ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หมายถึง, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) คือ, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ความหมาย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

          ความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารของชาวไร่ชาวนาหรือธนาคารเกษตร ได้เริ่มขึ้นเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินของชาวนา ทั้งนี้ก็เพราะว่าเกษตรกรในระยะนั้นมีฐานะยากจนมาก  ไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับใช้สอยระหว่างฤดูเพาะปลูก จึงต้องกู้ยืมเงินจากเอกชนซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก บางครั้งต้องขายผลิตผลให้แก่ผู้ให้กู้เงินโดยผู้ให้กู้เงินเป็นผู้กำหนดราคาซื้อตามใจชอบ เกษตรกรจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเป็นอย่างมาก และมีหนี้สินพอกพูนตลอดเวลา
          วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งในการจัดตั้งธนาคารเกษตรขึ้นในสมัยนั้น  ก็เพื่อที่จะประคองฐานะของชาวนาไม่ให้ทรุดโทรมลงเมื่อประสบภัยธรรมชาติทั้งนี้ก็เพราะว่าเกษตรกรมักจะประสบภัยทางธรรมชาติติดต่อกันจนยากที่จะฟื้นตัว ดังเช่นใน พ.ศ. ๒๔๖๐ เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศแต่ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ เกษตรกรกลับต้องผจญกับภาวะฝนแล้ง เป็นต้นแต่ในที่สุด ธนาคารเกษตรในระยะนั้นก็ไม่อาจตั้งขึ้นได้ เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องเกี่ยวกับหลักประกันเงินกู้และปัญหาในการควบคุมมิให้ราษฎรละทิ้งนาและหลบหนีหนี้สิน ซึ่งเป็นการยากที่จะควบคุม และระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายได้ ความคิดที่จะจัดตั้งธนาคารเกษตร โดยมุ่งหมายให้ชาวนาได้กู้ยืมเงินในครั้งนั้นจึงต้องเลิกล้มไป
          ต่อมาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙ คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้จังหวัดพิษณุโลก มีการให้กู้เงินแก่สมาชิกโดยทั่วไป เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกก็ได้อาศัยเงินทุนจากสหกรณ์เพื่อนำไปใช้ลงทุนประกอบอาชีพทางการเกษตรของตน  แต่ก็เป็นที่พึ่งได้ไม่มากนัก เพราะตัวสหกรณ์เองก็มีปัญหาในด้านการเงินต้องขอกู้จากที่อื่นๆ มาดำเนินงานเช่นกัน โดยในระยะเริ่มแรกขอกู้เงินจากธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มาก รัฐบาลต้องขออนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินประจำปีให้เป็นทุนของสหกรณ์ด้วย และใน พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลต้องใช้วิธีอนุมัติให้ธนาคารชาติไทยจัดการจำหน่ายพันธบัตรเงินกู้เพื่อหาทุนให้กับสหกรณ์
          ในที่สุดจึงได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้น ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการสหกรณ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยเริ่มดำเนินงานในพ.ศ. ๒๔๙๐ ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางทางการเงินและอำนวยสินเชื่อแก่สหกรณ์ทั้งหลายที่มีอยู่ใน ประเทศไทยในขณะนั้น
          หลังจากที่ได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ขึ้นแล้ว ธนาคารแห่งนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพต่อการที่จะเอื้ออำนวยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรได้ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีการพิจารณาจัดตั้งธนาคารขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคารเพื่อการสหกรณ์ สรุปเหตุผลที่จำเป็นจะต้องกระทำเช่นนั้นได้ดังนี้
          ๑. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้เงินกู้แก่ สมาชิกสหกรณ์เท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรที่มิใช่  สมาชิกสหกรณ์อีกเป็นจำนวนมากที่มีความต้องการเงินกู้  ซึ่งธนาคารเพื่อการสหกรณ์ไม่มีอำนาจหรือหน้าที่จะให้กู้ได้
          ๒. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ให้เงินกู้ส่วนใหญ่เพื่อระยะยาวและปานกลาง แต่เกษตรกรมีความต้องการเงินกู้เพื่อผลิตผลในระยะสั้นเป็นอันมาก
          ๓. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์มิได้ทำหน้าที่ในการพิจารณาคำขอกู้เงิน  งานส่วนใหญ่ของธนาคารนี้ก็คือ เก็บรักษาเงิน ให้ความสะดวกในการเบิกจ่ายเงิน  และเก็บรักษาสมุดบัญชีอันเป็นงานประจำเท่านั้น ธนาคารนี้มิได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ยืมเงินอย่างแท้จริง
          ๔. ธนาคารเพื่อการสหกรณ์มิได้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและกำกับดูแลการให้สินเชื่อ (Super-vised credit) และยังไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้ได้
          ๕. การดำเนินงานและองค์การของธนาคารเพื่อการสหกรณ์ ยังไม่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ จึงเป็นเหตุให้กำลังเงินของธนาคารไม่เพียงพอ
          ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยให้เป็นสถาบันระดับชาติทำหน้าที่อำนวยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรอย่างกว้างขวางทั้งในด้านของเกษตรกรโดยตรงและสถาบันเกษตรกร          ธกส. มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ ๔๖๙ ถนนนครสวรรค์ แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีสำนักงานสาขาหรือตัวแทนตั้งอยู่ในตัวจังหวัดต่างๆ หรือบางอำเภอที่สำคัญๆ ภายในราชอาณาจักรไทย
          นอกจากสำนักงานสาขาแล้ว ธนาคารได้จัดตั้งหน่วยอำเภอประจำอำเภอต่างๆ ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและบริการแก่เกษตรกร ผู้มีถิ่นที่อยู่และประกอบอาชีพการเกษตรในอำเภอนั้นๆ ด้วย ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๒๘ ธกส. มีสาขาระดับจังหวัด ๖๘ แห่ง ระดับอำเภอและกิ่งอำเภอ ๕๘๐ แห่ง

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หมายถึง, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) คือ, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ความหมาย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu