การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย
การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย หมายถึง, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย คือ, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย ความหมาย, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย คืออะไร
น้ำนมที่ใช้บริโภคมีทั้งน้ำนมที่ได้จากพืช เช่น ถั่วเหลือง และน้ำนมที่ได้จากสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค แพะ แกะ กระบือ เป็นต้น น้ำนมโคมีส่วนประกอบที่ใกล้เคียงกับน้ำนมคน (มารดา) มากที่สุด จึงนิยมบริโภคกันทั่วโลก
การเลี้ยงโคนมเพื่อนำน้ำนมมาบริโภคในประเทศไทยเริ่มมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเลี้ยงอย่างจริงจังเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์กขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ร่วมกับพระเจ้าเฟรเดริคที่ ๙ (King Frederick IX) แห่งประเทศเดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ศูนย์ฝึกอบรมนี้ ต่อมาได้พัฒนากลายเป็นองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทดลองเลี้ยงโคนมด้วยพระองค์เอง ในบริเวณสวนจิตรลดา และเมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถผลิตน้ำนมดิบได้เกินความต้องการของตลาด ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานนมผง และศูนย์รับนม นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มให้มีการจัดตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ดำเนินการผลิตนมผงใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ทรงโอนกิจการของบริษัทนี้ให้สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
ในปัจจุบันมีแหล่งเลี้ยงโคนมที่สำคัญอยู่ ๔ แห่ง คือ บริเวณจังหวัดสระบุรี-นครราชสีมาลพบุรี บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรีบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณจังหวัดราชบุรี-นครปฐม เกษตรกรในสามแหล่งแรกส่งน้ำนมดิบเข้าโรงงานขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ ส่วนแหล่งสุดท้ายส่งเข้าโรงงานของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังได้มีการมีเลี้ยงโคนมกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณใกล้เคียงกับวิทยาลัยเกษตรกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและ อาชีวศึกษาและบริษัทเอกชนที่มีการแปรรูปนม
การเลี้ยงโคนมแม้มีรายจ่ายค่อนข้างสูงแต่ผลตอบแทนจากการเลี้ยงโคนมจะสูงกว่าการทำนาทำไร่หลายเท่า จึงเป็นการสร้างรายได้ที่ดีของเกษตรกร ทั้งที่มีอาชีพเลี้ยงโคนมโดยตรง และที่เป็นอาชีพเสริม นับว่ามีส่วนช่วยในการสร้างงานในชนบทของชาติ และช่วยลดการสูญเสียเงินตราให้แก่ต่างประเทศจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมชนิดต่างๆ ประกอบกับประเทศไทยก็มีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปศุสัตว์ เนื่องจากอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารสัตว์ เช่น ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ผลิตผลพืชไร่ (ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ) วัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมทางการเกษตร (เปลือกข้าว รำข้าว เปลือกสับปะรด ยอดอ้อยกากน้ำตาล ฯลฯ) ซึ่งมีราคาถูก และสามารถเลือกใช้ทดแทนกันได้หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีราคาเพิ่มขึ้น ส่วนมูลโคก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ดินของเกษตรกรและอาจนำมาใช้ทำแก๊สชีวภาพสำหรับใช้ในครอบครัวได้อีกด้วย การเลี้ยงโคนมจึงเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลที่ผลิตได้ เช่น แทนที่จะผลิตมันสำปะหลังเพื่อส่งออกสำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ในต่างประเทศก็นำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศเพื่อส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ทางรัฐบาลก็ได้ให้การส่งเสริมทางด้านสินเชื่อการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์สัตว์โดยการผสมเทียม การบริการสัตวแพทย์ และเกษตรกรสามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาประกันที่เป็นธรรม
พันธุ์โคที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์โฮลสไตน์ (Holstein) ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ในอังกฤษเรียกว่า ฟรีเชียน (Friesian) ในเดนมาร์กเรียกว่า ขาว-ดำ (Black and White) หรือดัตช์ฟรีเชียน (Dutch friesian) ในอิสราเอลเรียกว่าอิสราเอลฟรีเชียน (Israel friesian) เป็นต้น เป็นโคนมที่มีลักษณะเด่นตรงที่มีสีดำตัดกับสีขาวอย่างชัดเจน โคตัวผู้ที่โตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะมีน้ำหนักประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ กิโลกรัม และเจริญเติบโตดีกว่าตัวผู้ แม่โคจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุ ๖-๗ ปีมีอายุผสมพันธุ์ประมาณ ๑๘ เดือน คลอดลูกเมื่ออายุได้ ๒๘-๓๐ เดือน การให้นมอยู่ในเกณฑ์สูงประมาณ ๕,๐๐๐ กิโลกรัมต่อปี มีไขมันนม ๓.๕% (ไขมันสีขาวเหมาะที่จะนำไปบริโภค)เคยมีความเชื่อกันว่าโคพันธุ์นี้มีสายเลือด ๑๐๐% ไม่สามารถเลี้ยงได้ดีในประเทศที่มีอากาศร้อน แต่ในอิสราเอลกลับเลี้ยงเป็นผลสำเร็จ ในประเทศไทยโคพันธุ์นี้ส่วนใหญ่มีสายเลือดผสม ๕๐-๗๕% แต่ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาให้มีสายเลือดสูงขึ้นจนสามารถเลี้ยงสายเลือด ๑๐๐% ได้
พันธุ์โคนมที่นิยมเลี้ยงมากอีกพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอมวกเหล็ก คือ พันธุ์เรดเดน (Red dane) ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ประเทศเดนมาร์ก ให้นมและเนื้อใกล้เคียงกับพันธุ์โฮลสไตน์แต่มีปัญหาในการปรับตัวในสภาพอากาศร้อน
นอกจากนี้ยังมีโคพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งพัฒนามาจากอินเดียและปากีสถาน คือ พันธุ์เรดซินดิ (Red sindhi) และซาฮิวาล (Sahiwal) ให้นมน้อยกว่าพันธุ์ยุโรปครึ่งหนึ่ง และมีไขมันค่อนข้างสูง
การเลี้ยงโคนมอย่างมีประสิทธิภาพนั้นพิจารณาจากการที่โคให้นมในปริมาณสูงในขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ สามารถทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ โคจะต้องเชื่องและรีดนมง่าย ไม่ต้องใช้ลูกโคกระตุ้นเวลารีดนม
ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ประเทศไทยมีแม่โคนมพันธุ์ดีที่กำลังให้นมมากกว่า ๓๐,๐๐๐ ตัว กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในแต่ละวันสามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากกว่า ๒๐๐ ตัน ซึ่งถ้าคิดเฉลี่ยต่อตัวต่อวันแล้ว ผลิตผลของโคนมในประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ให้ผลิตผลเพียงประมาณ ๙-๑๐ กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน หรือประมาณ ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ กิโลกรัมต่อช่วงเวลาการให้นมช่วงเวลาหนึ่ง (lactation) แม้ว่าโคนมพันธุ์ผสมจำนวนหนึ่งอาจให้นมได้ถึง ๒๐ กิโลกรัมต่อตัวต่อวันก็ตาม
การพัฒนาหรือปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และอาหารสัตว์ การพัฒนาการผสมเทียมและการบริการสัตวแพทย์ และการพัฒนาการจัดการฟาร์ม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำนมดิบได้ดังนี้
การพัฒนาหรือการปรับปรุงพันธุ์ จะช่วยให้ได้โคลูกผสมที่สามารถให้นมได้มากที่สุด และสามารถเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมในประเทศไทยจนในที่สุดสามารถสร้างพันธุ์แท้ของตนเองได้ ในระยะแรกจำเป็นต้องใช้โคพันธุ์ยุโรปซึ่งให้น้ำนมสูงผสมกับโคพันธุ์พื้นเมืองซึ่งทนต่ออากาศร้อนได้โดยจะต้องคัดพันธุ์อย่างเข้มงวด
การพัฒนาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และอาหารสัตว์จะมีผลต่อการเพิ่มผลิตผลและลดรายจ่ายอย่างมากเพราะหญ้าเป็นอาหารหลักของโคนม และมีราคาถูก จึงต้องพัฒนาและบำรุงรักษาเป็นอย่างดีเพื่อให้มีปริมาณหญ้าเพียงพอแก่โคนม หญ้าที่โคนมชอบกินได้แก่ หญ้าขน และหญ้าตระกูลถั่วต่างๆ ในบางฤดูกาลอาจมีหญ้าไม่เพียงพอเกษตรกรจึงต้องทำหญ้าแห้งและหญ้าหมักไว้ด้วยแต่เนื่องจากหญ้าเป็นอาหารหยาบ มีโปรตีนต่ำ และมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำนม เกษตรกรจึงมักใช้อาหารข้นเพิ่มเติม เช่น เมล็ดพืชหรือผลพลอยได้จากเมล็ดพืช ได้แก่ ปลายข้าว รำข้าว ข้าวโพด กากถั่ว กากน้ำตาลตลอดจนอาหารเสริมที่มีสารอาหารต่างๆ ด้วย
การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย หมายถึง, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย คือ, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย ความหมาย, การเลี้ยงโคนมในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!