การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต
การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต หมายถึง, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต คือ, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต ความหมาย, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต คืออะไร
การทำงานหากจะให้ได้ผลดี เป็นที่ภาคภูมิใจของตัวเราเองและครอบครัว เราควรเลือกงานที่เหมาะสมกับนิสัยใจคอ กำลังกาย กำลังทรัพย์สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราและสภาพของบ้านเมืองฉะนั้น นอกจากเราจะต้องฟังมาก อ่านมาก รู้เห็นมากแล้ว เราจะต้องสำรวจตัวเองในเชิงเปรียบเทียบความเหมาะสมกับสภาพของงานนั้นๆ ด้วย
การทำงานนั้น แม้ตัวเองจะชอบและเห็นช่องทางว่าจะเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ แต่ถ้าเราขาดฝีมือ ขาดความรู้แล้วก็จะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ฉะนั้น เราอาจจะต้องไปเรียน ไปฝึกงานที่เราชอบ และเห็นช่องทางเพื่อเราจะได้มีฝีมือการฝึกงานเพื่อพัฒนาฝีมือของเรานั้น เราอาจฝึกกับผู้รู้หรือหน่วยงานต่างๆ บางคนฝึกงานกับพ่อแม่พี่น้อง แต่ส่วนมากจะฝึกกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหน่วยงานของรัฐและ
เอกชน การฝึกงานสำหรับเด็กและเยาวชนมักเป็นการเรียนการฝึกเพื่อเตรียมเข้าทำงาน บางคนเลือกเรียน เลือกเตรียมฝึกงานตามเพื่อน เห็นเพื่อนเรียนครูก็เรียนครูบ้าง เพื่อนเรียนแพทย์ก็อยากเรียนแพทย์บ้าง ผู้ที่เลือกฝึกเลือกเรียนตามเพื่อนโดยไม่คิดไม่สำรวจตัวเองว่าตัวเองชอบอาชีพหรืองานนั้นๆ จริงหรือไม่ มักจะเรียนไม่สำเร็จหรือหากฝืนใจเรียนจนสำเร็จก็มักทำงานที่เรียนที่ฝึกนั้นไม่ได้ดี ต้องฝืนใจทำ บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพเพราะไปค้นพบภายหลังว่าตนชอบปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ชอบเลี้ยงสัตว์ ชอบอยู่กับธรรมชาติ ไม่ชอบเป็นนายแพทย์ ซึ่งต้องดูแลคนไข้เกือบตลอดวันเป็นต้น
การเลือกงานและการฝึกงานนั้น นอกจากจะต้องรู้มาก เห็นมาก ต้องรู้นิสัยตัวเอง รู้กำลังของตนเองดังกล่าวแล้ว เรายังต้องรู้ระบบการงานนั้นๆ ให้ตลอด เราอาจต้องรู้ระบบการจัดการ การตลาด การลงทุน การทำบัญชีการรวมกลุ่ม การทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราฝึกอบรมกันได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามแม้เราจะมีฝีมือ และฝึกอบรมแล้ว เวลาทำงานจริงเรายังต้องเลือกอุปกรณ์และหรือพัฒนาอุปกรณ์ที่จะใช้ด้วย เรารู้ว่าประเทศไทยมีที่ดินสำหรับการเกษตรมาก มีโรงงานอุตสาหกรรมน้อย มีคนว่างงานมาก ฉะนั้น หากเราจะเลือกใช้อุปกรณ์ เราอาจพิจารณาเลือกอุปกรณ์ที่ต้องใช้แรงงานคนมากๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือญาติพี่น้องเพื่อนร่วมชาติของเราให้มีงานทำ หากเราใช้เครื่องจักรประเภทที่ใช้แทนแรงงานคนทั้งหมด คนก็จะว่างงานมากซึ่งจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองของเรา หน่วยงานต่างๆ ของทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ตระหนักดีในปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการ ฝึกอบรมเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานกันอยู่หลายหน่วยงาน โดยกระจายการให้บริการทั้งในเมือง และชนบท และให้บริการในหลายๆ สาขาวิชาชีพตลอดจนมีการให้บริการที่ต่อเนื่องกัน การกำหนดหลักสูตรฝึกอบรม แต่ละหน่วยงานเป็นผู้กำหนดหลักสูตรเอง โดยคำนึงถึงความต้องการของประชากรกลุ่มเป้าหมาย และความต้องการด้านฝีมือแรงงานเป็นสำคัญ สำหรับค่าใช้จ่ายในการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น ส่วนใหญ่เป็นการฝึกอบรมให้เปล่าเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานเอกชนประเภทโรงเรียนอาชีพจะเก็บค่าเข้ารับการฝึกอบรมบ้าง แต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล หน่วยงานฝึกอบรมที่สำคัญๆ เช่น
หน่วยงานภาครัฐบาล
๑. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สังกัดกรมแรงงาน จัดฝึกอบรมช่างฝีมือประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นการฝึกคนใหม่ ฝึกยกระดับฝีมือช่าง ฝึกอบรมครูฝึก และฝึกอบรมผู้จัดการการฝึกอบรมนอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่มิใช่ช่าง เช่น วิชาเลขานุการ พนักงานต้อนรับ ฯลฯ
๒. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดฝึกอบรมเป็น ๒ ลักษณะคือ
๑) หลักสูตรที่เน้นด้านการพัฒนา การจัดการ การเพิ่มผลิตผลในอุตสาหกรรม การตลาด เทคนิคการปรับปรุงโรงงานฯลฯ โดยฝึกอบรมให้แก่ผู้จัดการ หัวหน้าคนงานช่างและพนักงาน
๒) หลักสูตรที่เน้นการผลิตหัตถกรรมไทยที่ทันสมัย การออกแบบ และการฝึกอุตสาหกรรมในครอบครัว สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ
๓. กรมการพัฒนาชุมชน จัดฝึกอบรมในลักษณะที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัว โครงการอาชีพตามพระราชดำริ งานช่างประเภทต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูกเป็นต้น
๔. สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จัดบริการฝึกอบรมอาชีพ โดยแบ่งเป็น ๒ งานคือ งานพัฒนานิคมและส่งเสริมอาชีพ สำหรับประ-ชาชนทั่วไปในชนบท และงานส่งเสริมอาชีพสำหรับเยาวชนในชนบท โดยหลักสูตรจะเน้นวิชาชีพด้านหัตถกรรมและกสิกรรม
๕. กรุงเทพมหานคร จัดบริการฝึกอบรมอาชีพ แยกเป็น ๓ โครงการใหญ่ๆ คือ
๑) โครงการส่งเสริมอาชีพประชาชน สวนลุมพินี เปิดอบรมในวันเสาร์และอาทิตย์ โดยเปิดสอนสาขาช่างอุตสาหกรรมและบริการ ประมาณ ๒๔ วิชา
๒) โครงการฝึกอาชีพเคลื่อนที่สี่มุมเมือง จัดการฝึกอบรมให้แก่เยาวชนนอกโรงเรียนและประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ โดยเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ หลักสูตรที่เปิดสอนคือ ช่างอุตสาหกรรม ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และ
๓) โครงการพัฒนาอาชีพประชาชนในชุมชนแออัดจัดฝึกอบรมให้แก่ประชาชนทั่วไปในชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ โดยเปิดสอนวิชาช่างอุตสาหกรรมช่างเสริมสวย และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า
๖. กรมการศึกษานอกโรงเรียน จัดฝึกอบรมอาชีพเป็น ๓ ลักษณะคือ งานการศึกษาสายอาชีพระยะสั้น ดำเนินการในรูปแบบเคลื่อนที่ออกสู่ชนบทและรูปแบบประจำที่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีงานกลุ่มสนใจโดยจัดร่วมกับผู้นำท้องถิ่น รวมกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และจัดวิทยากรให้ และงานฝึกอบรมในเขตหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองใน ๕๒ จังหวัด เน้นการฝึกในหมู่บ้านเขตชนบท
๗. กรมอาชีวศึกษา จัดฝึกอบรมเป็น ๒ ลักษณะคือ โรงเรียนสารพัดช่าง และศูนย์ฝึกอาชีพ เน้นการฝึกอาชีพช่างต่างๆ
หน่วยงานภาคเอกชน ภาคเอกชนจัดบริการการฝึกฝีมือแรงงานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาครัฐบาล การดำเนินงานแบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. การฝึกอบรมภายในกิจการ การฝึกอบรมนี้ เจ้าของกิจการจะเป็นผู้จัดการฝึกอบรมมีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกระดับ ตั้งแต่คนงานขึ้นไปจนถึงผู้จัดการ บางกิจการจะมีศูนย์ฝึกอบรมของตนเอง มีเครื่องมืออุปกรณ์การฝึกอย่างครบครัน มีทรัพยากรบุคคลผู้ให้การฝึกที่ชำนาญงานมีงบประมาณการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนมากๆ บางกิจการลงทุนการฝึกปีละหลายล้านบาท
๒. การฝึกอบรมที่จัดโดยองค์การที่ไม่หวังผลกำไร องค์กรดังกล่าวเหล่านี้ ได้แก่ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ฯลฯ จะจัดการฝึกอบรมที่เน้นหนักทางด้านการจัดการ คือ มุ่งพัฒนาการจัดการโดยพัฒนาฝ่ายจัดการให้มีประสิทธิภาพ และมีการฝึกอบรมลูกจ้างของกิจการต่างๆ ด้วยบางระดับ นอกจากนี้ยังมีสมาคมและมูลนิธิต่างๆ เช่น สภาสตรีแห่งชาติ สภาสตรีอุดมศึกษา สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ จัดฝึกอบรมสตรีและแม่บ้าน เน้นหนักด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มพูนเศรษฐทรัพย์ของครอบครัว
๓. การฝึกอบรมที่จัดในรูปของธุรกิจ ปัจจุบันนี้มีการฝึกอบรมที่จัดในรูปของธุรกิจมากมายส่วนใหญ่จะจัดตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนเอกชน บริษัท เช่น โรงเรียนสอนตัดเสื้อ โรงเรียนสอนออกแบบทรงผมและเสริมสวย และโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์จะจัดการฝึกอบรมอาชีพใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด และรับจ้างจัดการฝึกอบรมลูกจ้างและฝ่ายจัดการในกิจการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการตั้งศูนย์การฝึกช่างฝีมือด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่จัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศ บางแห่งจะเปิดศูนย์ฝึกอบรมของตนเองขึ้นมา เพื่อใช้เป็นศูนย์ทดสอบฝีมือหรือศูนย์ฝึกอบรมระยะสั้น สำหรับคนที่ต้องการจะสมัครงานและยังขาดทักษะ อย่างไรก็ตาม การจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานนี้ ส่วนใหญ่จะจัดทำในเมืองมาก กว่าชนบท ในระยะเริ่มแรกของการฝึกอบรมในชนบท หน่วยงานต่างๆ มักมุ่งเน้นการฝึกฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มพูนด้านเศรษฐกิจ และบุคลากรของหน่วยฝึกอบรมมักมีประสบการณ์อาชีพที่มีหน่วยรองรับในเมือง จึงทำให้พบปัญหาว่ากระบวนการฝึกอบรมตลอดจนทักษะอาชีพที่จัดฝึกอบรมไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของท้องถิ่น เป็นเหตุให้ผู้รับการฝึกอบรมเข้าสู่ตัวเมืองกันมาก ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ตระหนักในปัญหาดังกล่าว นอกจากจะพยายามจัดการอบรมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของท้องถิ่นแล้ว ยังมุ่งเน้นพัฒนากระบวนการจัดการทางอาชีพในท้องถิ่นอีกด้วย
การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต หมายถึง, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต คือ, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต ความหมาย, การพัฒนาฝีมือแรงงานและอุปกรณ์การผลิต คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!