อดีตกาลนานกว่า ๒,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้วประเทศอินเดียมีความเจริญทางอารยธรรมสูงยิ่งอีกทั้งยังได้เผยแพร่อารยธรรมสู่ประเทศข้างเคียง ทั้งโดยทางทะเลและทางบก ผู้เผยแพร่อารยธรรมเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าวาณิชซึ่งเดินทางไปมาค้าขายในท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อมาถึงบ้านเมืองใดก็หยุดพักอาศัยปฏิบัติภารกิจของตนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในระหว่างนั้นก็ได้นำสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ อันมีอยู่ในประเทศของตน บอกเล่าถ่ายทอดสู่ชนพื้นเมืองต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ ทำให้สังคมในท้องถิ่นมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญแบบอินเดีย
อารยธรรมอินเดียซึ่งแพร่อิทธิพลไปสู่ประเทศใกล้เคียงดังกล่าวแล้ว มีหลักฐานทั้งในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์รับรองว่า บริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นแหล่งที่อารยธรรมของอินเดียเข้ามามีบทบาทแล้ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงสมัยราชวงศ์ปัลลวะของประเทศอินเดีย ด้วยเหตุนี้รูปแบบอักษรอินเดียสมัยราชวงศ์ปัลลวะจึงได้แพร่หลายทั่วไปในกลุ่มประเทศต่าง ๆตลอดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบอักษรชนิดนี้ได้นามตามชื่อของราชวงศ์ผู้ครอบครองอาณาจักรว่า "รูปอักษรปัลลวะ"
จารึกรุ่นแรกในประเทศไทย เป็นจารึกที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบอักษรมาจากประเทศอินเดียสมัยราชวงศ์ปัลลวะเช่นเดียวกัน ได้พบจารึกอักษรปัลลวะบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ มีหลักธรรมในศาสนาทั้งพระพุทธศาสนาและลัทธิศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น ในพื้นที่ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้ในประเทศใกล้เคียง ได้แก่ ประเทศพม่า กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น ก็ได้พบเห็นอักษรชนิดนี้ด้วย ย่อมแสดงว่าในดินแดนทั้ง๔ ประเทศ คือ ไทย พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย มีหลักฐานเกี่ยวกับรูปแบบอักษรปัลลวะอยู่ร่วมกันเหมือนกัน และถ้านำความสัมพันธ์ทางด้านภูมิศาสตร์ หรือภูมิสถานในสมัยโบราณเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย อาจจะทำให้ได้หลักฐานอันน่าสนใจศึกษาเพิ่มขึ้น
ศิลาจารึกเก่าที่สุดพบในประเทศไทย เท่าที่มีหลักฐานทางศักราชปรากฏอยู่ด้วยคือ "จารึกเขาน้อย" พบที่เขาน้อยอำเภออรัญประเทศจังหวัดปราจีนบุรี สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช๑๑๘๐ ศิลาจารึกชิ้นนี้เป็นหลักฐานเอกสารโบราณที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมทางด้านการใช้รูปอักษรที่ปรากฏบนผืนแผ่นดินไทยครั้งแรก และเป็นยุคเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ของไทยด้วยนับว่าเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องตรงกันกับหลักฐานทางด้านศิลปกรรมในประเทศไทย ซึ่งร่วมสมัยกับพุทธศิลปะสมัยทวารวดี ศิลปกรรมสมัยแรกของประเทศไทย
กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ในประเทศไทยมีพบอยู่ทั่วไป ในบริเวณภาคใต้พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และพังงา ในบริเวณภาคกลางพบที่ลุ่มแม่น้ำกลอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี และเพชรบูรณ์ ในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ที่จังหวัดปราจีนบุรี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี
ในสมัยโบราณบริเวณอันเป็นที่ตั้งประเทศไทยปัจจุบัน เป็นดินแดนที่มีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ จารึกที่คนพื้นเมืองทำขึ้นในสมัยหลังต่อมาจึงเป็นจารึกที่ใช้รูปอักษรอันเปลี่ยนแปลงมาจากรูปอักษรปัลลวะซึ่งนำมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรมอญโบราณและอักษรขอมโบราณ
กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรมอญโบราณ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบหลักฐานการใช้อักษรมอญโบราณ ภาษามอญโบราณ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน คือดินแดนที่เป็นอาณาจักรหริภุญชัย ในเขตจังหวัดลำพูนปัจจุบันโดยได้สืบทอดอารยธรรมกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙อารยธรรมมอญโบราณที่หริภุญชัยก็สิ้นสุดลงกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรหริภุญชัยมีพระนามว่า พระยายีบา ได้เสียเมืองหริภุญชัยแก่พระยามังราย ในปีพุทธศักราช ๑๘๓๙ ตรงกับรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย
หลักฐานการใช้จารึกภาษามอญนั้นจำกัดบริเวณอยู่เฉพาะตัว ไม่อาจวิเคราะห์ได้ว่ากลุ่มชนซึ่งใช้ภาษามอญในอาณาจักรหริภุญชัย จะเป็นกลุ่มชนที่สืบต่อการใช้ภาษามอญมาจากกลุ่มชนทางแถบภาคกลางของประเทศไทยด้วยหรือไม่ เพราะยังไม่เคยพบจารึกบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน
กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรขอมโบราณ พบอยู่ในบริเวณภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ แต่ยังไม่พบจารึกอักษรขอมโบราณในแถบภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดตากขึ้นไป ทั้งนี้อาจเป็นได้ว่า กระแสอิทธิพลวัฒนธรรมแบบขอมโบราณนี้ไม่แพร่หลายขึ้นไปสู่ภาคเหนือของประเทศไทย หลักฐานทำนองนี้รวมไปถึงโบราณสถานที่เรียกกันว่า ปราสาทหิน ปราสาทอิฐ และปรางค์แบบกัมพูชา หรือลพบุรี ที่มีอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ แต่ไม่เคยปรากฏอยู่ทางภาคเหนือ
จารึกที่ใช้อักษรขอมในสมัยต่อจากจารึกที่ใช้อักษรขอมโบราณ คือ จารึกที่ใช้อักษรขอมที่มีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ โดยเฉพาะจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา จะบอกให้ทราบว่า ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ได้ขยายอาณาเขตของอาณาจักรออกไปกว้างขวางมาก ส่วนหนึ่งของอาณาจักรได้เข้ามาอยู่ในบริเวณที่เป็นประ-เทศไทยปัจจุบัน กล่าวคือ ตลอดภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือถึงจังหวัดสุโขทัย ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคกลางที่จังหวัดกาญจนบุรี และเพชรบุรี กลุ่มเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรกัมพูชาในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ ได้รับอารยธรรมของกัมพูชาทั้งทางด้านศิลปกรรม รูปแบบอักษรและภาษาไว้ทั้งหมด ปรากฏหลักฐานแพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวดังนี้ ทางด้านศิลปกรรมได้แก่ วัดศรีสวาย จังหวัดสุโขทัย พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี และปราสาทเมืองสิงห์จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
เป็นจารึกที่ใช้รูปอักษรซึ่งมีกำเนิดขึ้นในอาณาจักรสุโขทัยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และมีใช้ต่อมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหงจังหวัดสุโขทัย จารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูนและจารึกวัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น