
สำนักราชเลขาธิการได้วางหลักเกณฑ์ และวิธีการในการขอพระราชทานชื่อบุตรธิดาของบุคคลต่างๆ ไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เรียกว่า ระเบียบสำนักราชเลขาธิการว่าด้วยการขอพระราชทานชื่อบุตรและบุตรี พุทธศักราช ๒๕๒๒โดยจำแนกประเภทบุคคลที่ขอพระราชทานชื่อไว้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ บุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานชื่อและเสมาทองพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. และบุคคลที่พระราชทานชื่อและเสมาเงินพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.
บุคคลที่อยู่ในข่ายสามารถขอพระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานชื่อ และเสมาทองพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ได้แก่ โอรสธิดาของพระราชวงศ์ หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงบุตรธิดาของบุคคล ผู้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งได้แก่ นางสนองพระโอษฐ์คุณข้าหลวง บุคคลผู้เคยเป็นนางพระกำนัล นายทหารราชองครักษ์ นายตำรวจราชสำนักนอกจากนี้ก็ได้แก่ บุตรธิดาของข้าราชการลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดสำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง พนักงานสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ข้าราชการทหารประจำกรมราชองครักษ์ หรือข้าราชการทหารในสังกัดกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ที่ได้รับราชการในสังกัดนั้นๆ มาไม่น้อยกว่า ๕ ปี บุตรธิดาของคู่สมรสที่ทรงประกอบพิธีสมรสพระราชทาน บุตรธิดาของผู้ได้รับทุนอานันทมหิดล และบุตรธิดาของบุคคลที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
บุคคลที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานชื่อและเสมาเงินพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ได้แก่บุคคลทั่วไปที่นอกเหนือไปจากที่ได้ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ข้างต้น
ส่วนเด็กที่ขอพระราชทานชื่อ ตามระเบียบสำนักราชเลขาธิการว่าด้วยการขอพระราชทานชื่อบุตรและบุตรี พุทธศักราช ๒๕๒๒ กำหนดว่า ต้องมีอายุไม่เกิน ๖ เดือน สำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศ และมีอายุไม่เกิน ๑ ปี สำหรับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ ส่วนการขอพระราชทานนั้น ให้จัดเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา ได้แก่ ใบสำคัญการสมรสของบิดามารดา สูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน นำไปยื่นแก่สำนักราชเลขาธิการในกรณีที่ผู้ขอพระราชทานเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างต้องมีหนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชาระดับ ๕ ขึ้นไปด้วย