ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิชัยพัฒนา หมายถึง, มูลนิธิชัยพัฒนา คือ, มูลนิธิชัยพัฒนา ความหมาย, มูลนิธิชัยพัฒนา คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
มูลนิธิชัยพัฒนา

          มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นมูลนิธิซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ตั้งขึ้นเพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในด้านการพัฒนาให้ประชาชนชาวไทยมีความสมบูรณ์พูนสุขยิ่งขึ้นเป็นธรรมดาที่หนทางไปสู่การพัฒนานั้นย่อมจะมีปัญหาและอปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการทำงานที่มีระบบระเบียบแบบแผนของทางราชการเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิบัติงานตามขั้นตอน ซึ่งในบางครั้งอาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรเอกชน เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนสามารถกระทำได้ด้วยความรวดเร็ว คล่องตัว และไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดอันเป็นเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดโดยทางราชการ  เช่น  กฎระเบียบปฏิบัติ หรืองบประมาณ

          ประการสำคัญ การช่วยเหลือนั้นตรงตามความต้องการอันแท้จริงของประชาชน และสภาวะแวดล้อมของประเทศ ซึ่งกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ พระองค์จึงทรงมุ่งเน้นด้านความร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ประเทศ ด้วยการเสียสละแก่ผู้ด้อยโอกาสกว่าให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่ว่า

          “เราทุกคนมีหน้าที่จะขจัดความทุกข์นี้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข มีความมั่นคงและเป็นการช่วยเหลือให้บ้านเมืองได้มีความเจริญได้”

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวิจารณญาณว่า การร่วมมือนั้นสร้างสรรค์ผลประโยชน์ให้แก่ตนเองด้วย ความพร้อมนั้นก็จะส่งผลต่อส่วนรวม กล่าวคือ เมื่อ “ส่วนรวมอยู่ได้ แต่ละคนก็อยู่ได้”

          มูลนิธิชัยพัฒนาจึงถือกำเนิดขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๓ ล้านบาทเพื่อเป็นกองทุนเริ่มแรกสำหรับการดำเนินงาน มีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นนิติบุคคล  เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๑  นับเป็นมูลนิธิลำดับที่ ๓๙๗๕  ของประเทศไทยแต่เป็นมูลนิธิที่พิเศษและสำคัญยิ่งคือ เป็นมูลนิธิส่วนพระองค์มูลนิธิแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งขึ้น และทรงดำเนินการด้วยพระองค์เองทุกอย่าง แม้กระทั่งตราประจำมูลนิธิก็ทรงออกแบบเอง โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ออกแบบพระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย
          ๑. พระแสงขรรค์ชัยศรี หมายถึง  พระราชอำนาจ พระบารมี และกำลังแผ่นดิน ที่จะฟันฝ่าให้เกิดการดำเนินการต่าง ๆ อันเป็นผลไปสู่ความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักร
          ๒. ธงกระบี่ธุช  เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู้ เพื่อป้องกันอาณาประชาราษฎร์ และพระราชอาญาจักรให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง และประสบความสำเร็จในการต่อสู้นั้น
          ๓. ดอกบัว หมายถึง ศักดิ์ศรี ความสงบ ความเจริญงอกงาม และความบริบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารและบรรดาทรัพยากรทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดี และความสุขของประชาชนโดยทั่วหน้า
          ๔. สังข์ หมายถึง น้ำที่จะสร้างความชุ่มชื่น ชโลมเผ่นดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุข          นับตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นต้นมานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ด้านต่าง ๆ แก่ประชาชน และสถานที่ราชการ โดยผ่านทางสำนักงานเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาในหลายโครงการ ซึ่งนับวันจะทวีขึ้นเป็นลำดับ

          จนกระทั่งปัจจุบัน “ชัยพัฒนา” กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ไปโดยอัตโนมัติสำหรับความรู้สึกของชาวไทยที่ต่างก็ชื่นชมในพระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเกื้อการุญแก่พสกนิกร วันนี้ “ชัยพัฒนา” จึงเป็นมูลนิธิที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศและมูลนิธิชัยพัฒนาได้มีส่วนช่วยเหลือพัฒนาสังคมไทยหลายประการ คือ

ด้านการฟื้นฟูปรับปรุงสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
          งานบำบัดน้ำเสียอันเป็นมลพิษทางน้ำ ถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมูลนิธิชัยพัฒนา เห็นได้จากการที่ส่วนราชการและภาคเอกชนจำนวนมากร้องขอ  “กังหันน้ำชัยพัฒนา” โดยขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศเพื่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคิดค้นและออกแบบชนิด  “ไทยทำ ไทยใช้”  ขึ้นมา และมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาภาวะมลพิษอันเกิดจากน้ำเน่าเสีย โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด อีกทั้งสามารถสร้างขึ้นใช้เองได้

          แรงดลแห่งพระราชหฤทัยในการสร้างกังหันน้ำชัยพัฒนานี้ มาจากการที่พระองค์ทรงตระหนัก และทรงพระปริวิตกถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่กำลังสูญเสียดุลยภาพขึ้นอย่างรุนแรงทั่วทั้งประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษต่างๆ ตามมา ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ภาวะน้ำเน่าเสีย จึงมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพของน้ำให้ดีขึ้น โดยทรงมุ่งหวังที่จะให้เกิดผลดีต่อการดำรงชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด

          “กังหันน้ำชัยพัฒนา” มีลักษณะเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำ หมุนช้าแบบทุ่นลอยทรงได้แนวคิดในการประดิษฐ์จาก  “หลุก” ซึ่งเป็นกังหันน้ำที่หมุนตักน้ำโดยกระบวยน้ำของทางภาคเหนือ  ซึ่งใช้วิดน้ำเข้าไร่นา พระองค์จึงทรงประดิษฐ์เครื่องมือในการเติมก๊าซออกซิเจนในน้ำโดยผ่านกังหันน้ำ คือ ระหว่างที่โปรยน้ำลงมาที่ผิวน้ำนั้น ออกซิเจนเข้าไปผสมผสานกับน้ำทำให้น้ำเคลื่อนไหวและมีสภาพดีขึ้น

          ทรงใช้หลักการแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ คือ ธรรมชาติดับธรรมชาติ กล่าวคือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำเสีย คือ ในน้ำมีออกซิเจนน้อยดังนั้น ถ้าเราหาทางบรรจุ หรือเติมออกซิเจนในน้ำได้ เราก็จะแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้เช่นกัน

          “กังหันน้ำชัยพัฒนา”สามารถนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้อย่างง่ายดายสะดวกรวดเร็วเพราะติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย  ซึ่งเหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำเสียในประเทศไทย สามารถติดตั้งอยู่กับที่ หรือขับเคลื่อนไปตามแหล่งน้ำด้วยตัวเองก็ได้ หากเป็นบริเวณที่มีไฟฟ้า ก็สามารถติดตั้งอยู่กับที่โดยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า หากเป็นแหล่งน้ำเสียที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง ก็สามารถดัดแปลงใช้เครื่องยนต์เป็นตัวขับส่งกำลังเคลื่อนที่แล่นไปตามลำน้ำได้ โดยมีคนบังคับเครื่องและปรับทิศทางให้เป็นไปตามความต้องการได้

           จากพระราชดำริดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาจึงดำเนินการขอรับสิทธิบัตร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้พระราชทานการประดิษฐ์เครื่องกลนี้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒  กุมภาพันธ์พุทธศักราช ๒๕๓๖ ซึ่งนับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ ๙ ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย และครั้งแรกของโลก จนกระทั่งต่อมาสภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลผลงานคิดค้น หรือผลงานประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

          การดำเนินงานบำบัดน้ำเสียที่พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ตามที่ได้รับการร้องขอมาจากสถานที่ต่างๆ หลายแห่งทั่วประเทศนั้นมีจำนวนมากมาย ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วบ้าง และอยู่ระหว่างดำเนินการบ้างอาทิเช่น ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ วัดบวรนิเวศวิหาร  วัดเทพศิรินทราวาส  สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางกแคคลองเม่งเส็ง บริเวณหอพักคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ หนองสนม จังหวัดสกลนคร คลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณสระแก้ว จังหวัดลพบุรี บึงห้วยโจด จังหวัดขอนแก่น กรมการขนส่งทางบก บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด  บริเวณสระน้ำสวนอัมพร และที่สว่างคนิวาส

ด้านการส่งเสริมอนุรักษ์ดินและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของผิวดินเป็นอย่างมาก เพราะการที่ฝนตกลงมานั้น จะทำให้มีการชะล้างดินที่อุดมสมบูรณ์ไปในที่อื่น และก่อให้เกิดดินพังทลายได้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตรและผลิตผลทางการเกษตรอย่างมหาศาล มูลนิธิชัยพัฒนาจึงรับสนองพระราชดำริ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีง่ายๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่ต้องดูแลมากนัก

          การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ ได้ดำเนินการสัมฤทธิผลจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติว่า ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ผลอย่างดียิ่ง เห็นได้อย่างชัดเจนจากโครงการปลูกหญ้าแฝก ณ บริเวณรอบพระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย และที่อื่นทั่วประเทศ จนทรงได้รับการทูลเกล้าฯ  ถวายรางวัลจาก IECA (Intenational Erosion Control Association)  ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการอนุรักษ์ดินและส่งเสริมสภาพแวดล้อมโดยใช้หญ้าแฝกอย่างจริงจัง และจะมีการประชุมระดับนานาชาติทั่วโลกเกี่ยวกับหญ้าแฝกขึ้นที่ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้

มูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิชัยพัฒนา หมายถึง, มูลนิธิชัยพัฒนา คือ, มูลนิธิชัยพัฒนา ความหมาย, มูลนิธิชัยพัฒนา คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu