ดนตรีตะวันตกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยและไทยรับมาใช้ในราชการตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทหารชาวอังกฤษสองคนชื่อ นอกซ์ (Knox) และอิมเป (Impey) ได้นำแตรฝรั่งเข้ามาเป่าแตรสัญญาณและบรรเลงเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ ต่อมาจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นแตรวงของทหาร ใช้บรรเลงนำขบวนแห่และบรรเลงเพลงไทย เรียกสั้นๆ ว่า "แตรวง" ซึ่งต่อมานายมนตรี ตราโมท ได้ขนานนามแตรวงนี้ว่า"วงโยธวาทิต"
ประเทศไทยเริ่มมีเพลงแบบฝรั่งแต่งโดยคนไทยคนแรกคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในราวปี พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๕๐ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็เริ่มมีวงดุริยางค์สากลขนาดใหญ่คือวงเครื่องสายฝรั่งหลวง เทียบเท่ากับวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ของฝรั่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้มีการสร้างวงดนตรีขนาดเล็ก เรียกว่า "แย้สแบนด์" ขึ้น มีผลงานเพลงแบบฝรั่งที่คนไทยแต่งขึ้น แล้วต่อมาจึงได้รับขนานนามว่าเพลงไทยสากล มีนักประพันธ์เพลงผลิตผลงานเพลงเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครร้องและภาพยนตร์มีการสร้างเพลงปลุกใจขึ้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลไทยสมัยนั้นต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นตะวันตกจึงส่งเสริมการดนตรีตะวันตกมากขึ้น แล้วสั่งให้ลดการเรียนการเล่นดนตรีไทยแท้ลงในปี
พ.ศ.๒๔๘๒ ระหว่างที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สองประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ ได้เกิดเพลงรำวงขึ้น มีอิทธิพลต่อเยาวชนไทยมากในสมัยนั้น เพราะเพลงรำวงเป็นเพลงที่ร้องง่ายจำง่ายรวมทั้งใช้ประกอบการร่ายรำได้สนุกสนาน เพลงรำวงยังมีผลต่อการละเล่นของเยาวชนไทยมาจนทุกวันนี้
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดนตรีตะวันตกได้เพิ่มอิทธิพลขึ้นในประเทศไทย ดนตรีจากสหรัฐอเมริกาผ่านสื่อแบบต่างๆ เช่น วิทยุและเครื่องเล่นจานเสียง เยาวชนไทยได้หันเหไปสนใจการร้องเพลงและการเต้นรำด้วยลีลาอารมณ์แบบตะวันตก จึงเกิดเพลงไทยสากลตามรูปแบบฝรั่งขึ้นมากมาย รวมทั้งเพลงแจ๊ส เพลงเต้นรำประเภทร้อนแรง จนถึงสมัยของเพลงร็อกในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึงกระนั้นเยาวชนก็ยังร้องเพลงด้วยสำเนียงลีลาอย่างไทย คงใช้ภาษาไทยที่แสดงความเป็นไทยอยู่มาก
ในระยะเดียวกันนี้ วงการดนตรีไทยได้พัฒนาดนตรีขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการนำดนตรีพื้นบ้านไทยภาคต่างๆ ดนตรีสำหรับการรำวงดนตรีไทยเดิม และดนตรีสากลเข้ามาผสมผสานกลายเป็นเพลงชนิดใหม่ที่เรียกว่าเพลง "ลูกทุ่ง" ซึ่งมีอิทธิพลสูงต่อเยาวชนคนไทยทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เพลงลูกทุ่งจัดได้ว่าเป็นเพลงของไทยประเภทเดียวที่เข้าถึงประชาชนคนไทยทุกเพศทุกวัย และเป็นที่พอใจของเยาวชนมากที่สุดการพัฒนาวิทยุทรานซิสเตอร์และตลับแถบบันทึกเสียงทำให้เผยแพร่เพลงลูกทุ่งได้มาก เยาวชนจึงหันไปสนใจเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเข้าถึงเยาวชนทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ
ระหว่างที่เกิดสงครามเวียดนามขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา อารยธรรมตะวันตกในด้านดนตรีเริ่มครอบงำเยาวชนไทยและเบี่ยงเบนไปสู่การประพันธ์เพลง การขับร้อง บรรเลงและการเต้นประกอบเพลงที่เบนเข้าหาความเป็นตะวันตกอย่างสิ้นเชิง เยาวชนไทยเริ่มชินกับเพลงที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้ามากกว่าเพลงที่ผลิตขึ้นเพื่อสุนทรียะแห่งดนตรี ภาษาที่ใช้ในการขับร้องเปลี่ยนจากรูปของฉันทลักษณ์ไทยที่ส่งสัมผัสไพเราะ กลายไปเป็นภาษาพูด ภาษาที่ใช้ในการตะโกนแผดเสียง เทคนิคการขับร้องเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตก มีการออกเสียงบทร้องที่ไม่ชัดเจนหรือทำให้เกิดเสียงเบี่ยงเบนออกไปเป็นสำเนียงลีลาแบบตะวันตก แม้แต่เสียงจากเครื่องดนตรีก็มาจากกระแสไฟฟ้า แทนที่จะมาจากการสั่นสะเทือนตามธรรมชาติ เยาวชนสนใจในเพลงประเภทที่สร้างขึ้นเพื่อการค้าอย่างมาก ธุรกิจตลาดเพลงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เยาวชน ซึ่งมีอัตราการบริโภคสูงมากกว่าคนทุกกลุ่มอายุ วงการวิทยุและโทรทัศน์จะสนใจแต่ดนตรีที่จัดให้เยาวชนเสพ จนสถานีวิทยุส่วนมากจะบรรจุรายการเพลงสำหรับเยาวชนโดยสิ้นเชิงจะหาช่วงว่างสำหรับดนตรีเพื่อคนไทยในวัยอื่นได้ยากยิ่ง
ดนตรีกับเยาวชนในสมัยหลังปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่อาจกล่าวได้ว่า ยุค พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๔๐ นั้นเยาวชนเป็นเจ้าของดนตรีในตลาดการค้าเพลงอย่างแท้จริง มีเยาวชนเป็นจำนวนมากเรียนดนตรีสากลประเภทเครื่องดีด (STRINGS) จัดตั้งวงดนตรีเรียกว่า วงสตริง ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าเป็นพื้นคุมจังหวะด้วยเครื่องไฟฟ้า เล่นรวมกันแล้วจะเกิดเสียงดังมาก
ถึงกระนั้นก็ดี มิใช่ว่าเยาวชนไทยจะนิยมดนตรีที่เป็นธุรกิจไปเสียทั้งหมด ยังมีอยู่บ้างที่สนใจดนตรีในแนวเก่า สนใจเรียนดนตรีและเล่นดนตรีที่เป็นไทย เช่น การเรียนดนตรีไทยและเรียนดนตรีสากลคลาสสิก การเปิดสอนดนตรีในสถาบันการศึกษาต่างๆ ยังคงยึดรูปแบบดั้งเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การอนุรักษ์ดนตรีเก่า การแนะนำให้เยาวชนสนใจดนตรีในระบบเก่า อาจจะเป็นการยาก เพราะเสียงดนตรีที่เยาวชนชินหูอยู่ในขณะนี้เป็นเสียงวิทยาศาสตร์มากกว่า จนเยาวชนไม่เคยรู้รสแห่งเสียงจากเครื่องดนตรีตามธรรมชาติ
(Acoustic Instrument) เวลาและโอกาสที่ผู้ปกครองหรือผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ จะต้องชักนำเยาวชนให้ได้สัมผัสดนตรีอย่างธรรมชาตินั้นจึงจำเป็นมากสำหรับพวกเขาเหล่านั้น
ดูเพิ่มเติมจากเรื่อง ดนตรีไทย เล่ม ๑