ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร หมายถึง, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร คือ, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ความหมาย, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

          เดิมเป็นที่ประทับ หรือจวนเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อครั้งยังเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา  ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  อยู่ตรง ปากคลองมอญ  ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นแล้ว  ต่อมาพุทธศักราช ๒๓๒๗ ทรงพระราชประสงค์จะถวายจวนเดิมแก่วัดบางหว้าใหญ่  เพื่อใช้เป็นหอพระไตรปิฎก จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ทรงเป็นแม่กองรื้อถอนจวนเดิม นำมาสร้างใหม่ให้เป็นหอพระไตรปิฎกกลางสระน้ำ  นอกเขตพุทธาวาส  ขณะขุดสระเพื่อสร้างหอพระไตรปิฎกอยู่นั้น  ได้พบระฆังใบใหญ่มีเสียงกังวานไพเราะมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดิษฐานในหอระฆัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และน่าจะเปลี่ยนชื่อวัดบางหว้าใหญ่  เป็นวัดระฆังโฆสิตารามในคราวนั้นด้วย

          จวนเดิมหลังนี้ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า น่าจะเป็นเรือนไทย  ๒  หลัง มีชานกลางเชื่อมต่อกัน เมื่อเปลี่ยนเป็นหอพระไตรปิฎก  จึงได้เพิ่มหลังคาขึ้นบริเวณส่วนที่เป็นชานกลาง  โดยยกหลังคาให้มีชายคาสูงขึ้นกว่าเรือนเดิมทั้ง ๒ หลัง กับเพิ่มฝาด้านหลังและด้านหน้า เฉพาะด้านหน้าเจาะประตูทำเป็นเรือนกลาง และเพิ่มชานด้านหน้าด้วย ฝาเรือนทำเป็น ฝาปะกน  หลังคามุงกระเบื้อง การเพิ่มหลังคา ชานกลางทำให้มองดูเหมือนเป็นเรือนแฝด  ๓ หลัง  ด้วยเหตุนี้ ลักษณะของหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร จึงมีรูปแบบที่แปลกกว่าหอพระไตรปิฎกทั่วๆ ไป

          นอกจากนั้นภายในอาคารยังตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรม บางส่วนของตัวอาคารจำหลัก ไม้เป็นลวดลายโดยเฉพาะซุ้มประตู กล่าวกันว่าลายจำหลักส่วนหนึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรร่วมกับครูช่างที่สืบทอดมาแต่สมัยอยุธยา

          ความงดงามของหอพระไตรปิฎกหลัง นี้เป็นที่ยอมรับและสรรเสริญในเชิงช่างอย่างยิ่ง  ดังจะเห็นได้จากลายพระหัตถ์ที่สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑  พิมพ์  ใน  พ.ศ. ๒๕๐๕  กล่าวถึงหอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร  ดังนี้

          “...หอพระไตรปิฎก จับได้แน่ว่าทำในรัชกาลที่ ๑ ท่วงทีประหลาดกว่าหอไตรที่ไหนหมด เป็นหอฝากระดานมุงกระเบื้องสามหลังแฝดมีชานหน้า  ปลูกอยู่กลางสระ  ดูเหมือนหนึ่งว่าหลังซ้ายขวา  จะเป็นที่ไว้คัมภีร์พระปริยัติธรรม  หลังกลางจะเป็นที่บอกหนังสือหรือดูหนังสือ  ฝีมือที่ทำหอนี้อย่างประณีตแบบกรุงเก่า   มีสิ่งที่ควรชมอยู่หลายอย่าง  คือ

          ๑. ชายคามีกระเบื้องกระจังเทพประนม อย่างกรุงเก่า  ถ้าผู้ใดไม่เคยเห็นจะดูที่นี่ได้
          ๒. ประตูและซุ้มซึ่งจะเข้าในชาลาสลักลายอย่างเก่า  งามประหลาดตาทีเดียว
          ๓. ประตูหอกลางมีสลักงามอีก ต่างลายกับประตูนอก
          ๔. ฝาในหอกลางเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ฝีมือพระอาจารย์นาค  ผู้ที่เขียนมารประจญ ในพระวิหารวัดพระเชตุพนท่วงทีขึงขังนัก
          ๕. บานประตูหอขวาเขียนรดน้ำ ลายผูกโดยตั้งใจจะพลิกแพลงมาก  แต่ดูหาสู้ดีไม่
          ๖. ฝาในหอขวา  เขียนภาพเรื่อง  เห็น จะเป็นชาดก   ฝีมือเรียบๆ...”

          นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังทรงกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “...ผู้ใดที่รักการช่าง  ได้ไปชมที่นั้นแล้วจะไม่อยากกลับบ้าน  เป็นเคราะห์ดีมากที่หอพระไตรปิฎกนี้ยังอยู่ให้ดูได้ดีๆ ไม่พังเสีย...”

          หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร  น่าจะอยู่กลางสระน้ำมาตลอดจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๑  สภาพของหอพระไตรปิฎกทรุดโทรมมาก  คณะกรรมการอนุรักษ์ ศิลปกรรมของสมาคมสถาปนิกสยาม  ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิ สมเด็จพระพุฒาจารย์  (โต  พรหฺมรํสี) เคลื่อนย้ายหอพระไตรปิฎกจากที่ตั้งเดิมมาสร้างใหม่ ในเขตพุทธาวาส โดยรักษาโครงสร้างและองค์ประกอบอื่นๆ  ของอาคารไว้ให้เหมือนเดิม ทุกประการ ส่วนการตกแต่งอย่างอื่นก็ปรับปรุงเท่าที่จำเป็น  เพื่อคงลักษณะของเดิมไว้ ให้เป็นไปตามแบบอย่างที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเคยทอดพระเนตรมาแล้ว  หอพระไตรปิฎกหลังนี้ ถึงแม้จะเป็นอาคารทรงไทยที่บูรณะขึ้นใหม่  แต่ก็ยังคงรักษารูปแบบของศิลปกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ซึ่งยังคงมีแบบอย่างของศิลปกรรมสมัยอยุธยาคละเคล้าปะปนอยู่  กล่าวได้ว่าน่าจะเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปะสมัยอยุธยาที่สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ที่เหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในอดีตวัดเป็นศูนย์รวมแห่ง สรรพวิชาการต่างๆ  ฉะนั้นหอพระไตรปิฎกซึ่ง ทำหน้าที่เป็นหอพระธรรม  หรือหอสมุดของวัด จึงมีความสำคัญมากจนเป็นส่วนหนึ่ง ขององค์ประกอบหลักสำหรับวัด ถึงแม้ว่าบางแห่งจะเป็นเพียงอาคารขนาดเล็ก  ก็สามารถทำให้วัดนั้นมีสัญลักษณ์แห่งพระธรรม  ซึ่งหมายถึงมีครบถ้วนตามความหมายแห่งไตรรัตน์ หรือพระรัตนตรัย คือ  พระพุทธ   พระธรรม  และพระสงฆ์  ประกอบขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์

          ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการพิมพ์เป็นที่นิยมมากขึ้น จึงเลิกการจารพระไตรปิฎกลงบนใบลาน ไม่มีการสร้างคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทยอีกต่อไป  หอพระไตรปิฎกจึงหมดความจำเป็นที่จะใช้เก็บรักษาคัมภีร์ใบลานเหมือนสมัยก่อน การสร้างหอพระไตรปิฎกไว้สำหรับวัดจึงไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ยกเว้นวัดที่ยังต้องการให้เป็นตัวแทนขององค์ประกอบสำคัญในผังเท่านั้น ส่วนวัดที่มีหอพระไตรปิฎกอยู่เดิม  บางวัดก็เลิกใช้  ไม่บำรุงรักษาให้คงสภาพดี  ปล่อยให้ตกอยู่ในสภาพรกร้าง ชำรุดทรุดโทรม ปรักหักพังไป ในที่สุด อย่างไรก็ดีนับว่าเป็นความโชคดีของ บ้านเมืองที่มีวัดอีกส่วนหนึ่งที่ยังเห็นความสำคัญของหอพระไตรปิฎก ยังคงเอาใจใส่อนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพดี เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

          ดูเพิ่มเติมเรื่อง การศาสนา เล่ม ๔ พระไตรปิฏกและการชำระพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ และวัดไทย เล่ม ๒๘

หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร หมายถึง, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร คือ, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ความหมาย, หอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu