ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย
ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย หมายถึง, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย คือ, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย ความหมาย, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย คืออะไร
ปัจจุบันนี้ไม่อาจทราบแน่ชัดว่าบรรพบุรุษของไทยเรา รู้จักปลูกข้าวโพดกันมาตั้งแต่เมื่อใด ถึงแม้จะมีนักค้นคว้าบางท่านกล่าวว่า ชนชาติไทยอาจรู้จักปลูกข้าวโพดกันมาก่อนที่จะอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมทองเสียอีก บางท่านสันนิษฐานว่าได้รับข้าวโพดมาจากอินเดีย แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัด เอกสารเก่าแก่ที่พบเป็นจดหมายเหตุของลูแบร์ (Monsieur De La Loubere) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๓๐-๒๒๓๑ โดยได้เขียนไว้ว่า "คนไทยปลูกข้าวโพดแต่ในสวนเท่านั้น และต้มกินหรือเผากินทั้งฝักโดยมิได้ปอกเปลือกหรือกะเทาะเมล็ดเสียก่อน" เขายังได้อธิบายถึงข้าวโพดสาลี (kaou-pos-sali) ว่า เป็นอาหารเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน จดหมายเหตุฉบับนี้ทำให้พอทราบว่า ข้าวโพดมีปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว หากแต่ปลูกกันไม่มากนักคงจะปลูกกันอย่างพืชหายาก หรือพืชแปลกที่นำมาจากที่อื่น
ข้าวโพดในสมัยโบราณของไทย อาจเป็นพืชหลวง หรือพืชหายากดังกล่าวมาแล้ว ราษฎรสามัญอาจไม่ได้ปลูกกันมาก แต่เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของไทย และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ฉะนั้น ในระยะต่อมาจึงได้ขยายพันธุ์ออกไปในหมู่ประชาชนอย่างแพร่หลายแต่ก็คงมีการปลูกกันไม่มากนัก เพราะไม่ใช้เป็นอาหารหลักเหมือนข้าวเจ้า ส่วนมากคงปลูกในสวน ในที่ดอน หรือในที่ที่น้ำไม่ท่วม เพื่อรับประทานฝักสด หรือคั่วเมล็ดแก่หรืออาจใช้รับประทานแทนข้าวบ้างในยามเกิดทุพภิกขภัยเมื่อทำนาไม่ได้ผล การปลูกข้าวโพดในสมัยก่อน ๆ นั้น จึงไม่สู้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่าใดนัก
ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ นับว่าเป็นยุคต้น ๆ ของการกสิกรรมสมัยใหม่ของประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า "การกสิกรรมบนดอน" โดยที่ได้มีนักเกษตรรุ่นแรกหลายท่านที่ได้ไปศึกษาการเกษตรแผนใหม่มาจากต่างประเทศ และได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกพืชไร่หรือพืชดอน เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ และเพื่อการทำไร่นาผสม อันเป็นการบุกเบิกแนวใหม่ของการกสิกรรมในประเทศไทย และเพื่อเป็นการเปลี่ยนรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแต่เดิมเคยยึดมั่นอยู่แต่ข้าวเพียงอย่างเดียว ให้ขึ้นอยู่กับพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด ในบรรดาพืชไร่เหล่านี้ก็มีข้าวโพดรวมอยู่ด้วย แต่เดิมข้าวโพดที่มีปลูกกันในประเทศไทยขณะนั้น เป็นชนิดหัวแข็ง (flint corn) และมีสีเหลืองเข้ม แต่เมล็ดมีขนาดเล็กมาก เป็นพันธุ์ที่นำมาจากอินโดจีน ต่อมา ม.จ. สิทธิพร กฤดากร อดีตอธิบดีกรมเพาะปลูก (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ซึ่งได้ลาออกไปทำฟาร์มส่วนตัวที่ตำบลบางเบิด อำเภอสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ ทดลองสั่งพันธุ์ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ (dent corn) มาจากสหรัฐอเมริกา และทดลองปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์นิโคลสันเยลโลเดนต์ (nicholson's yellow dent) ซึ่งมีเมล็ดสีเหลือง และพันธุ์เม็กซิกันจูน (mexican june) ซึ่งมีเมล็ดสีขาว โดยได้ทดลองปลูกที่ฟาร์มบางเบิด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อใช้เมล็ดเลี้ยงไก่ไข่ขายส่งตลาดกรุงเทพฯ และเลี้ยงสุกรขายตลาดปีนัง นอกจากนี้ ท่านยังได้ส่ง ไปขายเป็นอาหารไก่ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย และได้รายงานไว้ว่า ข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์นี้ขึ้นได้ดีมาก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การควบคุมของพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำไปทดลองปลูกที่โรงเรียนก็ได้ผลดีมาก ครั้นเมื่อโรงเรียนย้ายมาอยู่ทับกวาง ได้นำข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์มาปลูกแบบการค้าเป็นการใหญ่ โดยใช้เครื่องมือทุ่นแรงต่าง ๆ ปรากฏว่า ได้ฝักใหญ่และงามดีมาก เพราะดินเป็นดินใหม่ หลวงชุณห์กสิกรได้รายงานว่า ข้าวโพดพันธุ์เม็กซิกันจูน ซึ่งทดลองปลูกที่โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมทับกวางได้ผลเฉลี่ย ๒,๓๐๐ ฝัก/ไร่ หรือเมล็ดแก่ ๘๒๕ ปอนด์/ไร่ โดยพืชที่ปลูกระหว่างหลุมข้าวโพดมีถั่วฝักยาว ส่วนระหว่างแถวมีถั่วลิสงและพริกขี้หนู ดินที่ปลูกไม่ได้รับการบำรุงจากปุ๋ยอะไรเลย และขณะนั้นขายได้ราคาปอนด์ละ ๑๐ สตางค์ ปรากฏว่า ได้กำไรไร่ละ ๓๐ บาท ต่อมาโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมแห่งนี้ ได้ทำการปลูกข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์เป็นการค้าเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปีและเมล็ดพันธุ์ก็ได้แพร่หลายไปในหมู่กสิกรจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา โดยกสิกรได้คัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และได้รู้จักกันในนามของข้าวโพดฟันม้าบ้างหรือข้าวโพดพันธุ์ปากช่องบ้าง ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปตามแหล่งต่าง ๆ
ถึงแม้จะได้มีการส่งเสริมการปลูกพืชไร่และข้าวโพดกันในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ บ้างก็ตามแต่ปริมาณการปลูกข้าวโพดในระยะนั้นก็มิได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนถือเป็นสิ่งสำคัญ ต่อเมื่อหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ปริมาณการปลูกข้าวโพดจึงได้ค่อยทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระยะหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา เนื้อที่ และผลิตผลของข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ หลายร้อยเท่า และในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นับว่าเป็นปีแรกที่ผลิตผลข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ ๑ ล้านเมตริกตัน และผลิตผลยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในปัจจุบันนี้
ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย หมายถึง, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย คือ, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย ความหมาย, ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!