึ้นทรงนมัสการ หรือบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอารามหลวง  ดังเช่นเสด็จถวายผ้าพระกฐินหรือเสด็จเลียบพระนคร และไม่มีเรือพลับพลา เพราะมิได้ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ไม่ต้องทรงเปลื้องพระมหาพิชัยมงกุฎ หรือพระชฏามหากฐิน

          สำหรับกระบวนพยุหยาตราน้อย ชลมารคที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถือเป็นแบบตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมานั้น มีข้อแตกต่างจากกระบวนที่เคยจัดกันมาแต่ก่อนดังนี้คือ
          ๑. เดิมไม่เคยใช้เรือรูปสัตว์  คราวนี้ได้นำเอาเรือรูปสัตว์มาเข้ากระบวนด้วย  โดยจัดให้เป็นคู่ที่ ๘ ถึง ๑๑ รวม ๔ คู่ โดยตัดเรือดั้งเดิม ๔ คู่ออกไป
          ๒. เรือพระที่นั่งเป็นเรือทอดบัลลังก์กัญญา แต่เดิมเรือที่ทอดบัลลังก์กัญญาไม่ใช้เครื่องสูงแต่ในกระบวนที่จัดใหม่เปลี่ยนให้มีเครื่องสูงด้วย

          เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ สถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จประทับอยู่ในพระราชอาณาจักร  การถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราจึงมีอันต้องระงับไปเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี  และในปีพ.ศ. ๒๕๐๒  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นใหม่อีกเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน





การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ หมายถึง, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ คือ, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ ความหมาย, การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๗ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu